หมดยุค Matrix Structure และ Job Description ไร้ความหมาย

ถ้าทุกเช้าคุณตื่นขึ้นมาแล้วงอแงไม่อยากทำงานเพราะไม่เหลือความสนุกแล้ว สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบในที่ทำงานของคุณยังเป็นแบบ Matrix Structure ที่มีลำดับขั้นตอนมากไปจนเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่อิสระจนไม่อยากเผยศักยภาพการทำงานตัวเองออกมา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ยังพอมีวิธีแก้อยู่ แต่หากยังรู้สึกฝืนต่อไปไม่ไหว ก็ควรบอกลาไปยังที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจมากกว่า เพราะปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มรับคนจาก Mindset หรือทักษะส่วนตัว มากกว่าการวาง Job Description สมัครงานแบบเก่าๆ แล้ว

matrix-structure-job-description-01

1.งานที่ทำเป็นแบบ Matrix Structure หรือเปล่า


ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน หรือโปรเจ็กต์พิเศษที่ดึงคนมาร่วมทีมกันเพื่อแก้ไขข้อจำกัดขององค์กร ทำให้มีผู้นำทีมหลายท่าน เมื่อมากคนย่อมมากความ กรอบงานอาจไม่ชัดเจนแล้ว แถมยังไม่รู้ว่าจะต้องอัพเดทความเคลื่อนไหวกับหัวหน้าทีมคนไหนกันแน่ แรกๆ อาจรู้สึกท้าทาย และถ้าผ่านได้หัวใจก็จะพองฟูด้วยกัน แต่พอนานไปหากไม่มีการเคลียร์อุปสรรคให้ชัดเจน ก็อาจนำไปสู่ความอึมครึมจนรู้สึกเบื่อหน่ายไฟตกในที่สุด


2. เช็กคลื่นใต้น้ำ และวัดใจตัวเองให้แม่นยำ


เมื่อปัญหาเชิงซ้อนเริ่มสะสม จนไม่อยากเอ่ยคำใดออกมา เพราะกลัวจะทำให้ขุ่นข้องหมองใจหรือกระทบบรรยากาศอันสันติ หลายคนเลือกใช้ความเงียบเป็นที่หลบซ่อนอันปลอดภัยต่อตัวเอง หรือบางครั้งบางคนที่ใจกล้าเสนอไปความคิดเห็นไปแล้ว แต่โดนตีกลับมาจนรู้สึกไม่มีความอิสระทางความคิดที่แท้จริง ครั้นจะขอขยับก้าวไปทีมใหม่หรือส่วนอื่นก็ยากเย็น สถานการณ์แบบนี้อาจต้องตกตะกอนให้คำตอบตัวเองดีๆ ว่า จะพร้อมสู้กับคลื่นใต้น้ำหรือแหวกว่ายออกไปหาน่านน้ำใหม่ๆ ให้ใจสงบลง


3.  ลองลงมือแก้ไข ถ้าไม่ไหวค่อยยกมืออำลา


หากถามตัวเองชัดๆ แล้วว่างานที่ทำนั้นยังชอบและใช่กับตัวเอง ต้องฮึดสู้ลองเสนอให้เบื้องบนรับรู้แบบเปิดอกไปเลย แจกแจงข้อเสนอและแผนงานว่าอะไรที่ควรแก้ไขหรือปรับทีมให้ทำงานร่วมกันราบรื่น แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ที่มีโครงสร้างหลายขั้น และไม่ใช่ผู้นำองค์กรลงมาแก้ไขเองก็ยาก และหากเมื่อใดพบว่าที่ทำงานของตัวเอง เป็นปลาใหญ่ที่ไม่ยอมหัดว่ายน้ำให้เร็วหรือกล้าว่ายทวนกระแส บางทีการยกมือขึ้นขอตัวอำลาก่อนหมดไฟ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปิดตายศักยภาพตัวเองไปเรื่อยๆ

4. อย่ากลัวการเปิดประตูบานใหม่


ความน่ากลัวที่ทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงาน คือ ไม่กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่อยากให้มองเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่มักมีโฟกัสเป้าหมายชัดเจนมากขึ้นเป็นโอกาสของเรา หลายองค์กรหันมาปลดความตึง ขึงขัง หันมายืดหยุ่นเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายเป็นหลัก หากมีโอกาส ก็ลองมองหาที่ทำงานที่เปิดโอกาสให้เราลองใช้ทักษะที่มี โดยไม่ต้องกังวลกับโครงสร้างแข็งทื่อไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเดิมๆ


5. เทรนด์การสมัครไร้ Job Description


สตาร์ทอัพบางแห่งเริ่มเปิดรับสมัครงานแบบใหม่ที่ Job Description ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ขอแค่มีมุมมองหรือ Passion พร้อมเรียนรู้ มีทักษะตอบโจทย์องค์กรก็พร้อมมาร่วมงานกันได้ เช่นเดียวบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เริ่มปลดล็อกข้อจำกัดตัวเอง ประกาศรับสมัครงานแบบไร้วุฒิปริญญา ขอแค่ดูผลงานเก่าๆ ที่เราเคยรับผิดชอบ และทดสอบทักษะที่คิดว่ามาช่วยงานให้สู่เป้าหมายได้


6. เรื่องจริงของ Job Description


ความจริงเป็นเพียงไกด์ไลน์เล็กๆ ที่คัดกรองคนมาร่วมงาน แต่เรื่องจริงที่มักเจอเวลาเข้ามาประจำการ คือ เราอาจพบเจองานงอกนอกประกาศเสมอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อให้เราเพิ่มหรือพัฒนาทักษะ หรืออาจเป็นเพียงเพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหาคนเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะโลกความจริงตอนนี้ Job Description จะมีก็ได้หรือไม่มีก็แทบไม่ต่าง ทุกอย่างล้วนวัดกันที่การทำงานจริงเท่านั้น


7. มีหัวใจพร้อมเป็น Multi-tasking Skills


ยุคนี้ทุกองค์กรกำลังควานหาพนักงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi-tasking Skills) ถ้าจำเป็นต้องรับผู้เชี่ยวชาญมาต้องเป็นสายงานเฉพาะทางจริงๆ แต่ถ้าทำตัวให้พร้อมเรียนรู้หลายอย่างในงานที่เกี่ยวข้องกัน ย่อมเป็นการพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ดีและเตะตากับองค์กรอื่นได้ง่าย ขณะที่องค์กรก็เลือกตอบกลยุทธ์ แบบ Cross-functional Collaboration ที่คนคนหนึ่งต้องสามารถทำงานข้ามแผนกได้ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ความคิดและทำงานให้เป็นแบบทีมเวิร์กจริงๆ


นี่คือคำตอบว่า ทำไมต้องเช็กว่าตัวเองกำลังอึดอัดกับงานหรือไม่ และเพราะอะไรกันแน่ หัวใจสำคัญคือต้องอย่ากลัวจนไม่กล้าเผชิญบททดสอบใหม่ เพราะในโลกปัจจุบัน ประตูโลกโอกาสย่อมเปิดกว้างกว่าเดิม เมื่อ Job Description ไม่ได้เป็นข้อชี้เป็นชี้ตายในโลกการทำงานเท่าในอดีต



ที่มา
https://missiontothemoon.co/softskill-matrix-structure/
http://www.csrgroup.co.th/hr-tips/voice-of-hr-article-th/decode-matrix-organization/
https://th.hrnote.asia/recruit/th-howtomakejobdes-190116/
https://th.hrnote.asia/personnel-management/190806-hr-startup/
https://athivvat.medium.com/4-สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ--7e21427c1044
https://creativetalklive.com/improve-yourself-as-a-startup/