ฝ่ากระแส VUCA World ด้วย Visionary Leadership

ทุกองค์กรมีกลยุทธ์ เพราะกลยุทธ์คือสิ่งที่ธุรกิจเลือกที่จะทำ และไม่ทำในบางอย่าง ผู้นำที่มี Visionary Leadership จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการกำหนดกลยุทธ์ฝ่าความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ใน VUCA World โดย ดร.ธนัย ชรินทร์สาร กรรมการ บริษัท เอสซี เอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะพามารู้จักกับ Visionary Leadership ผ่านการตั้งคำถาม และหาคำตอบไปด้วยกัน

visionary-leadership

Visionary Leadership ต่างกับ Leadership อย่างไร


ในโลกที่หลายอย่างคาดเดายาก ผู้นำจึงไม่ใช่แค่มี Leadership แต่จะต้องมีทักษะในการคาดการณ์อนาคตด้วย ซึ่งคุณสมบัตินี้คือข้อแตกต่างของผู้นำทั้ง 2 แบบ โดย Visionary Leadership จะบอกได้ว่า ในอนาคตองค์กรจะเป็นอย่างไร และธุรกิจจะต้องทำอะไร เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทัน และอยู่รอดปลอดภัยในกระแสแห่ง VUCA World


Visionary Leadership กับ Innovation เชื่อมโยงกันอย่างไร


ในตลาดเรดโอเชียน ทุกธุรกิจพยายามสร้างความแตกต่างเพื่อให้เป็นตัวเลือกของลูกค้า ด้วยการเห็นว่าอะไรขายดี ก็ทำตามกัน จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ Commoditization ที่สินค้าดูคล้ายกันไปหมด ผู้นำจึงต้องทำให้เกิด Innovation ด้วยการหาความต้องการในอนาคตให้เจอ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น Steve Jobs เปิดตัว iPhone รุ่นแรกที่มาก่อนกาล ตั้งแต่โลกยังไม่มี 4G แต่เติมเต็มความต้องการที่ซ่อนอยู่ของผู้บริโภคได้มากกว่าที่คิด จนสร้างความต้องการซื้อได้แบบถล่มทลาย และได้เปลี่ยนโลกของสมาร์ทโฟนไปอย่างสิ้นเชิง


Visionary Leadership จำเป็นอย่างไรใน VUCA World


ย้อนกับไปในยุคที่คนใช้กล้องฟิล์ม ม้วนฟิล์มเป็นสิ่งจำเป็น แต่พอกล้องดิจิทัลเกิดขึ้น ตลาดเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ฟิล์มก็ถ่ายรูปได้ ธุรกิจเกี่ยวข้องที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องล้มหายตายจากไป ธุรกิจอื่นก็พบการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ใน VUCA World  ที่เห็นได้ชัดคือสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่สร้างบาดแผลให้ธุรกิจน้อยใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรรม แบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ จึงต้องอาศัยคาดการณ์ในสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ มีนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์อนาคตได้ในระยะยาว เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม


Visionary Leadership เกี่ยวกับ Strategy อย่างไร


ดร.ธนัย ให้นิยามไว้ว่า Strategy เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่บนพื้นฐานกฎแห่งกรรม ถ้าต้องการทำธุรกิจให้เติบโตได้ดีในระยะยาว ต้องฝืนหลักที่เคยทำ โดยเปลี่ยนที่เหตุ เพื่อให้ได้ผลที่ต่างจากเดิม ส่วนการจะเปลี่ยนอย่างไร นั่นคือ Strategy ที่ต้องมาคิด สำหรับภาคธุรกิจ ผลประกอบการจะเป็นตัวสะท้อนได้ดี และสิ่งนี้คือจุดเชื่อมโยงของ Visionary Leadership และ Strategy


ดร.ธนัย ได้แบ่งปันข้อมูลที่ได้จากการไปร่วมงานสัมมนาด้าน Strategy ที่ Harvard Business School โดย Harvard แนะนำไว้ว่า การจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีผลประกอบการที่ดี ให้คิดแบบ Portfolio คือ ในหนึ่งบริษัทต้องมีแหล่งรายได้หรือหน่วยธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 หน่วย


1.  หน่วยธุรกิจทำกำไร มักจะอยู่ในตลาดที่โตเต็มที่และเริ่มอิ่มตัว ทำกำไรได้สูง เพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม


2. หน่วยธุรกิจเติบโตไว ลงทุนมากในช่วงแรก กำไรมาในช่วงหลัง ต้องดูเทรนด์ และอยู่ในตลาดที่กำลังขยายตัว


3. หน่วยธุรกิจอนาคต เตรียมไว้ก่อน หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็สามารถปรับตัวทัน ถ้าไม่เกิดเหตุก็ไม่กระทบองค์กร


ยกตัวอย่าง ปตท. ไม่ได้มีแค่ธุรกิจน้ำมันและแก๊ส แต่ยังมีธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม แฟรนไชส์ โรงแรม หรือ  Netflix ที่เริ่มจากธุรกิจ DVD ให้เช่าเป็นครั้งคราว ต่อมาเพิ่มทางเลือกระบบเหมาจ่ายที่ทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าปรับหากลืมคืน รวมถึงลงทุนทำวิดีโอออนไลน์แบบสตรีมมิ่งไว้ด้วย ทำให้ปรับตัวได้เร็ว ชิงทำกำไรได้ก่อน และเติบโตแบบก้าวกระโดด

ศาสตร์แห่งการมองอนาคต


ไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ จึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจแห่งอนาคต ด้วยวิธีคิด 5 แบบ ดังนี้


1. MegaTrends : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีทิศทาง มีแรงกระทบไปสู่อนาคต ทำให้บางอย่างเพิ่มขึ้น บางอย่างลดลง เช่น โลกร้อน แอร์ขายดีขึ้น เครื่องทำน้ำอุ่นขายได้น้อยลง หรือสังคมสูงวัย ผ้าอ้อมเด็กขายได้น้อยลง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ขายดีขึ้น ผู้นำต้องหา MegaTrends ที่เกี่ยวกับธุรกิจของตนเองให้เจอ โดยมองทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และขอบๆ อุตสาหกรรมด้วย เพราะบางอย่างอาจกระทบไปถึง Supply Chain ของธุรกิจได้

2. Weak Signals: สัญญาณอ่อนๆ หรือเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้รับรู้กันโดยทั่วไป มีหลักฐานการเกิดที่ชัดเจน พิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ได้ สิ่งนี้ต้องเริ่มจากการสังเกตเรื่องเล็กๆ ที่มีนัยสำคัญต่อการเกิดขึ้นของบางสิ่งบางอย่าง หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และต้องมองให้ลึกลงไปว่า สิ่งนี้เป็นเพียงแฟชั่นที่เดี๋ยวก็ผ่านไป หรือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม


ในอดีตช่วงที่มี Internet Service Provider เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านได้ ซึ่ง Jeff Bezos จับ Weak Signal นี้ได้ว่า สิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนการค้าทั่วโลกในอนาคต เขาจึงไปเปิดเว็บไซต์ Amazon.com เริ่มขายหนังสือออนไลน์ ในตอนนั้นธุรกิจนี้ดูแล้วไม่น่าจะไปรอด แต่เวลาผ่านไป 25 ปี เขากลายเป็นผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ขายหนังสือที่เขาเริ่มทำก่อนใคร


ปัจจุบัน บริษัทไทยยูเนี่ยน ได้เข้าไปลงทุนใน Startup ประเทศอิสราเอล ที่สามารถผลิตเนื้อสเต็กจากเลือดของวัว  โดยไม่ต้องทำลายชีวิตสัตว์ เพราะมองเห็นสิ่งที่อาจเป็น Weak Signal ในการทลายข้อจำกัดด้านการขนส่ง และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในอนาคต ที่ใครอยากกินอะไร ก็ทำเองจากที่บ้านได้เลย แถมยังช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย


3. Scenarios : การคิดแบบไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างที่ใจคิด เพราะใน VUCA World เราอาจเห็นการไม่เชื่อมโยงของเหตุและผล จึงมีสิ่งที่อาจจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร ธุรกิจต้องมีทิศทางที่จะไป Scenario จึงเป็นการเข้าไปจับความเป็นไปได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แม้จะเกิดน้อย ความเป็นไปได้ต่ำก็ตาม แต่จะไม่นำสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงมาคิด เช่น บริษัท เชลล์ ได้ตั้งคำถามว่า หากน้ำมันหมดโลกจะทำอย่างไร แม้โอกาสน้ำมันหมดโลกมีน้อย แต่ก็มีโอกาส โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นน้ำมันดีเซล แต่ราคาสูง ทำให้ไม่มีใครลงทุน เชลล์จึงไปขอสัมปทานในประเทศการ์ต้า ซึ่งมีแก๊สใต้ดินอยู่มาก และตั้งโรงงาน Gas-To-Liquid เล็กๆ ขึ้นที่นั่น  ถ้าอนาคตยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า และน้ำมันหมดโลกจริง เชลล์จะเป็นรายเดียวที่ยังมีน้ำมันดีเซลขายอยู่


4. Opportunity : การมองให้ออกว่า Scenario ต่างๆ เปิดโอกาสทางธุรกิจอะไรได้บ้าง เช่น คนเดินห้างน้อยลง ช้อปออนไลน์มากขึ้น จะมี Opportunity อยู่บนออนไลน์ หรือการใช้เซลล์ของสัตว์มาเพาะเป็นเนื้อ ก็มีโอกาสเกิดกลุ่มลูกค้าที่อยากกินเนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น


5. Shaping : การสร้างความได้เปรียบ และทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน โดยดูว่าจะ Shape อย่างไร จาก Scenario และ Opportunity ที่มี เพราะทุกอย่างไม่ได้เกิดทันทีทันควัน แต่จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อน ถ้าหา Weak Signal ได้ จะเห็น Disruption ก่อนที่จะเกิด เหมือนอินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้เวลากว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การมองอนาคต มีผลต่อการตัดสินใจ และเมื่อเห็นแล้วต้องลงมือทำ ถึงจะ Shape Future ได้


Elon Musk นับเป็นผู้นำที่มี Visionary Leadership อีกคนหนึ่ง ซึ่งเห็นปัญหาโลกร้อน และมองหา Scenario ในการทำให้รถยนต์ทุกคันบนท้องถนนถูกเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดย Opportunity ของ Elon Musk คือการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ สิ่งที่เขา Shape คือการทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก โดยลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขึ้นเอง  ที่สำคัญ ยิ่งผลิตได้เยอะ ต้นทุนจะยิ่งต่ำลง ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นไปตามสูตร Future Formular ที่ ดร.ธนัย ให้ไว้ในช่วงท้ายคือ  Future = Present + Trend + Disruption + Our Action


ที่มา: หลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 11 ธันวาคม 2565