เจาะลึกรูปแบบธุรกิจญี่ปุ่น (1) - ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา

ญี่ปุ่นยังคงเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลก แม้ว่าปัจจุบันบทบาทของจีนและเกาหลีจะเริ่มมีมากขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและนานาชาติ แต่ธุรกิจของญี่ปุ่นก็ยังคงมีเสน่ห์น่าเรียนรู้อยู่เสมอ บทความนี้จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจของญี่ปุ่นที่น่าสนใจทั้งหมด 4 ธุรกิจคือ ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา, ธุรกิจกีฬา, ธุรกิจ Trading, และธุรกิจ SMEs แบบญี่ปุ่น


ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาของญี่ปุ่น


ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจัดเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลในแต่ละปี เฉลี่ยปีละประมาณ 300,000-400,000 ล้านเยนต่อปี และอาชีพติวเตอร์หรืออาชีพอาจารย์ในโรงเรียนกวดวิชาก็จัดว่าเป็นวิชาชีพที่รายได้ค่อนข่างดีคือมีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 3.5-4 ล้านเยนต่อปี คิดเป็นเงินไทยคือประมาณ 100,000 บาทไทยต่อเดือน

japanese-business-cram-school-01

โรงเรียนกวดวิชาของญี่ปุ่นมีหลากหลายประเภทมาก มีทั้งโรงเรียนเตรียมสอบเข้ามัธยมหรือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า โยะบิโค (予備校) โรงเรียนติวทักษะเฉพาะบางอย่างเช่น โรงเรียนสอนใช้ลูกคิด, โรงเรียนภาษาอังกฤษ, โรงเรียนสอนเขียนพู่กัน, โรงเรียนคณิตคิดเร็ว ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่สอนแต่เรื่องวิชาการเป็นหลักคล้ายกับโรงเรียนกวดวิชาของไทยด้วยที่เรียกว่า กะคุชูจุกุ (学習塾) แต่โรงเรียนกวดวิชาทุกรูปแบบในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันนิยมเรียกรวม ๆ หมดทุกประเภทว่า จุกุ (塾) ซึ่งมีความหมายรวมการศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติทุกรูปแบบ


แต่เดิมคำว่า จุกุ หมายถึงห้องเล็ก ๆ บริเวณซ้ายและขวาของประตูใหญ่ในบ้านญี่ปุ่นโบราณของผู้มีอันจะกิน เนื่องจากเจ้าบ้านมักเป็นชนชั้นสูงที่มีการศึกษา จึงนิยมใช้บริเวณที่เรียกว่า จุกุ ในการสอนอ่านเขียนให้กับลูกหลานของตัวเอง หรือสอนให้กับคนรับใช้ในบ้าน ทำให้คำว่า จุกุ เกิดเป็นความหมายใหม่ว่า “สถานที่สำหรับการเรียนรู้” นั่นเอง แต่ในปัจจุบันเวลาคนญี่ปุ่นพูดถึง จุกุ ส่วนใหญ่มักจะหมายถึง กะคุชูจุกุ หรือหมายถึง โยะบิโค ก็ได้ คือโรงเรียนนอกระบบที่ทำหน้าที่เหมือนโรงเรียนกวดวิชาของไทยไม่ว่าจะติววิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ หรือติวเพื่อสอบเข้า


สาเหตุที่ จุกุ เป็นธุรกิจทำเงินที่ดีมากของญี่ปุ่น เนื่องจาก 2 สาเหตุคือ โครงสร้างสังคมของญี่ปุ่นเอง และ แนวคิดการทำธุรกิจกวดวิชาที่เป็นระบบมาก เริ่มจากสาเหตุแรก ตามที่เคยแจกแจงในคอลัมน์ “ การรับสมัครงานแบบญี่ปุ่น ” ว่ากิจกรรมการสมัครงาน (就職活動- ชูโชะคุ-คัตสึโด) ของญี่ปุ่นนั้นกินเวลานานปีครึ่งถึงสองปีเป็นอย่างน้อย และบริษัทส่วนใหญ่ก็ยังคงมีแนวโน้มจะจ้างงานตลอดชีพ (終身雇用 - ชูชินโคะโย)” บริษัทที่มั่นคงและมีชื่อเสียงมักมีการกำหนดโควต้าการจ้างงานไว้ โดยให้โควต้าแบ่งเป็นมหาวิทยาลัย เช่น ปีนี้มีโควต้าจ้างพนักงานที่จบจากมหาวิทยาลัย A ทั้งหมด 50 คน นักศึกษาในมหาวิทยาลัย A ก็จะมีคู่แข่งเฉพาะเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน 50 คนเท่านั้น ไม่ต้องไปแข่งกับคนจากมหาวิทยาลัยอื่น ดังนั้นผู้ปกครองที่ต้องการจะปูพื้นฐานอนาคตของบุตรหลานให้มั่นคง ก็จะนิยมเตรียมตัวเรื่องกวดวิชาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม เพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพราะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมักจะได้รับโควต้าจากบริษัทที่มีชื่อเสียง (ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงอาจไม่ได้รับโควต้าเลย ทำให้เด็กที่จบจากบางมหาวิทยาลัยไม่สามารถสมัครเข้าทำงานในบริษัทที่ตัวเองต้องการได้เลยไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะมีความสามารถเพียงใด) เป็นการรับประกันว่าบุตรหลานมีอนาคตมั่นคงในบริษัทที่ดีไปตลอดชีวิต

อีกสาเหตุคือการสร้างโมเดลธุรกิจกวดวิชาได้สำเร็จของกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาในญี่ปุ่นเอง โดยยึดเอากลุ่มผู้ปกครองเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน โรงเรียนกวดวิชามีพันธกิจคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้บุตรหลานระดับประถมหรือมัธยมของผู้ปกครองกลุ่มนี้มีผลการเรียนแต่ละวิชาที่น่าพอใจ และมีการสร้างความแตกต่างให้ตัวเองอย่างชัดเจนว่าโรงเรียนในระบบนั้นมีไว้เพื่อบ่มเพาะประชากรของประเทศ จึงต้องสอนสิ่งต่าง ๆ ในภาพรวม แต่โรงเรียนกวดวิชามีไว้เพื่อ “เพิ่มคะแนนสอบ” และกฎหมายญี่ปุ่นก็ยังเอื้อต่อระบบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาด้วยคือ โรงเรียนกวดวิชาในญี่ปุ่นจะไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเหมือนประเทศไทย แต่จะสังกัดกับกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า, และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมองว่าธุรกิจกวดวิชานั้นเป็นอาชีพบริการรูปแบบหนึ่ง ทำให้ระบบโรงเรียนกวดวิชาของญี่ปุ่นมีความคล่องตัวทางธุรกิจสูงมากเนื่องจากไม่ได้มีกฎของกระทรวงศึกษาธิการบังคับมากเท่าโรงเรียนในระบบ


อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาประชากรลดลงของญี่ปุ่นมาหลายสิบปี ทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเริ่มได้รับผลกระทบ จึงมีความพยายามในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ของโรงเรียนกวดวิชาในญี่ปุ่น เช่น การสร้างหลักสูตร Focus Group ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องน้อยลงมากแต่เก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้น, การเพิ่มหลักสูตรแบบออนไลน์ (คล้ายของประเทศไทย), การขายเฟรนไชส์ของโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียง, และสุดท้ายที่เริ่มเห็นในประเทศไทยได้บ้างแต่ยังไม่แพร่หลายเหมือนที่ญี่ปุ่นคือ การซื้อขายและควบรวมกิจการ (M&A) โรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากการ M&A จะทำให้ได้ฐานลูกค้าเดิมและได้ resources ต่าง ๆ ของโรงเรียนที่เราไปถือครอง ทำให้สร้างรากฐานธุรกิจกวดวิชาให้มั่นคงขึ้นได้

กลุ่มโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Toshin High School (東進ハイスクール), Kawai-Juku (河合塾), Sundai Preparatory School (駿台予備学校), หรือ Waseda Academy (早稲田アカデミー) เป็นต้น ที่ดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของโรงเรียนในระบบตามปกติอีกด้วย


อ้างอิง
https://resemom.jp/article/2015/09/03/26698.html
https://careergarden.jp/jyukukoushi/salary-28/


เรื่องโดย : ดร. วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรระหว่างประเทศ อาจารย์และวิทยากรหลายสถาบัน

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง