น้องมีบุญ ชวนร่วมบุญ สายวัดป่า (ใกล้กรุง)

เมื่อเราได้ยินคำว่า “วัดป่า” หลายคนอาจจะนึกถึงวัดที่อยู่ในที่ห่างไกล กันดาร หรืออยู่ในป่าลึก เข้าถึงได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว วัดป่า หรือที่เรียกว่าฝ่ายอรัญวาสี โดยหมายถึง พระที่อยู่ในป่า ห่างจากชุมชน พระภิกษุของฝ่ายนี้ เรียกว่าพระป่า หรือพระธุดงค์ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก ฝึกจิตด้านสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาที่เป็นความรู้ที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่จุดหมายคือหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จึงทำให้การปฏิบัติดังกล่าวจำเป็นต้องหาที่สงบ และห่างไกลต่อการรบกวน พระภิกษุฝ่ายนี้ จึงมักแสวงหาสถานที่ ที่จะก่อให้เกิดสัปปายะแก่ตนเอง เพื่อการบำเพ็ญสมาธิภาวนาจะได้ผล

แต่ในปัจจุบัน ป่า และเมืองไม่ได้อยู่ห่างไกลกันเท่าไหร่แล้ว จากความเจริญของเมืองที่กระจายสู่ทุกพื้นที่ วันนี้น้องมีบุญจึงจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยววัดป่าใกล้กรุง และชวนทำบุญทันใจ ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่สแกน QR Code ก็ได้รับผลบุญในทันทีด้วยค่ะ

ว่าแล้วก็ตามน้องมีบุญออกเดินทางไปยังวัดป่าใกล้เมืองกรุงแห่งแรกกันเลยค่ะ

wat-pa-urban-monastery-04

วัดป่าพุทธาราม

 

หลายคนอาจจะคุ้นชินกับชื่อ “วัดถ้ำสติ” โดยเดิมทีวัดป่าแห่งนี้เป็นที่พำนักสงฆ์ และต่อมาได้กลายเป็นสำนักชี มีแม่ชีชอ้อน พัวเจริญ เป็นเจ้าสำนัก จนกระทั่งปีพ.ศ.2549 ได้นิมนต์พระอาจารย์สุรินทร์ รตนโชโต มาเป็นเจ้าสำนักแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ทางวัดก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจัดตั้งเป็นวัดป่าพุทธาราม

ในบริเวณถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินแกะสลักขนาดใหญ่ คือพระพุทธรูปปางธัมมจักกัปปวัตนสูตร โดยเป็นเนื้อเดียวกับตัวถ้ำ มีความสวยงามเป็นอย่างมาก นำต้นแบบมาจากพระพุทธรูปปางธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ประเทศอินเดีย แล้วแกะสลักด้วยศิลปะร่วมสมัยแบบทวารวดีผสมกับรัตนโกสินทร์ ส่วนบริเวณพระบาทวางประทับบนดอกบัวบาน นำแบบมาจากหลวงพ่อขาว วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม จากนั้นเริ่มขุดเจาะผนังถ้ำซึ่งเป็นหินปูนให้เป็นซุ้ม สูง 4 เมตร 25 เซนติเมตร เมื่อขุดเจาะไปถึงกึ่งกลางซุ้มพบว่าเป็นหินแกรนิต จึงสกัดตัวองค์พระพุทธรูป สูง 3 เมตร 9 เซนติเมตร จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ใช้เวลา 6 ปี โดยพระพุทธรูปหินแกะสลักนี้มีพระนามว่า พระพุทธะมหาคันธาราช หรือพระนั่งเมืองแก้ว เป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักแบบลอยตัวติดกับตัวถ้ำแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 2 ของโลก ผู้คนมักนิยมมากราบไหว้ขอพร ด้วยการก้มกราบระหว่างพระบาท จากนั้นลอดใต้พระเพลา(ขา) เวียนขวา 3 รอบเพื่อให้สมหวังดังปรารถนา ภายในถ้ำยังมีพระนอนในบริเวณโถงเล็กๆ อีกด้วย

ภายในวัด สงบร่มรื่น ไปด้วยต้นไม้ต่างๆ นานา สมเป็นวัดป่า แม้จะอยู่ใกล้เมืองกรุง

 

ที่อยู่        104 หมู่ 9 บ้านห้วยตาบุญจันทร์ ต.นางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

              https://goo.gl/maps/1pQnsBQrNng94Uii7

วัดป่ามหาไชย

 

วัดแห่งนี้เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย โดยเป็นวัดปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ฉันมื้อเดียวตามแบบอย่างพระกรรมฐานหรือพระป่าทั่วไป ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2536 โดยผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาร่วมบริจาคที่ดิน คือนายบุญธรรมกับนางอำไพ ทองทิอัมพร และนางปทุม อนงค์พงษ์พันธ์ มีผู้ดำเนินการก่อสร้างคือ พระมหาประกอบ ธมฺมชีโว ที่ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในการสร้างเสนาสนะสำหรับเป็นที่พักสงฆ์และบำเพ็ญกุศล จนเมื่อพ.ศ.2555 วัดป่ามหาไชยได้รับการจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสมุทรสาคร (ธรรมยุต) แห่งที่ 1

 

ภายในบริเวณวัด ประกอบไปด้วยอาคารเสนาสนะ คือ อุโบสถ กว้าง 19 เมตร ยาว 58 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 29 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2533 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน 19 หลัง เป็นอาคารไม้ อาคารเสนาสนะอื่นๆ ได้แก่ หอระฆัง 1 หลัง และศาลากรรมฐาน 1 หลัง โดยปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ พร้อมพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร

 

วัดแห่งนี้ยังมีการจัดงานประเพณีผ้าป่าวันที่ 12 เมษาเป็นประจำทุกปี เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2555 ปัจจุบันพระครูสิริสุตวราภรณ์ (พระมหาประกอบ ธมฺมชีโว) เป็นเจ้าอาวาส นับเป็นวันป่าอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กรุงมากๆ

ที่อยู่        50/3 หมู่ที่ 7 ทางหลวงชนบท สค.2037 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

              https://goo.gl/maps/YLER8wcEjwuuMLEY6

วัดป่ามหาวีรวงศ์

 

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเขาใหญ่ เป็นที่ตั้งของวัดป่ามหาวีรวงศ์ วัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่ได้รับการประกาศให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2562 โดยจุดประสงค์ของการสร้างวัดแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในโอกาสวัดชาตกาลครบ ๑๐๑ ปี ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรมหาเถร ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พระมหาเถระผู้เป็นศิษย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มีปฏิปทาสัมมาปฏิบัติเคร่งครัดตามวงศ์แห่งพระกรรมฐาน จนได้รับการถวายสมญานามว่า “พระกรรมฐานกลางกรุง” เป็นรัตตัญญูเจริญอายุวัฒนมงคล ๑๐๑ ปี ยาวนานถึง 5 รัชกาล

ด้วยจิตศรัทธาของคณะคุณธนาภา ปัฐพาณิชย์โชติ และคุณชลทิพย์ สงวนกิจวิบูลย์ ที่บริจาคที่ดินถวายแก่วัดสัมพันธวงศ์เพื่อสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ถวายเป็นถาวรมหาเถรบูชา จากสภาพที่ดินเดิมที่เป็นสวนผลไม้ ที่ในปัจจุบันยังมีผลไม้ยืนต้นหลายชนิดปรากฎอยู่ เช่น มะม่วง ขนุน กระท้อน แต่ถูกทิ้งให้เป็นป่ารกชัฏ โดยรอบของที่ดินไม่มีบ้านเรือน จึงเงียบสงบ ร่มรื่น แต่สามารถออกรับบิณฑบาตได้สะดวก เหมาะสมที่จะสร้างเป็นวัด

ภายในวัดประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธปฏิมาประธาน ปางนาคปรก หินหยกขาวจากประเทศกรีก โดยได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ ได้ทรงมีพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อบรรจุลงในเกศขององค์พระประธาน และประทานพระนามองค์พระประธานปางนาคปรกว่า "พระพุทธวิสุทธิวีรนาถศาสดา" แปลว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาผู้มีความเพียรอันบริสุทธิ์และเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์” ตามหนังสือของสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

ที่อยู่        118 หมู่ที่ 7 บ้านโคกกระชาย ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

              https://goo.gl/maps/ZMQWXHXdcF1tnd5z7

วัดป่าสว่างบุญ

 

วัดป่าสว่างบุญ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย หรือที่นักท่องเที่ยวมักเรียกว่า วัดพระเจดีย์ 500 ยอด ซึ่งก่อตั้งวัดเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2534 สร้างโดยพระครูวิสุทธิ สุตวัฒน์ มีที่ดินที่ใช้สร้างวัด เป็นของโยมพ่อพระครูวิสุทธิ สุตวัฒน์

จุดเด่นของวัด คือ มหาเจดีย์สีทองนับรวมกันได้ 500 ยอด มีชื่อเต็มว่า พระมหารัตนโลหะเจดีย์ศรีศาสนโพธิสัตว์สว่างบุญ มีเจดีย์องค์ประธาน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 50 เมตร และมีทั้งหมด 9 ชั้น โดยมีบริวาร 500 องค์ เรียงรายลดหลั่นกันลงมารอบทิศตัวองค์เจดีย์ประธาน และผนังด้านในของเจดีย์องค์ประธานประดับกระจกทับทิม มีภาพพระธาตุเจดีย์สำคัญของประเทศไทยประดับไว้ด้านบนภายในองค์เจดีย์ โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศเนปาล อินเดีย และศรีลังกา มาประดิษฐานภายใน

ที่อยู่        ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

              https://goo.gl/maps/2bfHHqFF2SpLJNi46

วัดนาป่าพง

 

วัดนาป่าพง (พุทธวจนสถาบัน) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยที่ดินที่ใช้ในการสร้างวัดเป็นผืนนาที่มารดาของพระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาส ยกถวายหลังจากพระอาจารย์กลับจากการออกธุดงค์ได้มาใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญภาวนา และพำนักแต่เพียงผู้เดียว โดยจัดตั้งวัดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

 

วัดแห่งนี้ มีชื่อเสียงจากที่พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล ได้นำคำสอนตามพระธรรมและพระวินัยจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามาทำให้เข้าถึง เข้าใจได้โดยง่าย ผลิตสื่อธรรมะในรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น ซีดี คลิปวิดีโอ คลิปเสียง โดยใช้คำว่า “พุทธวจน” ที่เป็นหลักธรรมคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำที่แต่งขึ้นใหม่ หรือคิดขึ้นภายหลัง แต่เป็นธรรมะที่เกิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก  และหากพุทธศาสนิกชนท่านใด ต้องการศึกษาเกี่ยวกับ “พุทธวจน” ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ของทางวัดที่ http://watnapp.com

ที่อยู่        29 หมู่ 7 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

              https://goo.gl/maps/HctKbmuhtj5kzhrAA

วัดป่าชัยรังสี

 

วัดป่าชัยรังสี เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ที่มีศิลปะการก่อสร้างอันสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์  โดยเมื่อปี พ.ศ. 2526 พระอาจารย์จันทร์ ครวสโก เจ้าอาวาสได้ออกแบบวัดโดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนามาตกแต่ง เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้าที่สร้างเป็นพญานาคหกเศียร รั้วเป็นพญานาคขนาดใหญ่โอบล้อมโบสถ์ ที่ได้พระราชทานมงคลนามว่า “อุโบสถพระพุทธภูมิรังสี” โดยโบสถ์มีสองชั้น ชั้นล่างก่อด้วยหินขนาดใหญ่ ส่วนชั้นบนเป็นไม้เนื้อแข็ง มีหลังคาซ้อนหลั่นกัน 3 ชั้น ยอดจั่วประดับด้วยไม้กาแลแทนช่อฟ้า เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธชัยรังสีมงคลทศพลมหากรุณาสาคร หลังพระประธานในอุโบสถประดับด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่ แกะสลักเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์แผ่กิ่งก้านใบ ด้านซ้ายแกะสลักเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนประสูติ และด้านขวาเป็นตอนปรินิพพาน ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดเมื่อ 30 มกราคม พ.ศ. 2530

 

ภายในวัด สงบร่มรื่น สมเป็นวัดป่า แม้จะอยู่ในอำเภอเมืองสมุทรสาครก็ตาม

ที่อยู่        103 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000

              https://goo.gl/maps/BFxjvTE7BmjJfBXW7

> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

 

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP  ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html