ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การทำงานเป็นทีมแบบญี่ปุ่น
แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นจะเป็นผู้แพ้สงคราม แต่ก็สามารถฟื้นฟูประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประเทศเขาสามารถพลิกฟื้นจากการเป็นประเทศยากจนในฐานะผู้แพ้สงคราม กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก คำตอบก็คือ “ทรัพยากรมนุษย์” คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าประชากรโดยเฉลี่ยทำงานหนัก ขยันขันแข็ง ร่วมงานกันเป็นทีมได้ดี ดังนั้น เราจะมาเจาะลึกแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบญี่ปุ่นที่ทำให้ทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักการสำคัญ 5 อย่าง ได้แก่ การปลูกฝังการทำงานเป็นทีม ระบบสมัครงานแบบญีปุ่น ทฤษฎี X,Y,Z ในการบริหารพนักงาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และแนวทางจัดการแบบ Japanese Management
การปลูกฝังการทำงานเป็นทีม
ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องทำงานเป็นทีมได้ดีมาก ในขณะที่พอทำงานคนเดียวจะไม่เด่นอะไรมากนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ก่อนอื่นขออ้างอิงมุมมองของชาวตะวันตก โดยใช้แนวคิดของ Geert Hofstede นักวิชาการด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ที่จัดว่าเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในโลกธุรกิจพอสมควร Hofstede ได้ศึกษามิติทางวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่ามิติทางวัฒนธรรมนั้นสามารถอธิบายได้ 6 มิติ คือ มิติที่เน้นการใช้อำนาจ มิติที่เน้นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอน มิติที่เน้นปัจเจกบุคคล มิติที่เน้นความสำคัญของเพศชายและเน้นความก้าวร้าวรวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง มิติที่เน้นสัมพันธภาพระยะยาว และมิติที่เน้นความผ่อนคลายกล้าแสดงออก
ในการวิเคราะห์จากพื้นฐานแนวคิดของ Hofstede นั้น ญี่ปุ่นมีจุดเด่น 3 ใน 6 มิติที่ทำให้ทำงานเป็นทีมได้ดี คือ ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะไม่เน้นปัจเจกบุคคลเพราะชอบเน้นความเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า เน้นสัมพันธภาพระยะยาวระหว่างกันและกันไปตลอดชีวิต และไม่ค่อยกล้าแสดงออกเพราะมีความผูกมัดบางอย่างทำให้ไม่กล้าแสดงความรู้สึกออกมา
ทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นนั้นตั้งอยู่บนแนว Ring of Fire ทำให้มีแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอยู่เป็นประจำมาตั้งแต่โบราณ อีกทั้งพื้นที่ราบมีน้อยเพราะเป็นภูเขาเสียเกินครึ่ง และยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมาย การที่มีภูมิศาสตร์อันโหดร้ายมาแต่โบราณ และมีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ทำให้เกิดวัฒนธรรมการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นกันไปตลอดชีวิตเพื่อให้ใช้ชีวิตรอดในภาวะอันโหดร้ายได้ การหล่อหลอมให้รวมกลุ่มเพื่อความอยู่รอดนี้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายพันปีจนกลายเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นในปัจจุบันที่เน้นกลุ่มอยู่เหนือปัจเจกบุคคล หลายครั้งยอมสละความเป็นตัวตนของตัวเองเพื่อให้กลุ่มอยู่รอด และสมาชิกในกลุ่มมีแนวโน้มจะต้องพึ่งพากันและกันไปเป็นระยะเวลายาวนาน ในบางหมู่บ้านของญี่ปุ่นก็ยังมีตำนานของ “การพาคนแก่ไปทิ้ง” เพื่อประหยัดอาหารให้คนในหมู่บ้านมีกินเพียงพอโดยการเอาคนแก่ที่ใช้แรงงานไม่ได้แล้วไปทิ้งให้แร้งกาจิกทึ้งจนตาย เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องของการสละความเป็นปัจเจกเพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอดโดยแท้
ภาษาญี่ปุ่นเองก็จะแบ่งวิธีคิดว่าเป็น Uchi (คนใน) และ Soto (คนนอก) อย่างชัดเจน แบ่งวิธีแสดงออกไว้เป็นหลักปฏิบัติในการใช้ภาษา เวลาแนะนำตัวก็จะต้องกล่าวถึง “สังกัด” ของตัวเองก่อนที่จะแนะนำชื่อตัวเอง เพราะสังกัดคือสิ่งสำคัญของมนุษย์ สังกัดเป็นตัวชี้วัดคุณค่าของคนในสังคม มีความสำคัญกว่าความเป็นปัจเจกเสียอีก สถาบันครอบครัวของญี่ปุ่นเองก็จะหล่อหลอมให้คิดถึง “สาธารณะ” ไว้ก่อน ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งสถาบันการศึกษาก็ให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่กันเป็นเวรทำความสะอาดตั้งแต่ระถับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ นักเรียนชาวญี่ปุ่นทุกคนก็ควรมีชมรมที่ตัวเองสังกัดเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่าในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม ทั้งในโรงเรียนและในระดับมหาวิทยาลัย คนญี่ปุ่นส่วนมากก็พยายามหาสังกัดอยู่ เพื่อให้ตัวเอง “มีที่อยู่” แม้แต่สื่อญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับการมีสังกัด อย่างภาพยนตร์ประเภทขบวนการห้าสี หรือ การ์ตูนญี่ปุ่น ก็จะเน้นเรื่องสังกัด เรื่องความสามัคคีของกลุ่ม หรือเรื่องการทำงานเป็นทีม อยู่เป็นส่วนใหญ่
อิทธิพลสำคัญที่สุดอีกด้านคือวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นในระบบบริษัท ที่ได้ตอกย้ำความเชื่อเรื่องกลุ่มสำคัญกว่าปัจเจก ซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมของซามูไรยุคโบราณ ที่เรียกว่า “ลัทธิบูชิโด”
“ลัทธิบูชิโด” เชื่อว่ามนุษย์ควรมีเจ้านายหรือสังกัดเพียงสังกัดเดียวตลอดชีวิต ผู้เป็นซามูไรที่เป็นบ่าวจะต้องยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อเจ้านาย จะต้องยอมเสียสละความเป็นตัวตนของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลทั้งหมดเพื่อเจ้านาย หากเจ้านายตายแล้ว ซามูไรควรจะคว้านท้องฆ่าตัวตายตามนาย จะถือว่ามีเกียรติสูงสุดในฐานะซามูไรและในฐานะมนุษย์ ดีกว่าจะยอมเสื่อมเสียเกียรติโดยการเปลี่ยนไปรับใช้เจ้านายคนอื่น
พอหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ญี่ปุ่นหันมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ลัทธิบูชิโดไม่ได้หายไปไหน แต่แปลงร่างไปเป็นลัทธิบูชาองค์กรตัวเองแทน โดยระบบบริษัทญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการจ้างงานตลอดชีพ คือพนักงานทำงานที่บริษัทเดิมตลอดชีวิต ถ้าจะมีการย้ายบริษัทก็จะย้ายในกลุ่มบริษัทในเครือเท่านั้น ไม่มีการย้ายไปบริษัทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง พนักงานมั่นใจว่าบริษัทจะดูแลตัวเองและครอบครัวตลอดไป บริษัทก็มั่นใจว่าพนักงานจะทำงานด้วยความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดเช่นกัน นี่คือความเชื่อที่หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมีสายใยบางอย่างที่ทำให้ทำงานเป็นทีมได้ดี พนักงานเปรียบเสมือนซามูไรที่จะต้องรับใช้องค์กรซึ่งเป็นเจ้านาย และจะต้องรับใช้ไปตลอดชีวิต ในขณะเดียวกัน องค์กรในฐานะที่เป็นเจ้านายก็จะต้องดูแลพนักงานและครอบครัวเป็นอย่างดี สังเกตจากชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานเมืองไทย จะได้รับเงินเดือนเพิ่ม และได้สวัสดิการ รวมทั้งได้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรและภรรยาด้วย เป็นค่านิยมที่ทุ่มเทเพื่อกันและกันระหว่างพนักงานและบริษัทอย่างแท้จริง
สิ่งที่เน้นกลุ่มอีกเรื่องที่เห็นได้ชัดในระบบองค์กรญี่ปุ่นคือ การแลกนามบัตร ชาวญี่ปุ่นจะแลกนามบัตรก่อนสิ่งอื่นใดเมื่อแรกพบกันเพื่อพิจารณา “สถานภาพทางสังคม” ของอีกฝ่ายให้รู้ว่าอยู่ในระดับใดของบริษัท และควรใช้ภาษาและปฏิบัติตัวเช่นไรจึงจะเหมาะสม ชาวญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับพิธีแลกนามบัตร, ตัวนามบัตรเอง, และกระเป๋าใส่นามบัตร ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เหนือสิ่งอื่นใด หากมีการใช้ภาษาหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการแลกนามบัตรกันครั้งแรก จะเป็นความประทับใจด้านลบที่เป็นตราบาปไปอีกนาน
เราได้รู้ถึงแนวคิดการปลูกฝังการทำงานเป็นทีมของญี่ปุ่น ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งปัจจุบันกันแล้ว ในบทความหน้าจะไปพูดถึงเรื่องระบบการสมัครแบบญี่ปุ่นกัน
บทความโดย : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ อาจารย์สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ล่าม และวิทยากรหลายสถาบัน