น้องมีบุญ ชวนทำบุญเข้าพรรษา ร่วมบุญวัดดัง 5 ภาค

คำว่า “เข้าพรรษา” หมายถึง “พักฝน” โดยเป็นช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ประจำในวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝน 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ ห้ามมิให้ไปค้างแรมที่อื่น เพราะในฤดูฝนการจะเดินทางไปจาริกตามสถานที่ต่างๆ เต็มไปด้วยความยากลำบาก และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการเหยียบย่ำไปในทุ่งนา หรือไร่สวนของชาวบ้าน ดังนั้นในช่วง 3 เดือนนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่พระภิกษุจะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

น้องมีบุญ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ รวมทำบุญทันใจเนื่องในวันเข้าพรรษา เพียงแค่แสกน QR Code บริจาค ก็สามารถรับบุญได้ทันที เพราะมั่นใจได้ว่าเงินนั้นจะถูกส่งถึงวัดอย่างแน่นอนค่ะ 

e-donation-buddhist-lent-2023-01

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

 

วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “วัดแจ้ง” สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” นับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระราชอิสริยยศรัชกาลที่ 2 ในขณะนั้น)  ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันบูรณะสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเต็มว่า “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางนั้นเอง

 

ที่ตั้ง       158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

              https://goo.gl/maps/Lmu9ifFQGrcjzwJg9

 

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

 

มาต่อกันที่ภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ขึ้นดอยไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ วัดและองค์พระธาตุดอยสุเทพ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช หรือ เจ้าท้าวสองแสนนา เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้น หยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ จึงได้สร้างเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ซึ่งก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา บรรจุพระสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนจวบจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เกิดปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งควรหาโอกาสขึ้นมาสักการะสักครั้งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคล

 

วัดแห่งนี้เป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,046 เมตร มีลานชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเชียงใหม่ ที่เหล่านักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาถ่ายรูปกันเป็นประจำ นอกจากนี้วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ยังเป็นหนึ่งในวัดที่ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานแห่งชาติด้วย

 

ที่ตั้ง        9 หมู่ที่ 9 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

                https://goo.gl/maps/bRLJP7KwB2drR67Y7

วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด)

 

เดิมทีมีชื่อเรียกว่า “วัดป่าบ้านตาด” วัดแห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2498 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 ให้ชื่อว่า วัดเกสรศีลคุณ โดยมีพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาถวายพื้นที่ในกำแพงล้อมรอบประมาณ 163 ไร่ และบริเวณรอบกำแพงที่มีผู้ซื้อที่ถวายอีกหลายแปลง รวมถึงทางวัดซื้อที่เพิ่ม อีกประมาณ 140 ไร่ รวมแล้วประมาณ 300 ไร่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อันสงบเรียบง่าย ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ เป็นสถานที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ในเขตอภัยทานหลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่าย เต่า แย้ นก ฯลฯ

 

ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ ที่ด้านบนศาลาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด และใช้เป็นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐินเป็นต้น ตู้ด้านขวาขององค์พระประธานเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า สถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

สำหรับวัดป่าบ้านตาดนี้ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้เน้นย้ำถึงเรื่องมหาภัย 5 ประเภทที่ไม่ให้พระเกี่ยวข้องเด็ดขาด คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วิดิโอ โทรศัพท์ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญสมณ ธรรมโดยตรง อีกทั้งไฟฟ้า ก็ไม่ให้ต่อเข้ามาในวัด มีเพียงเครื่องปั่นไฟ เพื่อใช้ในบางกาล ที่ประชาชนมาทำบุญมาก เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น

 

วัดแห่งนี้ เต็มไปด้วยความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ การใช้สอย ปัจจัยสี่ที่ศรัทธาญาติโยมถวายมานั้น ให้เป็นไปด้วยความประหยัด ใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น หลายท่านที่ตั้งใจจะมากราบหลวงตาที่วัด จะไม่พบป้ายชื่อวัด เปรียบเสมือนเส้นทางไปวิมุตตินิพพานปฏิบัติไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องถามใครว่าถึงจุดมุ่งหมายหรือไม่ เป็นสิ่งที่หลวงมหาบัวท่านสอนไว้ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดแห่งนี้ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน

 

ที่ตั้ง        ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

               https://goo.gl/maps/bXjLAT3H2E6zKdyv8

วัดนาคำน้อย

 

ยังอยู่ที่ภาคอีสาน มาร่วมบุญต่อที่ วัดป่านาคำน้อย เดิมชื่อ วัดอุดมมงคลวนาราม เป็นนามที่ได้รับเมตตาประทานจากหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน แต่ต่อมาทางราชการเห็นว่าควรตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านที่ตั้ง  จึงได้ใช้นามว่า “วัดป่านาคำน้อย”

ปัจจุบัน วัดป่านาคำน้อยได้รับการตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2529 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2531

 

โดยทางวัดได้ยึดแนวปฏิบัติตามแนวทางที่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาชี้แนะไว้ว่า “สถานที่นี้เหมาะสำหรับผู้สนใจภาวนาเพราะเป็นป่า เป็นเขาสงบสงัด” สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด จึงประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญหลักๆเช่น ศาลาอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม เป็นที่ฉันภัตตาหาร เป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ ศาลาพุทธอุดมมงคลธรรมสังฆสามัคคี ซึ่งเป็นศาลาชั้นเดียว ยกพื้น สร้างบริเวณตรงข้ามกับวัด หรือสวนลำไย สร้างขึ้นเพื่อลดความแออัดและรองรับศรัทธาญาติโยมที่มาวัดเพิ่มมากขึ้น และเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆ ของวัด เช่น งานทำบุญรวมญาติ ซึ่งจัดตรงกับวันมาฆบูชาประจำทุกปี งานทำบุญในวันคล้ายวันเกิดองค์หลวงพ่อ  ในวันที่ 27 เมษายน ของทุกปี และงานกฐินสามัคคีของทางวัด

ปัจจุบันวัดอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้ศึกษาและปฎิบัติตาม โดยสามารถร่วมบุญบริจาคเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ผ่าน QR ดังกล่าวได้

 

ที่ตั้ง        หมู่ 7 บ้านนาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี 41380

               https://goo.gl/maps/rMruXgyGLTcWn67r9

วัดบางพระ

 

วัดปากคลองบางพระ คือ ชื่อเดิมของวัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือราวปี พ.ศ.2220 แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เมื่อกรมศิลปากรได้พิจารณาจากดินเผาของพระอุโบสถ พบว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง และพระปฏิมากรหินทรายแดง ซึ่งเป็นพระประธานนั้น สร้างอยู่ในสมัยอโยธยาสุพรรณภูมิ (อู่ทอง)

ในบริเวณวัดมีพระอุโบสถหลังเดิม กว้าง 4 วา ยาว 8 วา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมากรหินทรายแดง ปางมารวิชัยที่ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อสิทธิมงคล ที่ด้านหน้าของพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 26 นิ้ว ที่ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวพระพุทธศาสนา เป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับอดีตขององค์พระพุทธเจ้า เคยได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยการเขียนทับ และแก้ไขบางส่วน พื้นหลังใช้สีอ่อน และดอกไม้ร่วงเป็นคติของอยุธยา ภาพจิตรกรรมนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ภาพมารผจญ เป็นภาพที่พระพุทธเจ้าทรงจีวรแดง ประทับบนดอกบัวแก้ว และมีแม่ธรณีบีบมวยผมนับเป็นศิลปะแบบเก่า เป็นภาพในช่วงอยุธยาตอนกลาง มีการใช้สีเพียง 4 สี คือ ขาว ดำ แดง และเขียวใบแค

ต่อมาในปี พ.ศ.2470 มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ในละแวกคุ้งน้ำนครชัยศรี เป็นช่วงรุ่งเรืองของวัด และได้รับการดูแลพัฒนาสืบต่อเรื่อยมา

 

ยุครุ่งเรืองของวัด คือยุคของเจ้าอธิการหิ่มอินทโชโต ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ ยุคนี้มีการสร้างพระพุทธบาทจำลอง และได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในละแวกคุ้งน้ำนครชัยศรี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2470 และเมื่อ หลวงพ่อเปิ่น เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ โดยได้บูรณะอุโบสถหลังใหม่ทำเป็นคอนกรีต ทั้งยังก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย ต่อมา หลวงพ่อสำอาง ปภสฺโร ได้ทำนุบำรุงพัฒนาวัดต่อเรื่อยมา วัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระบรมสารีริกธาตุ (จากประเทศศรีลังกา) รอยพระพุทธบาทจำลอง หลวงพ่อโต (พระประธานในอุโบสถหลังใหม่) รูปหล่อสิทธิมงคล (พระประธานในอุโบสถหลังเก่า) รูปหล่อเหมือนหลวงปู่หิ่ม หลวงปู่ทองอยู่ หลวงปู่เปลี่ยน สังขารพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) นอกจากนี้วัดยังมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์ ในภาคกลางอีกด้วย

 

ที่อยู่        1 หมู่ที่ 3 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

               https://goo.gl/maps/13NsS4qCi52HN1CZA

วัดละหารไร่

 

เดินทางมาถึงภาคตะวันออก ร่วมบุญ วัดละหารไร่ เดิมมีชื่อว่า “วัดไร่วารี” ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยสมัยก่อนเป็นป่าไร่ มีน้ำโอบล้อมไว้ จนในปี พ.ศ.2354 หลวงพ่อสังข์เฒ่าได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้และสร้างเป็นที่พัก เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้านที่ทราบข่าวก็เกิดจิตศรัทธา นำภัตตาหารมาถวาย จนภายหลังเริ่มมีภิกษุมาจำพรรษามากขึ้น จึงมีการก่อสร้างกุฏิ วิหาร โดยหลวงพ่อสังข์เฒ่าเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

 

หลวงปู่ทิม เกจิอาจารย์ชื่อดัง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2422  โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์ ผู้ก่อตั้งวัดละหารไร่  เมื่อท่านอายุได้ 17 ปี บิดาก็นำไปฝากเรียนหนังสือที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ เมื่อร่ำเรียนจนพออ่านออกเขียนได้ บิดาก็ขอให้ลาสิกขาเพื่อมาช่วยงานทางบ้าน จนเมื่ออายุ 19 ปี ถูกเลือกไปเป็นทหารประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 4 ปี เมื่อกลับบ้านได้ไม่นาน บิดาก็จัดให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเริ่มค้นคว้าอ่านตำรา รวมถึงออกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ จนเมื่อท่านรู้สึกว่าถึงเวลา ก็ได้กลับมาที่วัดละหารไร่ ต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น พระอธิการทิม อิสริโก เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ และท่านได้ทำการก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่นๆ อีกหลายอย่างจนวัดได้พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้ญาติโยมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่เคร่งในธรรมวินัย ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยได้เปิดโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่บุตรหลานของคนในชุมชนด้วย ในบริเวณวัด ยังประดิษฐานหลวงปู่ทิมองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 12 เมตร สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

 

ที่ตั้ง        ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง 21120

                https://goo.gl/maps/B31sP275xE4qNXRD9

วัดสมานรัตนาราม

 

ยังอยู่ที่ภาคตะวันออกที่ วัดสมานรัตนาราม วัดสวยสงบร่มรื่น ริมแม่น้ำบางปะกง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสูง 16 เมตร ยาว 22 เมตร เนื้อชมพู พระหัตถ์ซ้ายถืองาที่หัก พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว รอบฐานมีพระพิฆเนศ 32 ปาง และยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถืออีกมากมาย เช่น พระธาตุอินแขวนจำลอง หลวงพ่อองค์ดำ หลวงพ่อประทานพรขอโชคลาภ พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานบุตร และโชคลาภ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาสักการะ ขอพรให้ได้ผลสำเร็จสมดังใจปรารถนาจากวัดแห่งนี้กันไม่ขาดสาย

 

จากคำบอกเล่าถึงที่มาของวัดนี้ กล่าวกันว่า ณ ตำบลบางแก้ว มีท่านขุนนามว่า ขุนสมานจีนประชา มีน้องสาว 1 คนชื่อ นางยี่สุ่น วิริยะพาณิชย์ และท่านขุนมีภรรยาอีก 2 คน คือ นางทิม และนางส่อง สืบสมาน เมื่อท่านขุนถึงแก่อนิจกรรม น้องสาว และภรรยาก็มีความตั้งใจจะสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร” แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า “วัดใหม่ขุนสมาน” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทางชลมารคมารค์ผ่านมา และทรงแวะเยี่ยมวัดแห่งนี้ด้วย แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้วัดแห่งนี้เสื่อมสภาพ ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก จนเมื่อปีพ.ศ.2543 พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ ซึ่งเพิ่งบวชได้เพียง 2 พรรษา เห็นสภาพเสื่อมโทรมของวัดจึงเกิดความสังเวช จึงปวารณาตนตั้งจิตอธิษฐาน และลงมือบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จนทำให้วัดใหม่ขุนสมานพัฒนาไปอย่างมาก กลายเป็นวัดที่สวยงามสะอาดตา และเป็นสถานที่ ที่ให้ความสุขทั้งทางโลก และทางธรรมอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ที่นี่ ยังมีตลาดน้ำสำหรับเป็นที่พักผ่อน หาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย รวมถึงจุดถ่ายรูปสวยงาม อย่าง พญานาคที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เรียกว่า มาที่เดียวได้ทั้งความอิ่มใจ อิ่มกาย และสบายตาจริงๆ

 

ที่ตั้ง        หมู่ที่ 11 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

                https://goo.gl/maps/LSpS8BH46t18KSn5A

วัดถ้ำเสือ

 

เดินทางมาถึงภาคตะวันตก ก่อนลงภาคใต้ แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัดถ้ำเสือเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณถ้ำ ตรงเชิงเขา แต่ด้วยจิตศรัทธาของชาวบ้าน และผู้คนที่ได้มากราบไหว้ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาให้เป็นวัดในปี พ.ศ. 2514 โดยบูรณะก่อสร้างเพิ่มเติมไปจนถึงยอดเขา จึงเป็นวัดที่มีความสวยงาม รายล้อมไปด้วยทุ่งนา และธรรมชาติ ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อชินประทานพร พระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกาญจนบุรี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2516 สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล เพราะมีความสูงถึง 9 วา 9 นิ้ว หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอก 9 นิ้ว

ภายในบริเวณวัดประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม ผสมผสานไปด้วยศิลปะไทย จีน และญี่ปุ่น โดยที่นี่ ยังมีบันไดจำนวน 157 ขั้น ความชัน 60 องศา ที่ท้าทายพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่อยากขึ้นไปบูชาหลวงพ่อชินประทานพร แต่หากไม่สะดวกเดินขึ้นด้วยบันได ทางวัดก็มีรถรางไฟฟ้าไว้บริการ เมื่อขึ้นไปถึงด้านบน สักการะองค์หลวงพ่อแล้ว ด้านซ้ายขององค์พระจะเป็นวิหาร และด้านขวาเป็นพระอุโบสถอัฏฐมุข เราสามารถไปกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และชมวิวทิวทัศน์รอบด้านได้ ยังมีพระเจดีย์เกศแก้วปราสาทที่ใช้เวลาในการสร้างถึง 7 ปี เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สีส้มอิฐขนาด 9 ชั้น สูงถึง 75 เมตร โดยด้านหน้าจะมองเห็นแม่น้ำแม่กลองที่ทอดไหลผ่าน

 

บริเวณด้านล่าง เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญประดิษฐานสังขารหลวงปู่ชื่นบรรจุในโลงแก้ว ศาลาประดิษฐานรูปหล่อเจ้าอาวาส หลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อชื่น โดยมีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อสิงห์เป็นพระธุดงค์ที่มาพบถ้ำเสือ และหลวงพ่อชื่นเป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด ส่วนบริเวณถ้ำนั้น แบ่งออกเป็น 4 ห้อง มีห้องโถงใหญ่ประดิษฐานพระประธาน 2 ห้องสำหรับหลวงพ่อชื่นมาบำเพ็ญภาวนา และห้องประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม

 

ที่ตั้ง        ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

                https://goo.gl/maps/iQqeewrJo4nMPK4bA

วัดเจดีย์  หรือ วัดไอ้ไข่

 

จากตะวันตก เดินทางมาสู่ภาคใต้ จากตำนานสู่ศรัทธา และความเชื่อของวัดเจดีย์แห่งนี้ เป็นที่เล่าลือเรื่อง “ไอ้ไข่” ที่ผู้คนจากทุกสารทิศต่างตั้งใจมาเยือนนครศรีธรรมราชเพื่อมาขอพร สร้างความหวัง และกำลังใจ เรื่องราวของเด็กชายวัย 9-10 ขวบ ที่ขอออกติดตามหลวงพ่อทวดพระเถระเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อเดินทางมาถึงวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช หลวงพ่อได้พบกับขรัวทอง ซึ่งเป็นสมภารวัด พูดคุยสนทนากัน และด้วยบารมีของหลวงพ่อที่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในอนาคต จึงได้บอกกับไอ้ไข่ผู้ติดตามว่า “เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิด จะต่อเกิดผลดีศรีสดใส ในภายภาคหน้านั้นต่อไป จะเป็นหลักชัยในทางธรรม" เด็กชายรับคำของหลวงพ่อ และหมายมั่นตั้งใจว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของพระอาจารย์ หลวงพ่อจึงได้ฝากเด็กชายไว้กับขรัวทอง และกลายเป็นเด็กวัดของวัดเจดีย์ตั้งแต่นั้นมา โดยถือเอาคำของหลวงพ่อเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นดูแลวัดอย่างดี เมื่อรู้ว่าอาจจะต้องเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาซึ่งขัดกับสัจจะวาจาที่เคยให้ไว้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำภายในวัด เป็นการปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อให้ดวงวิญญาณของตนยังคงอยู่คอยปกปักรักษาวัดเจดีย์ตลอดไป

 

และเมื่อปี พ.ศ.2526 เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้นคือ พ่อท่านเทิ่ม ได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่รุ่นแรก และพัฒนาวัดเรื่อยมา แต่ในช่วงนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย จึงมีกองร้อยทหารพรานเข้ามาปฏิบัติการที่วัดเจดีย์เป็นการชั่วคราว คืนแรกที่เหล่าทหารมาพักนั้น แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะมีเด็กเที่ยวหยอกล้อ ดึงแขนขา ล้มราวปืน หรือเอาปืนตีศรีษะบ้าง รุ่งขึ้นเหล่าทหารได้เล่าให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านจึงได้เล่าเรื่องราวของไอ้ไข่ พร้อมแนะนำให้ทหารกลุ่มนี้บอกกล่าวกับไอ้ไข่เพื่อขอเข้าพัก พร้อมทั้งแบ่งอาหารที่ทำ ให้เป็นเครื่องเซ่นด้วย เมื่อทหารทำตามคำแนะนำ เหตุการณ์ทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ เหล่าทหารพรานได้นำเรื่องนี้มาเล่าแก่คนภายนอก จนทำให้ชื่อเสียงของไอ้ไข่เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

และในปัจจุบันวัดเจดีย์ได้มีการพัฒนา บูรณะ และสร้างใหม่ ด้วยแรงศรัทธาจากมหาชนทั่วทุกสารทิศที่พากันมาขอพรจากไอ้ไข่ หรือมาแก้บนเมื่อพรที่ขอไว้สมหวัง ทั้งการจุดประทัด หรือกลองยาว ยิ่งมีคนแก้บนมากเท่าไหร่ ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลมามากขึ้นเท่านั้น

 

ที่ตั้ง        หมู่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

                https://goo.gl/maps/N51ygm9GjhAFaNjy7

> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

 

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP  ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html