“ฮาวทูทิ้ง” หลักการตัดใจที่ไม่ยากอย่างที่คิด

โต๊ะทำงานที่รกรุงรัง หรือบ้านที่เต็มไปด้วยสัมบัติพัสถานประหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต อาจเปรียบเหมือนความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงซึ่งมักก่อให้เกิดความว้าวุ่นใจ คนเราอาจต้องใช้เวลาเปลืองเปล่าหลายเดือนและหลายปีกว่าจะสะสางพ้นจากความยุ่งยากกองพะเนิน เพราะมัวแต่ “เสียดาย” เรื่องราวหรือคุณค่าที่มันเคยมีในอดีต เพื่อไม่ให้การตัดใจนั้นยากเกินไป เรามาลองใช้หลักการเหล่านี้คัดทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นดู เชื่อว่าชีวิตเราจะโล่งโปร่ง และอาจมีพื้นที่ว่างพร้อมรับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมเข้ามาก็ได้

1694404498

1. อย่าเสียเวลากับการจัดระเบียบ


แน่นอนว่าการพยายามจัดระเบียบเป็นสิ่งที่ดี แต่น่าเสียดายที่จัดให้เรียบร้อยไป คุณก็ไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการในการซื้อข้าวของชิ้นใหม่มาเติม ทำให้ต้องมานั่งจัดระเบียบวนซ้ำ ทำความสะอาดหนักหน่วงเหน็ดเหนื่อยอยู่ร่ำไป ชนิดที่ว่าถึงจะเพิ่มตู้เปล่าอีกสิบใบก็ไม่เพียงพอใส่สมบัติทั้งหมด ทั้งที่การมีของเหล่านั้นในครอบครองไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเราแล้ว แทนที่จะพยายามยัดทะนานสิ่งเหล่านั้นลงในตู้ ขอให้คิดเสียว่า อาจมีคนอื่นใช้ประโยชน์จากสมบัติเหล่านั้นได้มากกว่าตัวคุณ และตัดใจปล่อยมือจากมันดีกว่า


2. ละเลิกยึดติดด้วยคำว่าเป็นเจ้าของ


สิ่งของบางอย่างนั้นเราอาจได้มาด้วยความภาคภูมิใจ และเคยใช้มันในวันที่มีความหมาย หรือเป็นสิ่งที่เคยสร้างความสุข ทำให้เรายึดติดจนไม่สามารถปล่อยมือได้ ต้องกลายเป็นนักสะสมมือทองที่ข้าวของล้นเต็มบ้าน อาทิ นิตยสารเก่าที่เต็มไปด้วยนักร้อง นักกีฬา ที่เราชื่นชอบในอดีต จะทิ้งก็เสียดาย เพราะแต่ละเล่มสะสมมาด้วยการเก็บออมค่าขนมอย่างประหยัด บางคนก็ยังเก็บชุดแต่งงานราคาแพงไว้ในตู้เสื้อผ้า เพราะเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต แต่หากเราลดละความรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แล้วลองจินตนาการว่า หากแบ่งปันให้คนอื่นได้ใช้ เขาคงมีความสุขหรือได้ใช้ประโยชน์จากมันเหมือนที่เราเคยได้ กลายเป็นสร้างคุณค่าคูณสองให้สิ่งที่เรารัก ขณะที่ตัวเรายังมีรายได้จากการขายมือสอง หรือไม่ก็กลายเป็นความอิ่มเอมใจหากเลือกบริจาคเพื่อให้คนรุ่นต่อไป จะยิ่งทำให้การตัดใจง่ายยิ่งขึ้น


3. ตัดวันนี้เพื่อหยุดหนี้ในอนาคต


การโละทิ้งข้าวของบางอย่าง ยังช่วยให้เราตระหนักถึงมูลค่าของเงินทองที่เราเสียไปเพื่อแลกกับความสุขชั่วครู่ เช่น ชุดเสื้อผ้าที่เราเคยอยากได้ใจจะขาดเมื่อเห็นนางแบบสวมใส่ แต่กลับไม่ได้หยิบมาใช้หลายปีแล้ว จนมูลค่าของมันลดลงตามกาลเวลา เมื่อนำมารวมกันเยอะๆ จะทำให้เราเห็นราคาที่เคยจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านั้น อาจช่วยเรียกสติให้เห็นว่าด้วยจำนวนเงินก้อนเดียวกัน เราอาจนำไปใช้กับอย่างอื่นได้อีกตั้งมาก หรือทำให้เห็นว่าเราอาจจะปลดหนี้ไปได้แล้วมากขนาดไหน หากไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับสิ่งของสุดรักเหล่านี้ ดังนั้น เพื่อทำให้สติหนักแน่นขึ้น การทิ้งสิ่งของรอบข้างให้เบาลง จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

4. อะไรที่ไม่ได้ใช้เกิน 6 เดือน คือสิ่งที่พร้อมให้ลืมเลือน


เคยพะวงต่อเอกสารกองมหึมาบนโต๊ะหรือไม่ กลัวว่าหากทิ้งอะไรไปแล้วจะต้องนำกลับมาใช้ในภายหลังจะไม่มีให้อ้างอิง แต่คนเรามักลืมไปว่า ข้าวของบางอย่างที่ไม่ได้รับการแตะต้องมาเกิน 6 เดือน มักมีแนวโน้มไม่จำเป็นต่อเราเป็นการถาวรไปแล้วในแบบที่เราเองยังทันไม่รู้ตัว หากเป็นเอกสารเกี่ยวกับการทำงานเก่าๆ เราสามารถใช้วิธีเก็บเข้าสู่ระบบดิจิทัลแทน เพื่อประหยัดเนื้อที่ในโลกแห่งความเป็นจริง


5. มองให้เห็นคุณค่าที่มากกว่าความทรงจำส่วนตัว


ของเก่าเก็บบางอย่างที่เป็นมรดกตกทอดจากคนรุ่นก่อน หากเราไม่สามารถดูแลรักษาหรือทะนุถนอมให้อยู่ในสภาพดีและคงสภาพอย่างที่พึงจะเป็นต่อไปได้ เช่น รถยนต์เก่า นาฬิกาที่ชำรุด หนังสือโบราณ การส่งมอบให้ผู้อื่นด้วยการนำไปขายหรือประมูล อาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะหากว่ามันมี “เรื่องราว” ที่มาที่ไป จะทำให้มูลค่าสิ่งของนั้นสูงขึ้น และคนที่รับช่วงก็เป็นเสมือนคนที่ช่วยเราจดจำเรื่องราวบันทึกความทรงจำ วิธีนี้จะไม่ทำให้คุณค่าของเก่าเหล่านั้นเลือนหายไปไหน แม้ในทางปฏิบัติจะเหมือนเราทอดทิ้งสิ่งนั้นไปก็ตาม


หลักการตัดใจเหล่านี้ นอกจากจะทำให้หมดภาระเรื่องการดูแลรักษาแล้ว ยังทำให้เราปลอดโปร่งในเรื่องการเงินด้วยในหลายกรณี ขณะที่บ้านหรือที่ทำงานเราก็จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นการเริ่มต้นชีวิตที่สดใสแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องหาอะไรมาแต่งเติมอีก