ESG ทางรอดของธุรกิจ ที่มาพร้อมความท้าทาย

Highlight
  • การทำ ESG สิ่งสำคัญไม่ใช่ Why หรือ What แต่เป็น How และ When ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ซึ่งได้กลับมาที่ธุรกิจ

  • ESG มุ่งเน้นไปที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการหมุนวนไปเรื่อยๆ

  • ESG ถูกนำมาเป็นมาตรฐานและข้อบังคับในหลายประเทศแล้ว การละเลย ESG จะทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในหลายด้าน

  • ผู้นำธุรกิจคือหัวใจขององค์กรที่ควรมีแพสชันในการทำ ESG เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรและตัววัดผลงาน


ESG ไม่ใช่กระแสที่มาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อให้โลกอยู่ได้ ธุรกิจอยู่ได้ ซึ่ง ESG เป็นกรอบการบริหารจัดการที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ Environment การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, Social การจัดการด้านสังคม และ Governance การจัดการด้านธรรมาภิบาล   หลายประเทศเริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน รวมถึงผู้บริโภคก็เริ่มตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ในการเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น ทั้งนี้ ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการบริหาร Global Compact Network Thailand (GCNT) ได้มาช่วยตอบคำถามในประเด็นที่นำ ESG ไปสู่การปฏิบัติจริง ไว้ในโครงการ MissionX - Roadmap to Sustainability วันที่ 15 มิถุนายน 2566

sustainability-trend-2023-01

ทำไม ESG จึงเป็นทางรอดของธุรกิจ?

ทุกวันนี้ โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน จนสามารถรับรู้ได้ทั่วทุกทวีป กระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินธุรกิจเป็นวงกว้าง ดร.ธันยพร ยกตัวอย่าง “ภัยแล้ง” ซึ่งนอกจากจะจับปลาได้น้อยลงแล้ว ยังทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้า หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้น้ำในการหล่อเย็น ต้องหยุดชะงักลงด้วย เมื่อวัตถุดิบในการผลิตขาดแคลน ก็จะนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจตามมา


หลายประเทศในยุโรปได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) เร็วกว่าประเทศไทย 10 - 15 ปี ซึ่งช่องว่างสิบกว่าปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการส่งออก ถูกกีดกันทางการค้า รวมถึงมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากภาษีคาร์บอนอีกด้วย ดังนั้นการทำ ESG จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อความยั่งยืนต่อเนื่องในระยะยาว


เหตุผลที่ธุรกิจต้องทำ ESG

การทำ ESG สิ่งสำคัญไม่ใช่ Why หรือ What แต่เป็น How และ When ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ซึ่งได้กลับมาที่ธุรกิจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัทได้


ดร.ธันยพร ยกตัวอย่างผู้บริโภคในยุโรป เวลาเลือกซื้อสินค้า จะดูไปถึงแหล่งวัตถุดิบ แหล่งผลิต ความน่าเชื่อถือของบริษัท และยินดีจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าและผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่า


ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกก็ใช้ ESG พิจารณาประกอบการลงทุน เพื่อประเมินความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท ดังนั้น ในเรื่องของ When คือ “เริ่มได้เลย” ในสิ่งที่ทำได้ก่อน เช่น การตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพื่อลดปริมาณคาร์บอน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ต้นไม้ถึงจะดูดซับคาร์บอนได้ และต้องระบุเป็นจำนวนต้นที่ปลูก ถึงจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขจริงได้ การจะนำมาใช้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทำ ESG ในปีนี้ แสดงว่าต้องมีการวางแผน และเริ่มปลูกต้นไม้มาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นต้น

การลงทุนที่คำนึงถึง ESG ให้ผลตอบแทนดีแค่ไหน?

ทาง Moore Global สำรวจความเห็นผู้นำธุรกิจ 1,262 แห่ง ในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับ ESG และการดำเนินงานของธุรกิจ พบว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีผลกำไรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9.1% ซึ่งเป็นการทำ ESG แบบครบวงจร ส่วนบริษัทที่เพิกเฉยต่อ ESG มีกำไรเพิ่มขึ้นเพียง 3.7%


ข้อมูลจาก MSCI ก็ชี้ชัดว่า บริษัทที่มีคะแนน MSCI ESG Score สูงทำกำไรได้ดีกว่า และถ้าทำแบบครอบคลุมทั้งเรื่อง E, S และ G ก็จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทที่ทำแค่ด้านใดด้านหนึ่งเช่นกัน


ถ้าไม่ทำ ESG จะเกิดอะไรขึ้น?

ESG ไม่ใช่สิ่งที่เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ถึงขั้นระบุเป็นนโยบาย และข้อบังคับใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งลงลึกไปที่สินค้าแต่ละตัว ไม่ใช่แค่โปรไฟล์บริษัท เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออก ถ้าชิ้นไหนไม่ผ่านเกณฑ์ ECO Friendly ก็จะไม่สามารถขายได้ ทำให้เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ และเสียโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนโดย ดร.ธันยพร ได้ยกตัวอย่างมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากการละเลย ESG ในแต่ละด้าน เช่น

  • Environmental: เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงมหาสมุทรของบริษัทแห่งหนึ่ง ต้องชดใช้ความเสียหาย 6.2 แสนล้านบาท

  • Social: การนำเสนอโฆษณาในมุมมองที่เหยียดสีผิวของบริษัทแฟชั่นแห่งหนึ่ง ทำให้มูลค่าหุ้นบริษัทหายไปถึง 2.9 แสนล้านบาท

  • Governance: บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทำข้อมูลรั่วไหล ถูกโทษปรับ 1.55 แสนล้านบาท, บริษัทสายการบิน  แห่งหนึ่ง ถูกเรียกค่าเสียหาย 6,600 ล้านบาท จากการละเลยมาตรฐานความปลอดภัย จนทำให้เครื่องบินตก และคณะกรรมการบริษัทยังถูกฟ้องในคดีอาญาอีกด้วย

ESG ต่างจาก CSR อย่างไร?

CSR คือ กิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม ที่สะท้อนออกมานอกเหนือจากธุรกิจหลัก ไม่นับรวมการรีไซเคิล การเก็บขยะ แยกขยะ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ


ส่วน ESG คือ สิ่งที่ฝังอยู่ในองค์กร แนวคิด และวิธีดำเนินธุรกิจ รวมถึง Business Model เช่น บริษัทกระเบื้องตราเพชร ลงทุนปรับกระบวนการผลิต โดยนำของเสียที่เป็นฝุ่น มาแปรรูปเป็นอิฐตัวหนอน เพิ่มรายได้ให้บริษัทได้ถึง 4 ล้านบาท นอกจากนี้ยังนำเศษกระดาษใช้แล้วมาทำเยื่อกระดาษ สามารถลดต้นทุนได้ถึง 25 ล้านบาทต่อปี อีกตัวอย่างคือ ร้านนมเดลี่โฮม นำนมที่ขายเหลือ ไปผ่านกระบวนการทางไบโอเทคโนโลยี ออกมาเป็นอาหารเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สร้างมูลเพิ่มให้บริษัทได้ถึง 200 ล้านบาท


รู้จักกับการดำเนินงาน ESG 3 ระดับ

ระดับที่ 1 Minimum Practice เริ่มลงมือทำได้ทันทีโดยไม่มีความเสี่ยงสูง เช่น การลดใช้พลังงาน การใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ การดำเนินการและรายงานตามมาตรฐานอย่างโปร่งใส หรือการให้คำมั่นสัญญาที่ทำได้จริง


ระดับที่ 2 Common Practice เริ่มนำ ESG ไปปรับใช้ในส่วนต่างๆ ของธุรกิจมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลัก เช่น สร้างมูลค่าเพิ่มจากจุดแข็งของธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ESG, ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ตามมาตรฐานหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม มีนโยบายความยั่งยืน และการดำเนินการด้านพนักงานที่ครอบคลุม ตลอดจนมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน


ระดับที่ 3 Next Level Practice นำ ESG ฝังเข้าไปใช้ในกลยุทธ์ และผสมผสานอยู่ในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษของบริษัทในการขับเคลื่อนให้เกิดมาตรฐานด้าน ESG ขึ้นในอุตสาหรรมของตัวเอง, เพิ่มอิมแพ็กทางสังคมผ่านนวัตกรรม ตลาดการค้า และทางเลือกของลูกค้า, ใช้ ESG เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร และสร้างความแตกต่าง, เพิ่ม ESG เข้าไปในเงินทุนและการจัดสรรทรัพยากรขององค์กร, ผสาน ESG เข้าเป็นรางวัลจูงใจในการทำงานและการประเมินพนักงาน, ปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเปิดเผยข้อมูล ESG ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท ซึ่ง ดร.ธันยพร กล่าวไว้ว่า ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ระดับที่ 3 แล้ว โดย ESG เป็น Score ที่ AI อ่านจากรายงานออกมาเป็น Dash Board เพื่อดูว่าแต่ละบริษัทน่าลงทุนมากน้อยแค่ไหน

ทำอย่างไร ESG จึงจะเกิดขึ้นได้จริง?

องค์กรต่างๆ ควรมุ่งเน้นไปที่กระบวนการของ ESG มากกว่ามองแค่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะการทำ ESG ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการที่หมุนวนไปเรื่อยๆ โดยมีแนวปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1 ทำแผน (Mapping)

  • พิจารณาว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร มีส่วนได้ส่วนเสียกับอะไรบ้าง
  • ระบุให้ได้ว่าจุดอ่อนและจุดแข็ง-ความพิเศษขององค์กรคืออะไร
  • เปรียบเทียบการดำเนินงาน สินค้า และบริการ กับองค์กรอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอและรอบคอบ


ขั้นตอนที่ 2 กำหนดรูปแบบ (Defining)

  • เลือกรูปแบบในการดำเนินงาน เช่น Walmart มีเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่ง และตั้งเป้าทำเรื่องนี้ทั้งห่วงโซ่อุปทานระยะยาวแบบ Long Jump
  • คิดอย่างเป็นระบบว่าองค์กรจะได้หรือต้องเสีย (Trad-offs) อะไรบ้างจากการทำ ESG
  • วัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับ KPI ด้าน ESG


ขั้นตอนที่ 3 ฝัง ESG เข้าไปในองค์กร (Embedding)

  • ผสาน ESG เข้ากับการดำเนินงานส่วนต่างๆ ขององค์กร ผ่าน กลยุทธ์ 5 P (Portfolio Strategy and Product, People and Culture, Processes and Systems, Performance Metrics Positions and Engagement) ที่นำไปปรับใช้ได้จริง
  • ติดตามความคืบหน้า เพื่อให้แน่ใจถึงผลที่เกิดขึ้น
  • แยกให้ออกว่าตัวชี้วัดหรือการจัดอันดับใดเกี่ยวกับการทำ ESG หรือไม่


ขั้นตอนที่ 4 สร้างการมีส่วนร่วม (Engaging)

  • สื่อสารการดำเนินการด้าน ESG เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ
  • สื่อสารกับนักลงทุนถึงแผน ESG ที่วางไว้ในธุรกิจ
  • สื่อสารเรื่อง ESG ในจังหวะที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ  เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


การทำ ESG ที่ ดร.ธันยพรถือว่า WOW คือการสามารถทำให้พนักงานระดับล่างเข้าใจ และรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น เชื่อมโยงกับ ESG ซึ่งผู้นำธุรกิจคือหัวใจขององค์กรที่ควรมีแพสชันในการทำ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรและตัววัดผลงาน โดยต้องมีเป้าหมายและการสื่อสารที่ชัดเจนทั้งคำพูดและการกระทำ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการออกผลิตภัณฑ์และบริการ ไปจนถึงสายพานสุดท้ายที่ทำให้ได้ลูกค้า ธุรกิจที่ทำก่อน จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สู่การเติบโตและทำกำไรระยะยาวได้ก่อน


“ผู้นำต้องรีเซ็ตมุมมอง รวมถึงรีเซ็ตจินตนาการและการดีไซน์ใหม่ ซึ่งหมายถึงการคิดหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำกระบวนการนั้น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ที่สำคัญผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้”


ที่มา: สัมมนา Mission X Roadmap to Sustainability: Sustainability Trend 2023 โดย ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการบริหาร Global Compact Network Thailand (GCNT) วันที่ 15 มิถุนายน 2566