เป็นพ่อแม่รุ่นใหม่ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไหนให้ทัน Gen Alpha

เด็กประถมหรือน้องๆ ระดับอนุบาล ที่เรียกว่า เจเนอเรชั่น อัลฟ่า (Generation Alpha) อาจทำให้คนในวัยสูงกว่ามองอย่างกังวล ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่ถูกขยายขึ้นด้วยเทคโนโลยี หากกล่าวว่า เจนเนอเรชั่น Z นั้นคุ้นเคยกับนวัตกรรมก้าวหน้าแล้ว แต่สำหรับเจน อัลฟ่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นยิ่งกว่าเพื่อนสนิทคอยไขคำตอบทุกอย่าง มาดูกันว่าเพราะอะไรผู้ใหญ่จึงไม่ควรมองข้าม และควรเรียนรู้ระบบวิธีคิดของพวกเขา

1. เรียนรู้และเข้าใจ Gen Alpha


เจน อัลฟ่า ในปัจจุบันคือเด็กที่อายุไม่เกิน 10 ขวบ (เกิดปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป) เป็นรุ่นลูกของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมจับจ่ายเงินเพื่อหาความสุข แต่สำหรับ เจน อัลฟ่า นั้นเติบโตในโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ คล่องแคล่วต่อการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ชีวิตไม่ขาดสมาร์ทโฟน และพร้อมแสดงออกตัวตนในโลกออนไลน์ เป็นกระแสวัฒนธรรมแบบเดียวกันทั่วโลก คนวัยนี้จึงมีแนวโน้มชอบความท้าทาย การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รักอิสระ จนอาจขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริง


2. ลองใช้ทุกแพลตฟอร์ม แต่อย่าคาดหวังการเชื่อมต่อกับคุณ


พ่อแม่ต้องศึกษาและกระโจนสู่โลกออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มที่ เจน อัลฟ่าใช้ เพื่อช่วยคัดกรองและเอาไว้คุยแลกเปลี่ยนกับลูก ในช่วงแรก อย่าเพิ่งคาดหวังให้เขารับเราเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ เพราะนั่นคือพื้นที่ส่วนตัว หากเรายิ่งพยายามต่อให้ติด เขาจะยิ่งปิดกั้น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือการเฝ้าดูให้เห็นความเคลื่อนไหวในโลกใบนั้น และสื่อสารแลกเปลี่ยนตรงกับเขาในโลกจริงมากกว่า

social-media-gen-alpha-01

3. สร้างเกราะป้องกันแห่งความเชื่อใจ


ในโลกดิจิทัล ไม่มีใครปิดกั้นเรื่องราวที่ดีหรือไม่เหมาะสมได้ทั้งหมด การตกลงกติกาการใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลาก็อาจทำได้เพียงช่วงอายุหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ การสร้างเกราะทางความคิด สอนล่วงหน้าให้เรียนรู้วิธีคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่กำลังดูหรือทำอยู่ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร พร้อมสร้างความเคยชินวงสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างครอบครัวเป็นประจำ เพื่อเปิดช่องให้เด็กวัยนี้ได้นำความสงสัยมาเปิดอกซักถามได้


4. โตกันคนละเวลา ต้องวางใจในสิ่งที่เขาเลือก


รักอิสระ เรียนรู้เร็ว และชอบความท้าทายเพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นที่พึ่งพาได้จริง ทำให้คนรุ่นนี้ไม่กลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และพร้อมกระโดดไปทำสิ่งที่ชอบมากกว่า อาจขัดกับคนยุคก่อนหน้าที่ยึดความมั่นคง เพื่อลดช่องว่างตรงนี้ หลักสำคัญคือต้องวางใจให้เขาเลือกเส้นทางความชอบเอง


5.  กระตุ้นและสนับสนุนการเข้าสังคม


รักความเป็นปัจเจกบุคคล เลือกทำสิ่งที่เชี่ยวชาญเพื่อก้าวกระโดดที่รวดเร็ว อาจทำให้คนวัยนี้ชอบการเป็นศิลปินเดี่ยว แต่อาจขาดทักษะการปฎิสัมพันธ์กับผู้คน ชอบการพูดตรงๆ ซึ่งอาจทำให้มีภาพไร้ความเกรงใจหรือผิดกาลเทศะ ดังนั้น พ่อแม่ควรปูพื้นฐานทักษะการเข้าสังคม รู้จักการเห็นอกเห็นใจ และพาไปเปิดโลกกว้างที่ไม่จมจ่อมหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป

6 .แยกโลกความเป็นจริงกับโลกออนไลน์ให้ออก


โลกดิจิทัลเสพมากก็อาจถลำลึกจนถอนตัวลำบาก พ่อแม่ต้องหมั่นดึงให้เขาออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และทำให้เห็นว่าชีวิตนี้คนเราต้องการอะไร เมื่อขาดสิ่งนั้น ควรแก้ไขอย่างไร เพื่อให้รู้จักคิดและแก้ไขปัญหาหลายมิติที่ทับซ้อน โดยพ่อแม่เองควรใช้โลกออนไลน์ประสานกับโลกแห่งความเป็นจริงให้เป็นประโยชน์ ชี้ทาง และเปรียบเทียบให้ลูกเห็นว่าทั้งสองด้านนี้มันมีจุดต่าง จุดเชื่อมต่อ จุดด้อย และจุดแข็งอย่างไร


ที่มา

https://th.hrnote.asia/tips/190805-generation-alpha
https://www.marketingoops.com/reports/gen-alpha-s26
https://thepotential.org/knowledge/gen-alpha-info
https://web.tcdc.or.th/media/publication_lang_file/208/TREND_2020_17-09-2019-single-page.pdf?fbclid=IwAR0Lj-4IfyxsZuW__ph1_OY7Bjql-Kjcw06X7EPFMLu96u2H-h-2gfCRfTo
https://www.istrong.co/single-post/alpha-generation