“Fail ศาสตร์” เรียนรู้จากความผิดพลาด

การทำนวัตกรรม ล้วนต้องผ่านการลองผิด ลองถูก กว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่คิดแล้วทำได้ ขายได้ แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง Google, Facebook ก็ไม่สามารถผลักดันทุกผลิตภัณฑ์และบริการออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมได้ คุณไผท ผดุงถิ่น หรือ คุณโบ๊ท CEO & Co-Founder บริษัท Builk One Group ผู้กระโดดเข้ามาทำ Digital Transformation ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ตรง ในมุมที่เป็นข้อผิดพลาดของการพัฒนานวัตกรรมไว้อย่างน่าสนใจ

lessons-learned-when-you-failed-01

เปิดสวิตช์สู่โหมด Startup

คุณโบ๊ทเริ่มต้นการเป็น Startup ในวัย 27 ปี ช่วงกลางวันเป็นผู้รับเหมา กลางคืนกลับมาพัฒนาโปรแกรม และเป็นผู้ประกอบการที่พยายามพาตัวเองเข้าไปประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ของธุรกิจอื่น และกระตุ้นให้การทำงานของตนเองมีกำหนดเสร็จไปในตัว โดยเส้นทางสายประกวดมีทั้งตกรอบ และได้รางวัล


ปี 2012 ถือเป็นปีที่ Builk.com คว้ารางวัลชนะเลิศเวทีใหญ่ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมาได้ เช่น รางวัลชนะเลิศThailand ICT Awards, รางวัลชนะเลิศงาน ECHELON 2012 ซึ่งเป็นเวทีประกวด Startup ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ขณะนั้น พอกลับมาก็มีบริษัทที่ปรึกษาด้านก่อสร้างสนใจให้เงินลงทุนถึง 12 ล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนแรกที่ระดมทุนได้ นอกจากนี้ คุณโบ๊ทยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เงินลงทุน 150,000 เหรียญ จากโครงการ Five Hundred Startup Network Founder และได้ไปเข้าคอร์สที่ Silicon Valley ถึง 4 เดือน อีกด้วย


ปลดล็อกยอดขายร้อยล้านแรก

หลังจากอกหักจากนักลงทุนรายแรก คุณโบ๊ทก็ลงทุนหา Keyman มาช่วยคิด ช่วยทำ และได้ออกแคมเปญ เจ๊จู วัสดุก่อสร้าง โดยใช้เฟรมเวิร์กจากหนังสือ TEN TYPES OF INNOVATION มาสร้างนวัตกรรม ผ่านองค์ประกอบ 10 กล่อง ที่หากสามารถปรับเปลี่ยน และสร้างความต่างในแต่ละกล่องได้ ก็จะเปลี่ยนเกมการแข่งขันได้

  1. กล่อง Profit Model, Network, Structure, Process เป็นสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนได้เอง (Configuration)

  2. กล่อง Performance, Product System เป็นสิ่งที่เราส่งมอบให้ลูกค้า (Offering)

  3. กล่อง Service, Channel, Brand, Customer Engagement เป็นการสร้างประสบการณ์กับลูกค้า (Experience)


งานวิจัยต่อเนื่องจากหนังสือเล่มนี้ กล่าวไว้ว่า คนมาทีหลังแล้วต้องการเปลี่ยนเกม จะไม่ใช่คนที่ทำ Product Offering แข่งกับเจ้าตลาดเดิม แต่เป็นคนที่เลือกทำ Profit Model หรือ Networking เท่านั้น


แคมเปญเจ๊จู ใช้เฟรมเวิร์กนี้ช่วยให้ร้านวัสดุก่อสร้างขายของออนไลน์ได้ โดยอาศัยข้อมูลในการหาคนที่น่าจะซื้อเหล็กด้วยเงินสด จากนั้นสร้าง Network กับร้านวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว ให้นักศึกษาช่วยเขียนบท ใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นคนธรรมดา โดยแคมเปญนี้กวาดรางวัลมาได้มากมาย แม้จะยังไม่ได้อะไรกลับมาที่ธุรกิจมากนัก แต่ได้กลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ และเป็นที่มาของชื่อซอฟต์แวร์ Jubili ที่ใช้บริหารงานขายให้ร้านวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งขณะนั้นคุณโบ๊ทลงทุนหา Keyman เข้ามาช่วยคิด ช่วยทำ ทำให้สามารถเปลี่ยนเกม ปลดล็อกยอดขายทะลุร้อยล้านได้เป็นครั้งแรก


หลังจากนั้น คุณโบ๊ท เริ่มขยายทีม ขยายพื้นที่ ตกแต่งที่ทำงาน ทำโปรดักส์ออกมาเต็มไปหมด แต่ขายไม่เป็น ขาดทุนทุกเดือน แต่ขณะนั้น นักลงทุนยังพอใจอยู่ เพราะมีคนใช้มากขึ้น สามารถขยายงานตามเป้าหมายได้

การพลิกโฉมครั้งสำคัญ

ปี 2019 เป็นช่วงที่ คุณโบ๊ทเตรียมจะระดมทุนอีกครั้ง แต่ฟองสบู่ของวงการ Startup แตกครั้งใหญ่ โดย WeWork ยูนิคอร์นตัวท็อปของโลกเกิดล้มละลาย ทำให้นักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่น ไม่อยากลงทุนกับ Startup ที่ขาดทุน คุณโบ๊ทจึงระดมทุนไม่สำเร็จ ต่อมาปี 2020 เจอโควิดระบาดซ้ำ จนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ ใช้ ANSOFF Matrix เข้ามากู้วิกฤติ โดยดูว่า โปรดักส์เดิม ตลาดเดิม ทำโปรโมชันอะไรได้บ้าง, โปรดักส์ใหม่ ตลาดเดิม ทำอะไรออกมาได้บ้าง, โปรดักส์เดิม ตลาดใหม่ หาลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่น โดยปรับจากของเดิมที่มีอยู่ ส่วนโปรดักส์ใหม่ ตลาดใหม่ ถ้าไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องทำ


ต่อมาคุณโบ๊ทได้ไปฟังแนวคิดของ Hermanwan Kartajaya นักเขียนหนังสือด้านการตลาด และได้ประโยคทองกลับมาปลดล็อกองค์กร โดย Kartajaya กล่าวไว้ว่า มีพลังอยู่ 2 ซีกที่ผู้นำองค์กรจะต้องรู้จักวิธีทำให้สมดุล ซีกแรกคือ C-I-E-L (Creativity – Innovation – Entrepreneurship – Leadership) ส่วนอีกซีกคือ P-I-P-M (Productivity – Improvement – Professionalism – Management) โดยทั้ง 2 ซีก มาเป็นคู่ แต่มักไปด้วยกันไม่ได้ ถ้า Creativity สูง Productivity มักจะต่ำ ผู้นำต้องรีบดึงกลับมาให้เกิดสมดุล รู้จักบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ กรณีของคุณโบ๊ท เมื่อคนที่ขายได้มีน้อย ก็ต้องสร้างคนที่มีทักษะการขายขึ้นมาเพิ่ม


การเปลี่ยนวิธีคิดครั้งนี้ ทำให้บริษัทที่ใช้เงินเป็นอย่างเดียว กลายเป็นบริษัทที่ขายเป็นด้วย ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ลดต้นทุนได้ ทำให้ Startup ที่ขาดทุนมาตลอด 8 ปี สามารถทำกำไรได้ถึง 20 ล้านบาท เป็นครั้งแรก และจากวันนั้น ก็ยังคงกำไรต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้

บันไดสู่ความสำเร็จ

การ ล้ม ลุก เรียนรู้ จนตกผลึก สามารถสร้างผลกำไรระยะยาวให้ธุรกิจได้ คุณโบ๊ท ยึดกฎ 2 ข้อนี้มาโดยตลอด คือ

  1. ที่ไหนมีความห่วย ช้า แพง ที่นั่นมีโอกาส

  2. ลูกค้าไม่มีคำว่าพอ มีแต่คำว่า more เสมอ เมื่อไหร่ที่มีสิ่งที่ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า ก็พร้อมเปลี่ยนทันที


กฎข้อแรกบอกให้รู้ว่า ไม่มีวันจบเกม ทุกอย่างมีความห่วย ช้าแพง ซ่อนอยู่ ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ส่วนข้อสองคอยเตือนสติเมื่อเราหยุด หรือชะลอ ดังนั้น การทำ Digital Transformation ในอุตสาหกรรมก่อสร้างแม้จะยาก แต่เป็นอุตสาหกรรมแห่งโอกาส ถ้ามีข้อมูลก็สามารถนำไปใช้เป็นฐานไปสู่เรื่องต่างๆ และทำ Green Transformation ได้ โดยอาศัย ความคิดสร้างสรรค์ + เทคโนโลยี มาเปลี่ยนแปลงวงการก่อสร้าง และทำงานร่วมกับ Developer, Contractor, Subcontractor, Supplier และ Manufacturer


ความผิดพลาดคือโอกาสเรียนรู้ ที่จะทำให้ดีขึ้น ผู้นำต้องยอมรับความล้มเหลว โดยไม่โทษคนอื่น และกล้าถอยออกมา  การสร้าง Innovation Culture ในองค์กรต้องยอมเสี่ยงเสียเงิน เสียเวลา เพื่อให้ทีมได้เรียนรู้ แต่ต้องรู้ว่าการขาดทุนนั้นจะได้อะไรกลับมา ไปถึงจุดไหน เกมจะเปลี่ยน

  • อย่าพูดว่า ทำไมต้องทำ แต่ให้พูดว่า ทำไมไม่ทำ
  • อย่าพูดว่า Yes, But... (ดีนะ แต่....) แต่ให้พูดว่า Yes, And... (ดีนะ แล้ว....หรือยัง)


การเดินทางของ Startup เป็นขั้นบันได ถ้ามีแค่ไอเดียก็ไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าคือต้องทำได้จริง โดยดูว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ลองใช้แล้วดีกว่าของเดิมหรือไม่ มีคนจำนวนมากพอ ยอมที่จะจ่ายหรือไม่ และสามารถทำให้รู้จักในระยะเวลาอันสั้นได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้คือ C-I-E-L ซึ่งเป็นบันได 4 ขั้นแรก


บันไดขั้นที่ 5 จะใช้อีกทักษะ โดยดูว่าในองค์กรมีคนที่ทำงานแทนกันได้หรือไม่ ซัพพลายเชนรองรับการเติบโตหรือไม่ สามารถรักษาตลาดไม่ให้ไปอยู่กับคู่แข่งได้หรือไม่ ส่วนการจะทำกำไรได้หรือไม่ เป็นบันไดขั้นที่ 8 หรือขั้นสุดท้าย สำหรับผู้ประกอบการที่เดินทางมาถึงบันไดขั้นที่ 8 ย่อมต้องสร้างผลกำไรให้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าคู่แข่งในอนาคต อาจอยู่บันไดขั้นที่ 4-7  หากถึงวันที่คู่แข่งมาถึงบันไดขั้นเดียวกับเรา เราจะรุก หรือรับแบบไหน เป็นสิ่งที่คุณโบ๊ททิ้งท้ายไว้ให้คิด


ที่มา: หลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566