ทำไมเราถึงต้อง “แบรนด์ดิ้ง” ตัวเอง?

เรื่อง: ครูออน ญาณิมา ศรีมังคละ


Hi-Light:

  • แบรนด์ดิ้งทำให้คุณน่าเชื่อถือ (Credibility) มันคือพอร์ตโฟลิโอซึ่งพรีเซนต์ความสามารถโดยที่คุณไม่ต้องเหนื่อยออกแรง “สิบปากเล่าดีกว่าเราพูด”  เพราะทุกคนต่างชี้เป้าเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณเป็นตัวจริงในด้านนี้ ซึ่งดูดีกว่าการอวยตัวเองเป็นไหนๆ
  • ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล สิ่งที่เราโพสต์ แชร์ คอมเม้นท์ ในโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนภาพสะท้อนตัวเราด้วย ฝ่ายบุคคลของบางบริษัทถึงกับมีการส่องโปรไฟล์ผู้สมัครว่ามีทัศนคติอย่างไร ถ้ารับมาแล้วจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่


ให้เวลา 3 วินาที ถ้านึกถึงตัวคุณเอง...คุณนึกถึงอะไร?


ถ้าคำบรรยายความเป็นตัวคุณพรั่งพรูออกมาจนเขียนลงกระดาษ A4 ไม่หมด แสดงว่าคุณเริ่มต้นมาถูกทางแล้ว


แต่ถ้าคุณรู้สึกเหมือนตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ  ไม่รู้จะอธิบายยังไง  ไม่ต้องตกใจไป คุณมีเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันอีกไม่น้อยทีเดียว


คนส่วนใหญ่เมื่อเจอคำถามนี้เข้าไปจะเกิดอาการไปไม่ค่อยถูก เพราะไม่เคยคิดถึงตัวเองในแง่มุมนี้มาก่อน อาจเพราะทำตามที่ได้รับมอบหมายจนเคยชินหรือยังไม่มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจน


แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น เมื่อนึกถึงโน้ส อุดม ชมพู่ อารยา หรือสตีฟ จ็อบส์ คุณนึกถึงอะไร


จะเห็นได้ว่า ทั้งความสามารถและรูปลักษณ์ บุคลิก ท่าทาง คำพูดติดปาก ตลอดจนน้ำเสียง ปรากฏแจ่มชัดในจินตนาการและคำตอบที่ได้มักจะออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นเพราะบุคคลเหล่านี้มีแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจน โดดเด่น ประสบความสำเร็จในแวดวงของเขา


แล้วคนธรรมดามนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ จำเป็นต้องมี Personal Branding หรือไม่? วันนี้ถ้าคุณอยากสำเร็จ นี่คืออาวุธลับที่จะช่วยคุณได้


Personal Branding จะทำให้คุณโดดเด่น (Identity) สปอตไลท์แห่งโอกาสกำลังกวาดแสงเพื่อหาคนที่คู่ควรอยู่เสมอ แต่น่าเสียดายที่เจอแต่ความมืดมนเพราะทุกคนเหมือนกันไปหมด  ดีนะแต่คือดีตามมาตรฐาน แบบนี้ก็เลือกยากไม่รู้จะหยิบยื่นโอกาสให้ใคร  แต่ถ้าคุณเป็นมือวางอันดับหนึ่งในสาขาอาชีพ  สปอตไลท์ทุกดวงจะโฟกัสไปที่คุณทันที โอกาสจะพุ่งหาคุณด้วยความเร็วแสงจนคุณต้องเลือกว่าจะรับงานไหนก่อนดี


อย่าเพิ่งถอดใจไปหากความสามารถคุณยังไปไม่ถึงจุดนั้น  ความเจิดจรัสอีกอย่างที่คุณสร้างได้ก็คือภาพลักษณ์  อ๋อ...คุณเมย์ฝ่ายขายที่แต่งตัวเก๋ๆ ผมลอนๆ น่ะเหรอ  แบบนี้เรียกว่าเข้าตากรรมการ แต่งกายให้ดูดีพิถีพิถันเหมาะสมกับหน้าที่การงาน ไม่เว่อร์วังแต่มีพลังแบบมืออาชีพ  ทั้งนี้ภาพลักษณ์ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม แต่รวมถึงการวางตัวในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย คงไม่ค่อยน่ายินดีนัก  ถ้าใครถามถึงแล้วจะพ่วงมาด้วยคำว่า  อ๋อ.. คุณ xxx ที่มาสายเสมอไง  อย่างนี้นอกจากแสงจะริบหรี่แล้วยังเข้าสู่ภาวะหลุมดำเลยล่ะค่ะ


แบรนด์ดิ้งทำให้คุณน่าเชื่อถือ (Credibility) มันคือพอร์ตโฟลิโอซึ่งพรีเซนต์ความสามารถโดยที่คุณไม่ต้องเหนื่อยออกแรง “สิบปากเล่าดีกว่าเราพูด” เพราะทุกคนต่างชี้เป้าเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณเป็นตัวจริงในด้านนี้ ซึ่งดูดีกว่าการอวยตัวเองเป็นไหนๆ  ยิ่งในยุคสังคมรีวิวที่ผู้คนเข้าถึงกูเกิ้ลง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว ถ้าผู้คนพูดถึงคุณในทางที่ดีมากเท่าไร คุณจะมีแต้มต่อนำหน้าคู่แข่งในเลเวลเดียวกันและเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่จะได้รับการพิจารณา


หรือบางทีไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล สิ่งที่เราโพสต์ แชร์ คอมเม้นท์ ในโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนภาพสะท้อนตัวเราด้วย ฝ่ายบุคคลของบางบริษัทถึงกับมีการ ส่อง โปรไฟล์ผู้สมัครสักหน่อยว่ามีทัศนคติอย่างไร ถ้ารับมาแล้วจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่

มาถึงบรรทัดนี้บางคนอาจตกใจนี่จะเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า อย่าลืมว่าเฟซบุ๊กคือ Social network  เมื่อไรก็ตามที่คุณกดปุ่มโพสต์ โลกจะได้รับสารนี้ทั่วถึงกัน เว้นแต่คุณจะตั้งค่า Only me  ถ้าหน้าไทม์ไลน์เต็มไปด้วยการบ่นเจ้านาย หน่ายลูกน้อง ฟ้องเพื่อนฝูง นี่ก็เป็นการสร้างแบรนด์ดิ้งแบบหนึ่งเหมือนกันแต่เป็นในเชิงลบโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว  เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้เรายังใช้ชีวิตอยู่ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ก็จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ดิ้งทั้งสองโลกคู่ขนานด้วย


สิ่งที่ตามมาคือราคาที่ผู้คนยอมจ่ายให้คุณ (Pricey)  แน่นอนว่าเขาจ่ายให้แก่ความสามารถอันโดดเด่น ความคุ้มค่าที่จะได้รับ ยิ่งเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ ปัญหาเรื่องเพดานค่าตอบแทนแทบไม่มีเลย  ไม่มีคำว่าแพงเกินไปเพราะลูกค้าที่มีกำลังซื้อนั้นมีอยู่เสมอ  อยู่ที่เรามีความสามารถเทียบเท่าราคานั้นหรือไม่ แต่ถ้ายังอยู่ระดับเดียวกับคนทั่วไป คุณต้องเหนื่อยสู้ราคากับคนจำนวนมาก ในเมื่อมีคนอื่นที่มีความสามารถเท่าๆ กันทำงานแทนคุณได้แล้วเขาจะจ่ายแพงไปทำไม  การสร้างแบรนด์ดิ้งจึงเป็นการลงทุนเพิ่มมูลค่าตัวเองที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและพาตัวเราขึ้นไปอีกขั้น


เมื่อนับข้อดีของการมี Personal Branding ได้ 3 ข้อแล้ว ถ้าคุณพร้อมจะไปต่อ  ลองถามตัวเองด้วย 3 คำถามนี้ค่ะ

  1. คุณคือใคร?
  2. คุณมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญอะไร?
  3. คุณมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร?


ข้อแรกไม่ยากนัก คิดง่ายๆ ก็คืองานที่คุณทำอยู่


ข้อสอง ถ้ายังไม่มี เริ่มลงมือค้นหาตั้งแต่ตอนนี้ อาจเริ่มจากสิ่งที่เราชอบทำ ใช้เวลากับมันได้นานๆ โดยไม่บ่น หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นมักชมเราในเรื่องนี้ สามารถเอามาต่อยอดได้


ข้อสามมีความสามารถแล้วแต่ถ้าเหมือนกับคนอื่น แบบนี้โตช้าหรือรอดยาก  สมมติว่าคุณเป็นนักขาย แน่นอนว่าต้องมีความรู้ในสินค้าเป็นอย่างดี  แต่อย่าลืมว่านักขายคนอื่นเขาก็เชี่ยวชาญเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ถ้าคุณมีทักษะอื่นที่คนอื่นไม่มียิ่งดี เช่น มารยาทธุรกิจ สร้างบรรยากาศการเจรจาการซื้อขายได้อย่างราบรื่นเจาะฐานลูกค้าระดับ A+ ได้ มีความรู้เรื่องการซื้อขายหุ้น เรื่องพวกนี้นักธุรกิจชอบนักถ้าคุณคุยกับเขารู้เรื่อง เขาจะยอมรับและเปิดโอกาสให้คุณเข้าร่วมวงสนทนา หรือมีทักษะการพรีเซนต์งานแบบเรียกเสียงหัวเราะ สร้างคอนเน็กชันกับคนฟังตลอดการประชุม จากนักขายธรรมดาคุณจะก้าวสู่ระดับ TOP SALES ทันที


ถ้าตอบคำถามทั้ง 3 ข้อได้ชัดเจน นี่คือแบรนด์ดิ้งที่จะทำให้คุณโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง คุณก็อาจจะรู้สึกฮอทๆ หน่อย


เพราะสปอตไลต์กำลังส่องมาทางนี้ค่ะ