น้องมีบุญ ชวนไหว้พระ 5 วัดใกล้ BTS แสนสุขใจ

รถไฟฟ้ามาพาทำบุญ วันนี้น้องมีบุญขอชวนเพื่อนๆ ออกเดินทางไปด้วยกัน ขึ้น BTS ตระเวนไหว้พระ ทำบุญทันใจ ให้รับผลบุญไวเหมือนรถไฟฟ้า แถมยังเป็นการเดินทางที่ไม่ต้องเจอรถติด วันเดียวก็สามารถทำบุญได้หลายวัด ว่าแล้วก็ไปซื้อบัตรรถไฟฟ้าแล้วเดินทางกันเลยดีกว่า

donation-temple-nearby-bts-03

วัดโพสพผลเจริญ

 

เริ่มกันที่สถานีรถไฟฟ้าคูคต ไม่ไกลจากสถานี เราจะพบวัดราษฎร์เก่าแก่ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436  โดยมีนายขุน ตำบลฉุน และครอบครัว เป็นผู้ถวายที่ดินในการสร้างวัด ซึ่งในสมัยก่อนมีชื่อเดิมว่า “วัดลาดกระแซง” และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไพสพผลเจริญ” จนสุดท้าย จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพสพผลเจริญ” ดังที่ใช้ในปัจจุบัน โดยวัดแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2517

 

ภายในบริเวณวัด มีอุโบสถที่ขึ้นชื่อเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศรีทศพล องค์พระประธาน และตู้พระไตรปิฎก วัดแห่งนี้ ยังเป็นวัดที่มีศาลาการเปรียญใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย

 

หากมีโอกาสได้แวะมา อย่าลืมมาลองให้อาหารน้องเต่าอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามีเต่านับพันตัวอาศัยอยู่ในอุทยานเต่าของทางวัด ทำให้ที่นี่เป็นวัดที่ครอบครัว พ่อ แม่ ลูกชอบมาทำบุญร่วมกัน เพราะได้ทั้งทำบุญ ทำทาน และยังได้รับความเพลิดเพลินกลับไปด้วย

 

ที่อยู่        ถ.ลำลูกกา ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130

               https://goo.gl/maps/H9ksyM5HFyFDNK4d7

วัดบางบัว

 

ขึ้นรถไฟฟ้าต่อมา ถึงสถานีรถไฟฟ้ากรมทหารราบที่ 11 อาจจะต้องต่อรถอีกสักนิด จะถึงวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2380 สร้างโดย สี่พระยา คือ พระยาศรี พระยาเพ็ชรปราณี พระยาพุกภักดี และพระยาราชหลักเมือง แรกเริ่มเดิมทีนั้นชาวบ้านเรียกว่า “วัดลาดน้ำเค็ม” หลังจากนั้นได้มีการบูรณะวัดเรื่อยมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2518

 

ภายในบริเวณวัด ประกอบไปด้วยอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เป็นอุโบสถหลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา ประตูหน้าต่างทรงมงกุฎ ตกแต่งลวดลายเลียนแบบศิลปะอยุธยา ทางเดินรอบอุโบสถ และกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 49 นิ้ว พระพุทธรูปสมัยอู่ทองหน้าตักกว้าง 53 นิ้ว และพระพุทธชินราชจำลองหน้าตักกว้าง 45 นิ้ว พระพุทธรูปปางห้ามญาติ นาคปรก สมัยสุโขทัย รวม 7 องค์ นอกจากนั้น ยังมีหอสวดมนต์ โรงเรียนปริยัติธรรม หอระฆัง ศาลาการเปรียญ มณฑป พระพุทธบาทจำลอง และมีศาลาบำเพ็ญกุศล 6 หลังตั้งอยู่รายล้อมอุโบสถ และที่นี่ เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีบริการรับฌาปนกิจสัตว์เลี้ยง ส่งเพื่อนรักตัวน้อยเดินทางเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

 

ที่อยู่        50 พหลโยธิน 46 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

               https://goo.gl/maps/WMDh2Fu5nmpUPocV6

วัดทัศนารุณสุนทริการาม

 

Next Station … สถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกับ “วัดตะพาน” ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของวัดทัศนารุณสุนทริการาม ที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ โดยตามประวัติของวัดไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่มีหนังสือตราสารรับรองสถานะวัดเมื่อปี พ.ศ.2320  โดยจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และอายุของต้นโพธิ์ที่ปลูกในบริเวณวัด ก็มีอายุราว 150 ปี (ในปี พ.ศ.2509) จึงคาดเดาว่าน่าจะสร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงธนบุรี หรือต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งเมื่อเทียบเคียงลักษณะของอุโบสถหลังเก่า กับอุโบสถของวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี พบว่ามีคล้ายคลึงกันอย่างมาก และน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับวัดป่า ที่อยู่บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว), วัดไพรงาม (วัดจอมสุดาราม), วัดใหม่สุคันธาราม, วัดโบสถ์สามเสน, วัดเบญจมบพิตรฯ, วัดดุสิต (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) และวัดอภัยทายาราม(วัดมะกอก)

 

ชื่อวัดตะพานที่เป็นชื่อเดิมนั้น มีที่มาจาก “ตาผ่าน” ผู้ซึ่งบริจาคทรัพย์ในการสร้างวัดแห่งนี้ จึงได้ตั้งชื่อวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างว่า วัดตาผ่าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการออกเสียงชื่อได้เลือนเป็น วัดตะพาน หรือบ้างก็กล่าวว่าเพราะบริเวณหน้าวัดมีสะพาน จึงเรียกว่า วัดสะพาน

 

สำหรับชื่อวัดทัศนารุณสุนทริการามนั้น เกิดจากพลังศรัทธาจากคหปตานี “หม่อมหรุ่น” ที่ได้บริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากในการบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถ วิหาร และเสนาสนะสงฆ์ รวมถึงบริจาคที่ดินสวนบริเวณบางปะกอกให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 65 ไร่ 24 ตารางวา เพื่อให้เก็บผลประโยชน์มาทำนุบำรุงวัด  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์(ถม) วัดมกุฏกษัตริยาราม เห็นว่าหม่อมหรุ่นได้ทำคุณประโยชน์มากมาย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน รวมถึงให้วัดตะพานมีชื่อที่ไพเราะขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดทัศนารุณสุนทริการาม"

 

ที่อยู่      51 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

             https://goo.gl/maps/nxLxEnvaMbeKETie7

ถึงสถานีสยาม ไม่ต้องเปลี่ยนขบวน สามารถเดินทางต่อไปกับขบวนเดิมได้เลย

 

วัดธาตุทอง

มาถึงสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย เดินลงทางออกที่ 3 ถึงวัดเก่าแก่ใจกลางเมือง วัดธาตุทอง ที่มีสถานะเป็นพระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2481 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2483

ในสมัยก่อน พื้นที่แห่งนี้มี 2 วัด คือ วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่าง โดยวัดหน้าพระธาตุตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่หน้าวัดมีพระเจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สถาปนาโดยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งอโยธยา ส่วนวัดทองล่างนั้น เล่าสืบต่อกันว่า เป็นสวนผลไม้ของปู่ ย่า ตา ยาย ของนายทอง ได้รับมรดกจากวงศ์สกุล และพื้นที่กลางสวนมีต้นโพธิ์  นายทองมีความกังวล เพราะต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ประจำวัด ไม่อยากให้อยู่ในบริเวณบ้าน ครั้นจะโค่นทิ้งก็กลัวจะเกิดอันตราย หายนะแก่คนในครอบครัว จึงได้บริจาคที่ดินส่วนนั้นให้เป็นวัดเล็กๆ เมื่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ก็ยังมีสมภารชาวรามัญรูปหนึ่ง นามว่า “กะทอ” โดยคำว่า ‘กะ’ หมายถึง ปลาตะเพียน และ ‘ทอ’ แปลว่า ทอง ชาวบ้านแถวนั้นจึงเรียกท่านว่า “สมภารทอง”  ทั้งสมภารทอง และนายทอง ต่างก็ช่วยทำนุบำรุงวัด จัดสร้างอุโบสถ และเสนาสนะ ต่อมาทั้ง 2 ท่านก็ได้นึกถึงนิมิตหมาย คือ 1. ต้นโพธิ์ 2. นายทองผู้บริจาคที่สร้างวัด 3. สมภารทอง จึงพากันตั้งชื่อว่า "วัดโพธิ์สุวรรณาราม"  เมื่อนายทองถึงแก่กรรม บุตรหลานก็ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ภายหลังชาวบ้านจึงพากันเรียกว่าวัดทอง แต่ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีวัดทองหลายแห่ง จึงเติมคำเข้าไปเป็น “วัดทองล่าง” คู่กับวัดทองบน

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2480 รัฐบาลต้องการที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างเป็นท่าเรือกรุงเทพ วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่างซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงถูกเวนคืนที่  รัฐบาลได้ชดเชยเงินให้จำนวนหนึ่งเพื่อไปรวมกับวัดอื่น หรือสร้างวัดใหม่ ทางคณะสงฆ์จึงมีมติเลือกสถานที่ตั้งอารามในปัจจุบัน ถือกรรมสิทธิ์เป็นที่ดินของวัดธาตุทอง โดยคณะกรรมการได้จัดการย้ายเสนาสนะถาวรวัตถุ วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่างมาสร้างปลูกรวมกันที่ตำบลคลองบ้านกล้วย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงนำมงคลนาม ทั้ง 2 วัดนี้มารวมกัน ประทานนามใหม่ว่า "วัดธาตุทอง"

 

ที่อยู่        1325 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

                https://goo.gl/maps/teSFXUEhdyucjMUw6

วัดบางนาใน

มาถึงสถานีสุดท้ายของวันนี้ สถานีรถไฟฟ้าบางนา มาชมวัดเก่าแก่ที่เดิมทีชื่อว่า “วัดสว่างอารมณ์” มีสถานะเป็นพระอารามหลวง สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2433 โดยนางสุ่น ได้ถวายที่ดินให้กับวัด และต่อมา นายทัด ได้รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธา ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งวัด พร้อมกับสร้างอุโบสถ จนเมื่อแล้วเสร็จ หม่อมหลวงศิริได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานที่พัทธสีมา เมื่อพ.ศ.2443

 

ภายในวัด ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 8 ประเทศ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่มาจากประเทศไทย ได้ประทานมาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และอีก 7 ประเทศนั้น มาจากประเทศศรีลังกา, อินเดีย, เนปาล, พม่า, จีน, ลาว และภูฏาน ภายในเจดีย์มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องราวทศชาติชาดก นอกจากนั้นยังมีศาลพระนเรศวร สำหรับผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้ขอพร

วัดแห่งนี้ มีสถานฌาปนกิจสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเพื่อนรักเดินทางเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน

 

ที่อยู่        3322 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260

                https://goo.gl/maps/VA2jkhQCzoqJtneE9

> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

 

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP  ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html