AP พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สู่แถวหน้าธุรกิจอสังหาฯ ไทย

กว่าที่จะเป็น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน ) หรือ AP ที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ บริษัทได้ผ่านความล้มเหลวและอุปสรรคมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ปัญหาภายในองค์กร ไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 และช่วงโควิดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี AP ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่คนไทยคุ้นเคยและยอมรับด้วยยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี สวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ตอกย้ำความสำเร็จด้วยยอดขายที่แตะนิวไฮกว่า 50,000 ล้านบาทในปี 2565 ที่ผ่านมา คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มาแชร์เรื่องราวความสำเร็จของเอพี (ไทยแลนด์)


จากเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ มาเป็น เอพี (ไทยแลนด์)


บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2534 แรกเริ่มเป็นบริษัทจำกัดภายใต้ชื่อ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ก่อนที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัท พื้นสำเร็จรูป พีซีเอ็ม จำกัด (มหาชน) ในปี 2543 กลายเป็นบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้น จำกัด (มหาชน) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในปี 2556 ทั้งนี้ การควบรวมกิจการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบ Partnership ตั้งแต่เริ่มกิจการ กล่าวคือการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว การทำงานเป็นทีมจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัท

missionx-ap-property-01

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ AP


ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องพับโครงการ แต่ AP ในเวลานั้น ได้สวนกระแสตลาดด้วยการเปิดตัว “บ้านกลางกรุง ทองหล่อ” ซึ่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืนที่คนไปต่อแถวซื้อทาวน์เฮ้าส์ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุง และสะท้อนให้เห็นจุดแข็งของบริษัทในการชูสินค้าที่มีความโดดเด่นกว่าโครงการบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าอื่น ๆ โดยเน้นทำเลที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มคนกรุงอย่างแท้จริง และสะท้อนถึงความเข้าใจตลาดและผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ AP ประสบความสำเร็จ


อีกหนึ่งความโดดเด่นของ AP คือมีการทำ Financial Projection คาดการณ์รายได้และกำไรที่บริษัทคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจุดแข็งด้านการจัดการการเงินของบริษัท ช่วยให้ทีมผู้บริหารคิดค้นกลยุทธ์ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


จากธุรกิจ Partnership สู่การเป็น Corporation


ในทุกบริษัทย่อมมีความท้าทายจากปัญหาภายในองค์กรที่ต้องแก้ไขอยู่เรื่อย ๆ ในวันที่ AP ก้าวเข้าสู่การเป็น Corporation ที่พนักงานมีจำนวนเยอะมากจนเกิดช่องว่างในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงาน สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยโฟกัสที่ 2S 2P : S tructure S ystem P eople และ P rocess โดยมีการวางโครงสร้างใหม่ให้เหมาะสมกับองค์กร ระบบพื้นฐานที่บริษัทให้ความสำคัญ สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นมาตรฐาน สรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างระบบการทำงานเป็นขั้นตอนมีแผนกที่คอยชี้แจงแนวทางการทำงานของแต่ละฝ่าย เพื่อให้การทำงานดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

“Empower Living” ความสุขที่คุณเลือกได้ที่สะท้อนตัวตนของ AP


จาก “Quality of Life” สู่ “Empower Living” อยู่บนความเชื่อที่ว่าบ้านไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่รองรับการอยู่อาศัย แต่ต้องถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันและต้องยืดหยุ่นรองรับความต้องการที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้ผู้อาศัยสามารถเติมเต็มเป้าหมายชีวิตได้ตามปรารถนาและมีความสุขในแบบที่ตนเองเลือก ซึ่ง AP ได้ขับเคลื่อนผ่าน 3 แนวคิดซึ่งเป็นการสะท้อนตัวตนผ่านแบรนด์ และส่งต่อไปยังลูกค้าให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกกับแบรนด์


1. Outward Mindset (การเอาใจเขามาใส่ใจเรา)


พนักงานของ AP ต้องเข้าใจว่าความสุขของลูกค้าคืออะไร ซึ่งคนที่จะเข้าใจความสุขของลูกค้าได้ดีที่สุดคือคนที่อยู่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด บริษัทจึงให้สิทธิ์พนักงานสามารถตัดสินใจการทำงานได้เองตามเกณฑ์ “There is no independence without boundary” ที่วางไว้ และเปิดโอกาสให้พนักงานแชร์ปัญหาที่พบหน้างานเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไข โดยที่ไม่ขัดต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพนักงานอื่น


2. Innovation Culture


การเข้าใจว่าความสุขของลูกค้าคืออะไร AP ต้องทราบปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าก่อน ซึ่งการมี Empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราจะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าและต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น สะท้อนแนวคิดแบบ Design Thinking ที่มุ่งแก้ปัญหา Unmet Needs โดยที่ลูกค้านึกไม่ถึงว่าตนเองมีความต้องการนี้อยู่


3. Digitalisation


ความรับผิดชอบของผู้บริหาร ยังต้องคงความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อโลกยุคใหม่ การทำงาน Work From Anywhere จำเป็นต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลที่สามารถตอบสนองลูกค้าและบุคลากรในบริษัทได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจของ AP ไม่เพียงแต่ช่วยให้บริษัทสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ เช่นการใช้ Big Data มาหา Customer Insight เพื่อปรับใช้ทำ Digital Marketing ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น แล้วสามารถหา Unmet Needs ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดไม่ถึงว่าตนเองมีความต้องการเหล่านี้อยู่ นอกจากนี้ การนำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานช่วยให้ผู้บริหารสามารถเลือกใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับงานได้ (Put the right man on the right job) และยังสามารถควบคุมการทำงานให้มีมาตรฐานได้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่หน้างาน ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำงานดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ AP ประสบความสำเร็จและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้

ที่มา : หลักสูตร  Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 5 โดยคุณอนุพงศ์ อัศวโภคิน บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)  ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่