ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เจาะลึกรูปแบบธุรกิจญี่ปุ่น (3) – ธุรกิจ Trading
ญี่ปุ่นยังคงเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก แม้ว่าปัจจุบันบทบาทของจีนและเกาหลีจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับนานาชาติ แต่ธุรกิจของญี่ปุ่นก็ยังคงมีเสน่ห์น่าเรียนรู้อยู่เสมอ บทความนี้จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจของญี่ปุ่นที่น่าสนใจทั้งหมด 4 ธุรกิจคือ ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา, ธุรกิจกีฬา, ธุรกิจ Trading, และธุรกิจ SMEs แบบญี่ปุ่น
ธุรกิจ Trading ของญี่ปุ่น
ธุรกิจ Trading เรียกอีกอย่างในภาษาไทยคือ ธุรกิจซื้อมา-ขายไป นั่นเอง ข้อดีของธุรกิจประเภทนี้คือเจ้าของธุรกิจเองไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงงาน, ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการผลิตสินค้านั้น ๆ ก็ได้ เพราะดำเนินธุรกิจโดยการซื้อสินค้ามาขายต่อให้แพงขึ้นเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างตรงนั้นนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก เราสามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศตัวเองได้สะดวกขึ้นมากโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปประเทศนั้น ๆ ก็ได้ ธุรกิจซื้อมาขายไปจึงมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง
ในญี่ปุ่นมีธุรกิจ Trading กลุ่มหนึ่งที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า
โซโก โชชะ (総合商社)
ที่เขียนภาษาอังกฤษว่า
Sogo Shosha
ตรงตัว หมายถึงกลุ่มธุรกิจ Trading ขนาดมหึมาที่ทำธุรกิจครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ในภาษาญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า Sogo Shosha นี้ทำธุรกิจ “ตั้งแต่ราเม็ง ยันจรวดมิสไซล์” (ラーメンからミサイルまで)” บางคนก็ว่า “ตั้งแต่ราเม็ง ยันเครื่องบิน (ラーメンから航空機まで)” คล้ายกับที่คนไทยพูดว่า “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” อยู่พอตัว
Sogo Shosha เหล่านี้จัดเป็นฟันเฟืองสำคัญมากของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากหลังปฏิรูปเมจิ (ค. ศ. 1868) ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตกอย่างมาก จนกระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือก่อน ค. ศ. 1945) และกลางศตวรรษที่ 19 (ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นไป) ญี่ปุ่นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องการวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อใช้พัฒนาอุตสาหกรรม
แต่ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นมี 2 ประการคือ สภาพภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นเองที่มีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่หลายพันเกาะ (บางสำนักบอกว่า 3,900 เกาะ บางสำนักก็ว่า 6,800 เกาะ ขึ้นอยู่กับคำนิยามคำว่า “เกาะ” ของแต่ละสำนัก) แยกตัวออกมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ จึงมีการคมนาคมลำบาก และมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดกว่าประเทศที่ติดกับแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งจิตวิทยาของชาวญี่ปุ่นยังค่อนข้างไม่เปิดรับต่างชาติ ทำให้มีข้อจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรมที่จะไปติดต่อซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศตัวเอง จึงเป็นโอกาสดีให้นักธุรกิจหลายกลุ่มก่อตั้งธุรกิจ Trading ขึ้นมา และพัฒนาเป็น Sogo Shosha ที่ขายทุกอย่างครอบจักรวาล เช่น แร่ธาตุ, วัสดุก่อสร้าง, วัตถุดิบของอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ
Sogo Shosha เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สามารถนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมหาศาลได้ในแต่ละครั้ง ทำให้ลดต้นทุนต่อหน่วยให้ถูกลงได้ และมีอำนาจต่อรองสูงมากในแต่ละเรื่องกับนักธุรกิจต่างประเทศ โดย Sogo Shosha ของญี่ปุ่นมีฟังก์ชั่นหลักแบ่งเป็น 3 สาย คือ กระจายสินค้า (流通), ดูแลการเงิน (金融), และจัดการข้อมูล (情報) ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมี Sogo Shosha ใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นอยู่ทั้งหมด 7 แห่งคือ Mitsubishi Corporation, ITOCHU Corporation, Sumitomo Corporation, MITSUI & Co., Marubeni Corporation, Toyota Tsusho Corporation, Sojitz Corporation
ในอีกด้าน นอกจากTrading ขนาดมหึมาที่ทำธุรกิจครอบจักรวาลอย่าง Sogo Shosha แล้ว ญี่ปุ่นยังมี Trading อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำตรงข้ามกันคือ เป็น Trading เฉพาะวงการ เรียกว่า Senmon Shosha (専門商社) ที่จะทำ Trading เฉพาะสินค้าแค่บางกลุ่มที่บริษัทของตัวเองถนัดหรือมีสัมพันธภาพและมีความรู้ในบริบทของคนเฉพาะวงการนั้น
ธุรกิจ Trading ในญี่ปุ่นทั้ง Sogo Shosha และ Senmon Shosha มีความรู้ความสามารถที่พัฒนามาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน สามารถบริหารจุดเหลื่อมล้ำระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาด คอยช่วยเชื่อมดีลต่าง ๆ ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค คอยจัดการ Network ด้านธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำให้ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดมากในญี่ปุ่น ให้เป็นวัตถุดิบของสินค้าต่าง ๆ ได้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงที่สุดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง อย่างเช่นสภาพ Covid ในปัจจุบัน เป็นต้น กลุ่มธุรกิจ Trading ของญี่ปุ่นจะเป็นคนกลุ่มเดียวที่คุ้นชินกับความผันผวนมากกว่านักธุรกิจกลุ่มอื่น ทำให้วิเคราะห์และทำนายทิศทางต่าง ๆ ได้อย่างเยือกเย็นกว่า และหาช่องทางทำกำไรได้อีกจากความผันผวนนั้
ธุรกิจ Sogo Shosha ของญี่ปุ่นยิ่งมีความน่าจับตามองเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อ Warren Buffett นักลงทุนชื่อดังระดับโลก ตัดสินใจลงทุนในกลุ่ม Sogo Shosha ของญี่ปุ่นทั้งหมดถึง 7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สภาพธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 และยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจ Trading โดยเฉพาะธุรกิจของกลุ่ม Sogo Shosha ผงาดขึ้นมาในระดับโลกกว่าที่เคยเป็นก็ได้
เรื่องโดย :
ดร. วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรระหว่างประเทศ อาจารย์และวิทยากรหลายสถาบัน