เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิต

ในปัจจุบันหลายองค์กรได้หันมาให้ความสนใจกับการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่นอกจากจะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันด้วย โดย คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่ของประเทศ ได้มองเห็นความสำคัญในข้อนี้ และได้ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิตขององค์กรผ่านหลักสูตร SCB DEPA : Digital Smart Manufacturing (DSM)  เพื่อ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตสู่ความยั่งยืน ESG ด้วย IoT ดังนี้

สถานการณ์โลกและประเทศไทย


ในปี 2015 197 ประเทศจากทั่วโลกได้ร่วมลงนามในการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส เพื่อร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 โดยคาดหวังว่าจะสามารถควบคุมอุณหภูมิให้สูงขึ้นได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 7 ชนิดถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไนตรัสออกไซด์ (N2O), มีเทน (CH4),  กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออไรคาร์บอน (PFCs), กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs), ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)  และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดูดกลับแบ่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้ ภาคพลังงาน 71% ภาคเกษตรกรรม 9% ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการจัดการของเสีย 5% และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งช่วยในการดูดกลับก๊าซได้ประมาณ 91 ล้านตัน


ในวันนี้ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และได้ประกาศจุดยืนในการประชุม COP26 โดยยืนยันลงนามความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ซึ่งก็คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยแบ่งออกเป็น การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) และการซื้อคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังร่วมสนับสนุนนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 นั่นคือ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปล่อยออกและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากัน เพื่อให้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ โดยห้ามใช้วิธีการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

digital-manufacturing-for-sustainability-05

การเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับ SME


วิธีการช่วยลดคาร์บอนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น มีตั้งแต่วิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า ใช้งานง่ายกว่า แต่อาจส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวในการช่วยลดคาร์บอนและทำโครงการ ESG นั้น ยังมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนหลายประเภทยังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ตัวอย่างเช่นการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและทำได้ง่ายกว่า แต่ก็ทำให้เกิดการดูดซับคาร์บอนกลับได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร แต่การใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการลดคาร์บอนและเพิ่มการดูดซับก็ยังคงมีต้นทุนสูงกว่าแบบดั้งเดิม และยังต้องการการวิจัยและพัฒนาขึ้นอีกมาก ดังนั้นในช่วง 10 ข้างหน้านี้ การผสมผสานระหว่างวิธีการดั้งเดิมทางการเกษตรและการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน


ปัญหาในการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย


ตัวอย่างนโยบายที่ออกมาเพื่อตอบสนองนโยบาย Net Zero Emmission ในปี 2065 ได้แก่ การใช้ รถยนต์แบบ ZEV 100% ภายในปี 2035, การตั้งเป้าปลูกป่า 178 ล้านไร่ ในปี 2037  เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 120 ล้านตัน แต่ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ และในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมราว 120-130 ล้านไร่ ทำให้เป้าหมายยากแก่การบรรลุ, การตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2050 และการตั้งเป้าว่าประเทศจะมีเทคโนโลยีเพื่อการกักเก็บก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2065 จะเห็นได้ว่านโยบายต่าง ๆ ที่ออกมานั้น บางนโยบายยากแก่การปฏิบัติให้สำเร็จ และนโยบายส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีคณะทำงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน อีกทั้งหลายนโยบายยังต้องการการแก้ไขกฎหมายลูกจากหลายหน่วยงานเพื่อให้บรรลุหนึ่งเป้าหมายได้อีกด้วย  ซึ่งการแก้ไข้กฎหมายต่าง ๆ นั้นมักใช้เวลานาน

หลักการ Bio-Circular & Green Economy (BCG) และสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG)


· Environmental  Social Governance (ESG) แนวคิดนี้ได้รับความนิยมทั่วโลก และช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม การบริหารความสัมพันธ์กับพนักงานไปจนถึงลูกค้าและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรอย่างเป็นธรรม


สำหรับการทำ ESG ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่สร้างมาตรฐานและเกณฑ์การให้คะแนนหลายหน่วยงาน หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก คือ Dow Jones Sustainability Indexes ซึ่งทำหน้าที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรในมิติของสิ่งแวดล้อมสังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG นั่นเอง


· Bio-Circular & Green Economy (BCG) หรือโมเดลเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก เพื่อให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการมีรายได้สูงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน


1. Bio Economy คือ เศรษฐกิจชีวภาพ ที่นำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ


2. Circular Economy คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการนำวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง


3. Green Economy คือ เศรษฐกิจสีเขียว เป็นการสร้างนวัตกรรมและการจัดสภาพสังคมให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด


สำหรับการทำ BCG ในประเทศไทยนั้น คุณชนาพรรณมองว่า หากเปรียบเทียบกับการทำ ESG ในต่างประเทศแล้ว BCG ยังเป็นส่วนหนึ่งในด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental เท่านั้น

องค์ประกอบหลักและตัวชี้วัดรายงานความยั่งยืนภาคการผลิต


หากเราต้องการเริ่มทำโครงการ ESG ภายในองค์กร สามารถเลือกใช้ 3 แกนหลักนี้ เพื่อเริ่มโครงการ ESG ของบริษัทได้เลย โดยเริ่มต้นจากหัวข้อย่อยใน E, S และ G ที่สนใจเป็นพิเศษ หรือที่บริษัททำอยู่ โดยทั้ง 3 แกนหลัก มีตัวอย่างหัวข้อย่อยดังนี้


- Environmental Pillar : Climate Change, Natural Resources, Pollution & Waste, Environment Opportunity


- Social Pillar
: Human Capital, Product Liability, Stakeholder Opposition, Social Opportunity


- Governance Pillar : Corporate Governance, Corporate Behavior


ในส่วนของ E จะแบ่ง scope เป็น 3 ช่วง คือ


- Scope 1   Direct Emission คือ พลังงานที่ใช้ในโรงงาน


- Scope 2   Indirect Emission คือ พลังงานอื่น ๆ ที่เติมไว้ในโรงงาน ถ้ามี


- Scope 3   Upstream คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Supplier เพื่อผลิตสินค้า, Downstream คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการที่ส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า


การเริ่มทำควรเริ่มจาก scope 1 ที่ใกล้ตัวก่อน แล้วจึงขยายผลไปยัง scope ที่ไกลตัวออกไป หลังจากการกำหนดแผนโครงการแล้ว เราสามารถทยอยเพิ่มหัวข้อย่อย และความเข้มข้นของเป้าหมายเป็นแผนระยะยาวได้ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง E, S และ G มากขึ้นเรื่อย ๆ

การทำ ESG ภายในบริษัทของ SME นั้น ตำแหน่งประธานโครงการมีความสำคัญมากในการส่งเสริมเป้าหมาย ESG ในภาพรวมที่แท้จริง มิเช่นนั้นอาจเป็นเพียงกิจกรรมที่ตอบโจทย์แค่ KPI ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น สำหรับการวางแผนการทำงานควรกำหนดเป็น Action Plan ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ควรมีฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ด้าน E และ G นั้น บริษัทมักคิดว่ายังไม่ได้เริ่มต้นทำ แต่หากสำรวจดี ๆ จะพบว่าบริษัทมักมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทั้งสองด้านนี้บ้างอยู่แล้ว จึงควรนำมาวางแนวทางต่อยอดให้มีความเข้มข้นมากขึ้น


ในวันนี้การทำ ESG เป็นเรื่องที่องค์กรทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และเริ่มทำอย่างจริงจัง สำหรับการทำ ESG ในองค์กรนั้นไม่ว่าอย่างไรเราย่อมต้องถูกผลักดันให้ทำทั้งจากทางตรงและทางอ้อม  เนื่องจากลูกค้า Supplier หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง  ๆ ได้ขอความร่วมมือให้เรามีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น เราควรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มทำจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา : “เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิต” โดยคุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท, หลักสูตร SCB DEPA : Digital Smart Manufacturing (DSM)  เพื่อ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตสู่ความยั่งยืน ESG ด้วย IoT