น้องมีบุญ ชี้ช่องบุญ 9 วัดขอพรสุดปัง

แม้เดือนนี้จะไม่มีวันสำคัญทางศาสนา แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละเดือนจะมีวันพระไทย เดือนละ 4 วัน อย่างเช่นวันนี้ (8 กันยายน 2566  แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ) ตรงกับวันพระไทย ซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยมถือศีลฟังธรรม ทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แต่ด้วยการใช้ชีวิตของคนทำงาน หรือด้วยการเดินทางที่ไม่สะดวก เราสามารถสแกน QR Code ทำบุญทันใจ มั่นใจได้ว่าเงินถึงวัด บุญถึงเราอย่างแน่นอน วันนี้ น้องมีบุญจึงอยากชวนเพื่อนๆ ร่วมทำบุญ 9 วัดเพื่อความสุขใจกันค่ะ

e-donation-9-temple-02

วัดมาบตาพุด

วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2443 หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยแรกเริ่มได้ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ในสวนป่า ห่างไกลความเจริญ ด้วยแรงจิตศรัทธาจากนายพราว อินบัว  นายยัง หอมสุวรรณ นายเขียน วงษ์ไพศาล และนายบุญ หอมสุวรรณ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนในหมู่บ้านได้มีโอกาสทำบุญ บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนพิธี โดยทางวัดไม่ได้เก็บบันทึกประวัติหลักฐานว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดเมื่อใด ทราบเพียงว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2499

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เล่าถึงที่มาของคำว่า “มาบตาพุด” นั้นมาจาก ในสมัยก่อนมีคนชื่อ “ตาพุด” ได้หนีภัยสงครามกรุงแตกมาจากกรุงศรีอยุธยา และมาทำไร่ทำสวนอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้  และได้ปลูกขนำที่พักอยู่ใกล้ลำรางน้ำไหล ซึ่งเรียกว่า “ลำมาบ” มีน้ำไหลตลอดปี ต่อมามีการตัดไม้ลงเป็นจำนวนมาก หน้าแล้งน้ำในลำมาบเหือดแห้ง ไม่มีน้ำไหลอีก จึงเรียกชื่อว่า “มาบตาพุด”

ปัจจุบันมีประชาชนมากมายที่ให้ความศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อรวย ที่ชาวบ้านต่างพากันขนานนามท่านว่าเป็น “อัญมณีแห่งพระพุทธศาสนาของบูรพาทิศ” ที่ควรหาโอกาสไปกราบสักการะขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล และมีองค์ท้าวเวสสุวรรณ ที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดอีกด้วย

ที่ตั้ง        106/4 ถ.เข้าวัดมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง 21150

https://goo.gl/maps/BgsNx4L1uMD2E2EAA

วัดตะโก

วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2345 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2541  โดยวัดแห่งนี้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา มีผู้คนมากมายหลั่งไหลมาสักการะโลงแก้วที่บรรจุสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อรวย เกจิอาจารย์ชื่อดัง โดยตั้งอยู่ชั้นล่างของพระมหาธาตุเจดีย์มงคลสิทธาจารย์ที่ออกแบบโดย คุณวนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, คุณตะวัน วีระกุล, คุณบัญชา ชุ่มเกสร และคุณองอาจ หุดากร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ส่วนบนชั้น 2 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย

ที่อยู่        31 หมู่ที่ 2 ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13140

                https://goo.gl/maps/Dpvd1jMzLVicfDtH9

วัดศาลเจ้า

วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2330 แห่งนี้ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองเชียงราก โดยอยู่ในบริเวณปากคลองศาลเจ้า จึงมีนามวัดว่า วัดศาลเจ้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2333 ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา กล่าวไว้ว่า ในสมัยหนึ่ง มีพระเจ้าน้อยมหาพรหม เป็นเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ มีความรู้เกี่ยวกับเคล็ดวิชาด้านไสยศาสตร์ สามารถเรียกจระเข้ขึ้นมาจากน้ำ และทำให้เชื่องได้

ครั้งหนึ่งพระเจ้าน้อยมหาพรหมได้รวบรวมไพร่พลจำนวนหนึ่งล่องแพ ลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพบพระภิกษุรูปใดมีวิชาแก่กล้าเหนือกว่าพระองค์แล้ว จะนำเอาแพที่ใช้นี้สร้างเป็นวัดถวาย จนเมื่อล่องมาถึงปากแม่น้ำอ้อม (เชียงราก) ที่นั่นมีวัดมะขามน้อยตั้งอยู่ และใกล้ๆ วัดมะขามแห่งนี้ มีพระอาจารย์รุ เป็นพระเชื้อสายรามัญ ตั้งกุฏิเป็นเอกเทศต่างหาก ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาไสยศาสตร์ เมื่อพระเจ้าน้อยมหาพรหมได้ทราบถึงชื่อเสียง จึงมาขอลองวิชา โดยในครั้งแรกพระองค์ได้ถากหน้าแข้งมาทำฟืนหุงข้าว แต่ที่ไหนได้ กลับไปถากเอาเสากุฏิของพระอาจารย์จนเกือบหมด ท่านจึงเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อ ไปต่อยพวกบ่าวไพร่ของพระเจ้าน้อยมหาพรหม พอได้เห็นวิชาของพระอาจารย์รุเป็นที่แน่ชัดแล้ว จึงได้เสด็จขึ้นจากแพเพื่อไปนมัสการพระอาจารย์รุ ในขณะที่จะก้าวผ่านธรณีประตูกุฏิ ก็เกิดเหตุการณ์ที่พระองค์ไม่คาดคิดมาก่อน คือจะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยหลังก็ไม่ได้ จึงต้องยืนคร่อมประตูอยู่เช่นนั้น จนเมื่อพระอาจารย์รุอนุญาตให้เข้าไปได้ พระเจ้าน้อยมหาพรหมจึงได้ก้าวออกจากมาจากธรณีประตู และกราบนมัสการ พร้อมบอกจุดประสงค์ว่า ต้องการสร้างวัด โดยจะมอบแพของพระองค์ และสร้างศาลาการเปรียญให้อีก 1 หลัง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ตั้งชื่อว่าวัดศาลเจ้า ภายหลัง พระเจ้าน้อยมหาพรหมยังคงเสด็จมาที่วัดแห่งนี้เสมอ และได้ทำการสร้างอุโบสถให้อีก 1 หลัง มีพระพุทธรูปหน้าตัก 1 วา 1 องค์ ประดิษฐานไว้ที่หน้าอุโบสถ ต่อมาจึงได้ย้ายพระพุทธรูปไปประดิษฐานบนศาลาการเปรียญจนถึงปัจจุบัน

ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุอีกมากมาย เช่น เจดีย์แบบรามัญ รวมถึงพระอุโบสถที่พระเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายไว้ ซึ่งได้รับการบูรณะใหม่เพื่อให้มีความสวยสดงดงามเสมอ ภายในบริเวณวัดยังมีศาลของเซียนแปะโรงสี ชาวจีนผู้เรืองเวทย์ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือมาก และนิยมมาขอพรเรื่องการเงินการงาน ธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

ที่ตั้ง 2/1 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

        https://goo.gl/maps/wbHbU79B75mbtzMH7

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมมีชื่อเรียกว่า พระธมเจดีย์ ไม่ใช่วัดเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินสุวรรณภูมิ แต่มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า พระเจดีย์ใหญ่เป็นรูประฆังคว่ำ โครงสร้างเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่ ก่ออิฐถือปูน และประดับด้วยกระเบื้องปูทับ มีวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พระปฐมเจดีย์แห่งนี้ อาจจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวที่พระสมณทูตเดินทางมาเผยแผ่ศาสนา ด้วยพระเจดีย์มีลักษณะทรงโอคว่ำ เช่นเดียวกันกับพระสถูปสาญจี แต่มียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งอาจจะมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ และพระองค์ยังทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย ครอบเจดีย์เดิมถึงสององค์ ได้แก่ เจดีย์ทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดียยุคพระเจ้าอโศกมหาราช และเจดีย์ทรงขอมโบราณ และพระราชทานนามใหม่ว่าพระปฐมเจดีย์ ทรงเชื่อว่าที่นี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ แต่ในกาลต่อมามีการพบเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระปฐมเจดีย์อีกหลายองค์

นอกจากนี้ ที่ลานชั้นลดด้านทิศใต้ มีพระประธานพระพุทธรูปศิลาขาว ซึ่งเป็นสองในสี่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม ที่สร้างขึ้นในยุคทวารวดี รวมถึงผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระวิหารทิศเหนือ ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไว้อีกด้วย

ที่วัดแห่งนี้ มีการจัดนมัสการองค์ประปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวมทั้งหมดเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมชมความงามของเจดีย์แห่งนี้ในยามค่ำคืน มีอาหาร และมหรสพต่างๆ รวมทั้งร่วมสืบสานประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ตามความเชื่อแต่โบราณว่าหากถวายผ้ากาสาวพัสตร์แด่พระภิกษุสงฆ์ จะได้บุญกุศลยิ่งนักจึงทำให้ประเพณีดังกล่าวทำสืบเนื่องมาช้านาน

สำหรับสายมู เมื่อมาที่วัดแห่งนี้จะนิยมไปกราบสักการะ องค์พระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์ เพื่อให้ประสบความสำเร็จสมหวังเกี่ยวกับ หน้าที่การงาน การเรียน สุขภาพ รวมไปถึงการขอบุตร

ที่อยู่ 27 ถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000

         https://goo.gl/maps/DowjhiMsc62fXQz59

วัดจุฬามณี

วัดเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 400 ปี เดินมีชื่อว่า “วัดแม่เจ้าทิพย์” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงปี พ.ศ. 2172-2190 โดยได้รับจิตศรัทธาจากท่านท้าวแก้วผลึก ธิดาคนหนึ่งของท่านพลายซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด ต้นสกุลบางช้าง เป็นผู้สร้าง

ต่อมาในช่วงกรุงศรีอยุธยามีศึกสงครามกับพม่า ท่านนาค (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) พระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระครรภ์ ได้หนีมาหลบซ่อนในป่าทึบหลังวัดจุฬามณี และได้มีพระสูติการท่านฉิม หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สันนิษฐานว่าสถานที่ประสูติน่าจะเป็นใกล้ต้นจันทน์ และยังมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งในขณะนั้นก็ทรงครรภ์เช่นกัน และได้มาหลบยังที่แห่งนี้พร้อมมีประสูติการเป็นพระธิดา คือ เจ้าฟ้าบุญรอด หรือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เดิมทีนั้น วัดจุฬามณีเคยเป็นวัดที่มีความรุ่งเรืองในสมัยที่อธิการเนียมเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 2 แต่เมื่อสิ้นท่านไปในปี พ.ศ. 2459 วัดก็แทบจะกลายเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาไม่กี่รูป สภาพวัดเสื่อมโทรม กำนันตำบลปากง่าม (ตำบลบางช้างในปัจจุบัน) ได้อาราธนาพระอาจารย์แช่ม โสฬส ซึ่งเป็นพระลูกวัดบางกะพ้อม มาครองวัด เพื่อทำการดูแลไม่ให้วัดแห่งนี้ต้องกลายเป็นวัดร้างในที่สุด เมื่อหลวงพ่อแช่มมาจำพรรษาที่นี่ ท่านได้เริ่มการปลูกสร้างเสนาสนะสงฆ์และสร้างศาลาการเปรียญ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2463 หลังจากนั้นจึงให้พระเนื่อง โกวิโท ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ท่านก็ได้ทำการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่เสื่อมโทรมลง และต่อมาพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจุฬามณีด้วยวัยเพียง 32 ปี ท่านได้สร้างอุโบสถของหลวงพ่อเนื่องที่ยังค้างอยู่จนเสร็จเป็นอุโบสถจตุรมุขหินอ่อน มีการปูพื้นชั้นบนสุดด้วยหินหยกสีเขียว จากการาจี ประเทศปากีสถาน

ภายในวัด ยังมีศาลาหลวงปู่เนื่องที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ฝาผนังลงรักปิดทอง บอกเล่าเรื่องทศชาติชาดก และส่วนที่อยู่เหนือทางเข้าเป็นลายรดน้ำเรื่องนารายณ์สิบสองปาง  และยังมีท้าวเวสสุวรรณที่ใครๆ ก็ต้องห้ามพลาด ในการไปกราบไหว้ขอพร เสริมสิริมงคล ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน การเรียน และการเดินทาง

ที่อยู่        93 หมู่ที่ 9 ถ.สมุทรสงคราม - บางแพ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110

               https://goo.gl/maps/wgWYFBT1DJwN1BFH8

วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร

หลายคนที่เห็นชื่อวัด อาจจะเข้าใจว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จริงๆ แล้ว ตั้งอยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก จังหวัดสมุทรสาคร โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยนางแจ่ม วาสุกรี ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด โดยตั้งชื่อตามหลักแบ่งเขตคลอง จึงได้ชื่อว่า “วัดใหม่หลักสี่” แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร"

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปโบราณสมัยอู่ทองเนื้อหินทรายแดงฉาบปูน ปางมารวิชัย มีพระพักตร์เอิบอิ่ม ยิ้มละไม ซึ่งค้นพบโดยหลวงพ่อแฟง ที่สมัยก่อนเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนมโนรา ออกธุดงค์พบวัดร้าง และพระพุทธรูปที่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ในตอนแรกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอนมโนรา ต่อมาปี พ.ศ. 2470 หลวงพ่อแฟงได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณดังกล่าวมาประดิษฐานในวิหาร ในแต่ละปีจะมีการจัดพิธีแห่หลวงพ่อโต ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ พระราหู พระโพธิสัตว์กวนอิม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลกันมากราบไหว้ขอพรกันอย่างเนืองแน่น

ที่ตั้ง        17 หมู่ที่ 2 ทางหลวงชนบท สค.5052 ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 74120

              https://goo.gl/maps/x9tgaBsiRX7F6BTj8

 

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร

วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุพรรณบุรี อายุ 1,200 ปี ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ช่วงหลังปี พ.ศ.1724 จึงนับว่าเป็นวัดที่สร้างมาอย่างยาวนาน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ โดยที่นี่เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ประทับนั่งห้อยพระบาท สูงถึง 23.46 เมตร สร้างด้วยศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ ภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน 36 องค์

นอกจากนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน โดยในตอนหนึ่งมีการกล่าวไว้ว่า เมื่อพลายแก้วยังเป็นเด็กได้มาอาศัยบวชเณรที่วัดแห่งนี้ รอบวิหารจึงมีภาพเขียนเรื่องราวขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย รวมไปถึงอนุสาวรีย์นางพิมพิลาไลย ขุนช้าง และเรือนขุนช้างซึ่งเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่ แต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนให้ได้ชมกัน

ที่ตั้ง      ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 72000

              https://goo.gl/maps/mxGJgtjNFvVTrnev8

วัดทับกระดาน

เดิมทีวัดแห่งนี้เป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ใกล้ป่าทึบ ด้วยเดิมทีบริเวณนี้เรียกว่า “บ้านทัพกันดาร” เพราะอยู่ห่างไกล ไม่ค่อยมีผู้คน เดินทางลำบากเพราะไม่มีถนนหนทาง ต้องใช้วัวควายเป็นพาหนะ แม้จะมีเงิน แต่ก็ไม่สามารถหาซื้ออาหารทานได้ แต่ด้วยแรงศรัทธาของปู่บุญ ดอกไม้หอม และปู่เสาร์ โภคา พร้อมด้วยชาวบ้านได้บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างวัดทัพกันดาร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดทับกระดาน” เมื่อปีพ.ศ.2476 มีกุฏิสงฆ์สร้างเป็นกระต๊อบเล็กๆ เพียง 2-3 หลัง และเมื่อปีพ.ศ.2584 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวบ้านจึงพากันอพยพ และย้ายวัดทับกระดานมาสร้างในพื้นที่ใหม่ คือพื้นที่วัดในปัจจุบัน และเจ้าคณะฯ หลวงพ่อแดง ได้ให้พระแหวว มาอยู่วัดแห่งนี้ โดยดำรงตำแหน่งรักษาการณ์เจ้าอาวาส แต่อยู่ได้เพียง 1 พรรษา ก็ลาญาติโยมกลับวัดทุ่งคอก ชาวบ้านจึงได้นิมนต์พลวงพ่อบวช ตุลายโก ซึ่งเป็นบุตรของผู้บุญ ละย่าเล็ก ดอกไม้หอมที่บวชเมื่อปีพ.ศ.2480 และได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะจนได้เป็นครูสอนพระนักธรรมที่วัดแห่งนึงในจังหวัดสมุทรสงคราม กลับมาช่วยดูแลวัดทับกระดานให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อปีพ.ศ.2490 และต่อมาในปีพ.ศ.2497 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดทับกระดานอย่างเป็นทางการ

และวัดทับกระดานแห่งนี้ เป็นที่เก็บอัฐิของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ทางวัดได้เก็บเสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ ไว้ที่บริเวณศาลาริมน้ำ ทุกวันที่ 13 มิถุนายนของทุกปี จะมีการจัดงานรำลึกถึงคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์

ที่ตั้ง        13 ถนนสายสองพี่น้อง-พระแท่นดงรัง ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี 72190

              https://goo.gl/maps/sgu7ChQtJDPbex787

วัดธาตุน้อย (เจดีย์พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์)

ยังอยู่กันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดธาตุน้อยแห่งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับพ่อท่านคล้าย (พระครูพิศิษฐ์อรรถการ) ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาเมืองคอน เทพเจ้าแห่งแดนใต้ พระเกจิดังที่ชาวใต้นับถือ วัดธาตุน้อยสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2504 บนพื้นที่ 46 ไร่ของนายกลับ งามพร้อม ที่ถวายแด่พ่อท่านคล้าย ที่วัดนี้ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำบรรจุพระสารีริกธาตุ และมีโลงแก้วประดิษฐานสรีระสังขารพ่อท่านคล้ายอยู่ภายในองค์พระเจดีย์ด้วย  สังขารของพ่อท่านคล้ายนั้นว่ากันว่าแข็งเป็นหิน ยิ่งทำให้ชาวบ้านที่นับถือศรัทธา หลั่งไหลมาสักการะบูชากันมากขึ้น

ที่อยู่        ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80150

https://goo.gl/maps/ya8S26TN9WLn1J5v7

> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP  ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html