ซาบีน่ายุคดิจิทัล กับโอกาสทางธุรกิจ ในจังหวะที่ใช่

เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว และไปไกลกว่าที่คิด การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จึงต้องทำในจังหวะที่ใช่ “ซาบีน่า”ผู้นำตลาดชุดชั้นในแบรนด์ไทย โดย คุณบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ซาบีน่า จํากัด (มหาชน) ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในองค์กร ช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไว้อย่างน่าสนใจ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

จาก OEM สู่แบรนด์ SABINA


ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะต้มยำกุ้ง เงินบาทอ่อนค่ารุนแรง ซาบีน่าอาศัยจังหวะนี้เบนเข็มไปเป็น OEM รับผลิตให้แบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศเป็นหลัก จนกระทั่งเวลาผ่านไป ปัจจัยและตัวแปรเปลี่ยน รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น การผลิตให้แบรนด์ต่างประเทศ เริ่มไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ ผลกำไรอยู่ที่เพียง 2 - 3% เท่านั้น และหากเสนอราคาสูงไป เจ้าของแบรนด์ก็พร้อมจะเปลี่ยนไปจ้างรายอื่นทันที ซาบีน่าจึงต้องปรับกระบวนทัพ หันมาทำแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจัง จนกระทั่ง ปี 2016 – 2017 ซาบีน่าลดสัดส่วนการทำ OEM ลงเหลือ11% แต่สามารถสร้างผลกำไรได้เท่ากับช่วงที่ทำ OEM ที่ 50%


เมื่อโมเดลธุรกิจเปลี่ยนจาก OEM มาทำแบรนด์ของตัวเอง ก็ต้องทำการตลาด ต้องมีหน้าร้าน มีพนักงานขาย และต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง สร้างสมดุลระหว่างการผลิต และการขายให้ได้ โดยในปี 2019 ซาบีน่าทำกำไรขั้นต้นได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงเช่นกัน ส่วนปี 2022 เป็นช่วงที่ประเทศฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ซาบีน่ามีกำไรขั้นต้นน้อยลง แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ในทุกหมวด ทำให้มีกำไรสุทธิมากกว่าปี 2019 ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ ค่าใช้จ่ายลดลง มีกำไรสุทธิมากขึ้น

ใช้ทรัพยากรน้อยลง ขายได้มากขึ้น


สินค้าที่มีเรื่องไซส์ คัพ และสีที่แตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องผลิตเพื่อรองรับลูกค้าที่มีหลากหลาย เดิมที SABINA มี Inventory สูงถึง 600 วัน ต่อมาลดลงมาได้เหลือ 255 วัน แต่ก็ประสบปัญหาขาดสี ขาดไซส์ จนต้องปรับเพิ่มเป็น 328 วัน เพื่อไม่ให้ยอดขายตก แต่ปัจจุบันสามารถลด Inventory ลงมาอยู่ที่ 264 วัน โดยไม่พบปัญหา เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งทุกครั้งที่ใส่ข้อมูลเพิ่มลงไป ตัว AI ก็จะเรียนรู้มากขึ้น วิเคราะห์หาจุดเหมาะสมได้แม่นยำขึ้น ทำให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ในระดับที่ใช้เงินทุนไม่มากเกินไป


นอกจากนี้ยังมีการปรับคัพ จาก A B C D E ที่ต้องบวกกับขนาดรอบใต้อก ไปเป็น S M L XL XXL ให้ลูกค้าเลือกง่ายขึ้น การบริหารจัดการสต็อกก็สะดวกขึ้น รวมถึงปรับกระบวนการทำงาน จากเดิมพนักงานแต่ละคน ต้องนั่งเย็บทีละตัว ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไปจนถึงพร้อมเข้าโครง ซึ่งใช้เวลานาน และเกิดคอขวดในขั้นตอนที่ทำยาก ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแบบใหม่ โดยชุดชั้นใน 1 ชิ้นจะผ่านขั้นตอนการเย็บไหลไปทีละขั้น ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างรวดเร็ว พนักงาน 1 คน จะเย็บประมาณ 2 – 3 ขั้นตอน แล้วแต่ความยากง่าย ใช้คนน้อยลงเกือบครึ่ง และยังได้ QC งานระหว่างการส่งต่อไปในตัว ยอดขายเพิ่มขึ้นจากพันกว่าล้าน เป็นสามพันล้าน พนักงานมีทักษะเพิ่มขึ้น หนึ่งคนทำได้หลายงาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ดึกทำโอที มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น


การตรวจสอบคุณภาพ เปลี่ยนมาตรวจตามสถิติ ช่วยลดเวลาและคนทำงานลง คนที่หลือสามารถนำไปทดแทนในส่วนงานที่ขาดคนได้ บางตำแหน่ง เช่น Merchandiser ที่เป็นเหมือนผู้ประสานสิบทิศ ทั้งติดต่อลูกค้า ซัพพลายเออร์ และแผนกต่างๆ  ก็สามารถพัฒนาไปเป็นนักการตลาด นักวางแผน หรือหัวหน้าแผนกต่างๆ ได้


การตั้ง KPI เดิมที ต่างฝ่ายต่างตั้งของตัวเอง งานมักจะไปคอขวดอยู่ที่บางแผนก หลังจากเปลี่ยนมาใช้ KPI ร่วมกัน ทุกแผนกต้องทำในสิ่งที่มีงานของลูกค้ารออยู่ สามารถลดงานที่ทำเกินความจำเป็นลงได้ ของเหลือน้อยลง เงินทุนไม่จม ตรวจสอบผ่านสต็อกกลางได้ง่าย


คุณบุญชัยแชร์ให้ฟังว่า การลงทุนต้องดูจังหวะ บางครั้งเทคโนโลยียังไปไม่ถึงขั้นที่จะนำมาใช้กับงานชิ้นเล็กๆ  การใช้คนทำจะเหมาะกว่า แต่เมื่อคนหายาก และเครื่องจักรใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ได้ ก็จะเน้นลงทุนในเครื่องจักรที่ทันสมัย ผลิตของที่ทำได้ยากและขายได้ราคา เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ส่วนงานที่ทำได้ง่าย การจ้างผลิตจะถูกกว่า และช่วยลดการลงทุนในเครื่องจักรที่ไม่จำเป็นได้

เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล


การบริหารจัดการโรงงานที่มีหลายแห่ง ระบบงานต่างๆ ต้องอัปเดตเรียลไทม์ให้ทุกที่รับรู้ตรงกัน ซาบีน่าจึงพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เอง เพราะรู้ความต้องการที่แท้จริง ทุกโรงงาน และทุกหน่วยงาน สามารถนำไปวางแผนการทำงานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นงานในแผนก ระหว่างแผนก หรือระหว่างโรงงาน รวมถึงกำหนดวันที่แน่นอนให้กับซัพพลายเออร์ได้ โดยการทำงานจะเน้นดูหน้างานจริง และตรวจงานจริง จุดไหนที่แต่ละโรงงานทำได้ดี ก็จะนำมาแชร์กัน


ช่วงโควิดใช้การขายทุกช่องทางที่ทำได้ รวมถึงทำไลฟ์สดขายของเอง ค่าการตลาดลดลง แต่ประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งกลุ่มเป้าหมายได้ชัดขึ้น ไม่ต้องกระจายของไปทั่วประเทศเพื่อรอขายเฉพาะกลุ่ม


ข้อมูลการทำงาน จากที่เก็บอยู่ในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่เปิดดู ก็ไม่รู้ พอเปลี่ยนมาขึ้นจอ Dashboard ทุกคนเห็นความคืบหน้าในแต่ละขั้นตอนแบบเรียลไทม์ รู้ว่างานอยู่ที่ขั้นตอนไหน สถานะเป็นอย่างไร รู้ยอด รู้เงิน รู้ว่าต้องทำโอทีหรือไม่ โดยผู้จัดการโรงงาน ทำงานคู่กับฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อจะได้รู้ทั้งเรื่องคน เรื่องงาน และสอนให้พนักงานคำนวณรายได้ของตัวเองเป็น ช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงาน


ในส่วนของหน้าร้าน เดิมทีหากสินค้าขาด พนักงานขายจะเป็นคนสั่ง ต่างคนต่างอยากมีของเก็บไว้ขาย ทำให้มีสต็อกเกินจำเป็น ปัจจุบันใช้การรวมศูนย์ ทุกร้านเห็นสินค้าในสต็อกกลาง ขายของที่ไม่มีในร้านได้ ที่ไหนขายได้ก่อน เอาของไปก่อนสามารถกดทำรายการส่งของเพิ่มเติมไปให้ลูกค้าที่บ้านได้ ในทางกลับกัน ลูกค้าอาจมาลองสินค้าที่หน้าร้าน แต่ให้ส่งของออนไลน์ ก็ได้เช่นกัน หน้าร้านจึงไม่จำเป็นต้องใหญ่ ไม่ต้องมีหลายแห่ง ไม่ต้องจ้างคนเยอะ การขนส่งถูกลง ค่าน้ำมันน้อยลง หลายๆ อย่างส่งไปยังปลายทางผ่านระบบขายตรงได้เลย


สินค้าที่เป็นของใหม่ ต้องเตรียมทำล่วงหน้า โดยทดลองนำไปวางหน้าร้านเพื่อสำรวจตลาด ถ้ามีคนสนใจ จะมีพนักงานแนะนำสินค้าให้ หากมีสัญญาณที่จะขายดี ก็สามารถผลิตป้อนตลาดได้เลย ไม่เสียโอกาสในการขาย หรือสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชุดชั้นในสำหรับแม่ให้นมบุตร ชุดชั้นในสำหรับคนที่ผ่าตัดเต้านม อาจไม่มีวางขายหน้าร้าน แต่จะมีสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าดู และสั่งซื้อออนไลน์ได้

ทำวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันหน้า


ซาบีน่าทำเรื่องใส่สบายมาตั้งแต่ปี 2018 ชุดชั้นในจะเป็นแบบไม่มีโครงเหล็ก ใช้นวัตกรรมทันสมัย ขั้นตอนการเย็บน้อยลง ไม่ต้องใช้ยางยืด ขายได้ราคาสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง ที่สำคัญเรื่องโครงเหล็กมีประเด็นว่าอาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมใต้ แต่ยังไม่มีการทำวิจัยที่ชัดเจน ในอนาคต หากมีการยืนยันว่าโครงเหล็กไม่ดี ซาบรีนาก็ไม่กลัว เพราะได้ปรับตัวมาก่อนหน้าแล้ว


เรื่อง ESG จะเน้นในสิ่งที่เป็นตัวตนของแบรนด์ เช่น การจับมือกับ “อินทรี อีโคไซเคิล” ทำแคมเปญเปลี่ยนชุดชั้นในเก่าเป็นพลังงานสะอาด โดย อินทรี อีโคไซเคิล รับชุดชั้นในที่คนต้องการโละทิ้งไปเผา  นอกจากนี้ยังทำนวัตกรรมแผ่นฟองน้ำสำหรับให้ผู้หญิงใส่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเอง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในระยะลุกลามได้ เป็นต้น


คุณบุญชัย ได้ทิ้งท้ายผ่านคำพูดของ Charles Darwin ไว้ว่า “ไม่ใช่คนฉลาด หรือคนแข็งแรงจะอยู่รอด คนที่อยู่รอดคือคนที่เปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา” ทั้งหมดนี้ไม่แปลกใจเลย ทำไม SABINA ถึงได้รางวัลทั้งทางด้านนวัตกรรม ด้านความยั่งยืน รวมถึงด้านนักลงทุนสัมพันธ์อีกด้วย


ที่มา: หลักสูตร Digital Smart Manufacturing เพื่อ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สู่ความยั่งยืน ESG ด้วย loT