ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
มุ่งสู่ Net-Zero สร้างความยั่งยืนในระดับองค์กรเพื่ออนาคต
การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนั้น เป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังเริ่มต้นทำให้เกิดขึ้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้โลก ธุรกิจ ผู้คน และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวทางการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในระดับองค์กรที่ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถวางแผนดำเนินการสร้างความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้มาร่วมมอบความรู้ และตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ ภายใต้โครงการ MissionX - Roadmap to Sustainability Sustainable: Net Zero in Action ในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutral และ Net Zero Carbon
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยแบ่งออกเป็น การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) และการซื้อคาร์บอนเครดิต และสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) นั้นคือ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปล่อยออกและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากัน เพื่อให้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ โดยสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตได้เฉพาะส่วนที่มาจากภาคป่าไม้เท่านั้น ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทำได้ยากกว่า มีต้นทุนสูงกว่า และไม่มีองค์กรไหนสามารถทำสำเร็จได้เพียงองค์กรเดียว แต่ต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต เพื่อช่วยกันลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำ Carbon Footprint ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. Carbon Footprint Organization (CFO)
คือ มาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า แบ่งออกเป็น 3 ขอบเขต คือ
1.1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งองค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมการดำเนินงานโดยองค์กร เช่น การเผาไหม้ การรั่วไหล และอื่น ๆ
1.2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า ความร้อน ความเย็นหรือไอน้ำ ซึ่งองค์กรซื้อหรือรับมาเพื่อใช้ประกอบกิจการของตน
1.3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นใด นอกเหนือจากขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 2 เช่น กิจกรรมการจ้างเหมาหรือนอกขอบเขตองค์กร
2. Carbon Footprint Product (CFP)
คือ มาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฐจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.การจัดหาวัตถุดิบ 2.การผลิต 3.การกระจายสินค้า 4.การใช้งาน/บริโภค 5.การจัดการของเสียหลังการใช้งานผลิตภัณฑ์ โดยทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้การรับรอง และสามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตทั้งต่อผลิตภัณฑ์หรือต่อทั้งองค์กรได้
การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Sink นั้น สามารถทำได้ด้วยการปลูกป่า โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดโอกาสให้องค์กรจองพื้นที่สนับสนุนการปลูกป่าเพื่อการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และปริมาณการดูดกลับก๊าซที่เกิดจากการปลูกป่านั้นจะถูกแบ่งให้กับองค์กรที่ร่วมสนับสนุนจำนวน 90% เพื่อนำไปอ้างอิงในการดำเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กร และอีก 10% เป็นสัดส่วนสำหรับภาครัฐ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีการทำ Carbon Credit นั่นคือการประเมินผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับโครงการ โดยก๊าซต่างๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกซึ่งองค์กรสามารถลดได้ต่อปี หากประเมินแล้วว่าน้อยกว่าเกณฑ์ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้ ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจทำโครงการในลักษณะนี้ สามารถใช้คู่มือการพัฒนาโครงการก๊าซเรือกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER : Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เพื่อประกอบการทำโครงการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธี Renewable Energy Certificates (RECs) หรือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยวิธีนี้จะทำผ่านกลไกการซื้อ-ขายใบรับรอง เพื่อยืนยันแหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานลม, น้ำ และแสงอาทิตย์ ด้วยการรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ หากองค์กรไหนปรับเปลี่ยนมาใช้ RECs ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ก็จะสามารถนำหน่วยพลังงานนั้นมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อีกทางหนึ่งด้วย
การบริหารจัดการด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับ Supply Chain
องค์กรต้องมองหาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เหมาะสมในแต่ละจุดตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และมองหาจุดคุ้มทุนไปด้วย โดยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สามารถมุ่งสู่ Net Zero ได้ในปี 2550 ซึ่งตลอดระยะเวลาในการสร้างความยั่งยืนนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ย่อมพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้องค์กรสามารถประหยัดต้นทุนในการสร้างความยั่งยืนได้มากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ในระบบการขนส่ง ทั้งภาคการบิน International Aviation GHG Emission Pathways (ICAO) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ International Maritime Organization (IMO) ได้กำหนดเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้า เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์อากาศยานให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 37% การนำเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ Sustainable Biofuel มาใช้ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซลง 34% การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการการลดก๊าซเรือนกระจกลง 8% รวมถึงการปรับปรุงด้านการจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซลง 6% ในส่วนของภาคการเดินเรือนั้นมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบการขนส่งให้ได้อย่างน้อย 50% ในปี 2050 (เทียบจากปริมาณการปล่อยก๊าซในปี 2008) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของไทยที่นำ Bio-Circular & Green Economy (BCG) หรือโมเดลเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก มาใช้ คือ 1.Bio Economy คือ เศรษฐกิจชีวภาพ 2.Circular Economy คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน 3.Green Economy คือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งถือได้ว่าแนวทางหลักในการสร้างความยั่งยืนของไทยนั้นสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริบทการสร้างความยั่งยืนของโลกด้วย
ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ และอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.1 องศาล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเราทุกคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกในอนาคตด้วย ดังนั้น หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ก็จะทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ส่งผลให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเราได้
ที่มา : การสัมมนา Mission X Roadmap to Sustainability : Sustainable: Net Zero in Action โดยคุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, วันที่ 15 มิถุนายน 2566
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด