สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ให้ไปต่อได้

บริษัทที่มีคนทำงานเพียง 3 – 4 คน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรอาจไม่จำเป็นนัก แต่องค์กรที่มีคนหลักสิบขึ้นไป วัฒนธรรมองค์กรมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดย ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มาแบ่งปันการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อทุกธุรกิจ ไว้ดังนี้

innovation-corporate-culture-01

วิวัฒนาการของนวัตกรรม


วัฒนธรรมมักมีรากฐานมาจากมรดกตกทอดหรือ legacy และสิ่งนั้นมักมีผลต่อการสร้างนวัตกรรม โดยนวัตกรรมมีตั้งแต่ระดับโลก ไปจนถึงระดับองค์กร แต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันไปตามบริบท โดยในปี 1950s - 1990s เน้น Manufacturing - Based นวัตกรรมจึงมาในรูปแบบ Product Innovation และ Process Innovation เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อมาในปี 1990s - 2010s เน้นไปที่ Customer – Centric เริ่มมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ นวัตกรรมก็จะมาในรูปแบบของ Service Innovation และ Platform Innovation ส่วนในปี 2010s - ปัจจุบัน คนเริ่มให้ความสนใจกับความยั่งยืน โฟกัสไปที่ Social-Benefit ทำให้เกิด Social Innovation และนวัตกรรมจากภาครัฐ หรือ Public Sector Innovation

สำหรับนวัตกรรมระดับองค์กร ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่ละยุคสมัยก็โฟกัสต่างกัน ดังนั้น ใครที่ไม่ปรับตัว ไม่เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่สามารถไปต่อได้

ทำนวัตกรรม เริ่มจากตรงไหน


การเริ่มทำนวัตกรรมไม่มีจุดเริ่มต้นที่เป็นคำตอบแน่นอน สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำนวัตกรรมไปเพื่ออะไร โดยกระบวนการพัฒนานวัตกรรม แบ่งได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. Insight: หาข้อมูลสำคัญ ให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ด้วยการตั้งคำถาม สังเกต เชื่อมโยงข้อมูล และทดลอง เพื่อให้ได้มุมมองเชิงลึกของปัญหาสำคัญนั้น

2. Problem: ระบุสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการให้ได้ ทั้งในด้านการใช้งาน สังคม และอารมณ์

3. Solution: พัฒนาต้นแบบเบื้องต้น จากนั้นทดสอบและปรับปรุง จนกว่าจะได้ต้นแบบที่ดีที่สุด

4. Business Model: ตรวจสอบให้มั่นใจถึงการนำนวัตกรรมนั้นสู่ตลาด โดยการนำวิธีการที่ได้มาพิจารณากลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคา การหาลูกค้า โครงสร้างต้นทุน


สิ่งที่ ดร.ชัยธร เน้นย้ำคือ แม้จะทำตามกระบวนการ และมีโครงการดีๆ มาขอทุนทำนวัตกรรม แต่หากไม่มีโครงการต่อเนื่องออกมา เมื่อคุณค่าเปลี่ยนไปตามเวลา หรือสินค้าของคนอื่นตอบโจทย์มากกว่า เราก็จะถูกคัดออกจากสนาม ไม่สามารถแข่งขันต่อได้  การทำนวัตกรรมจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

นวัตกรรมไม่ใช่แค่กระบวนการ


การทำนวัตกรรมองค์กรคือการบริหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 3 ระดับ เริ่มจาก ระดับกลยุทธ์ ถ่ายทอดมาสู่ ระดับปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการกระบวนการทำนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้มแข็งใน ระดับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งศักยภาพของบุคลากรในองค์กร (Capabilities) ถือว่ามีความสำคัญที่สุด


สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมจะต้องประกอบไปด้วย ความรู้ (Knowledge) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และคุณค่า (Value) โดยทุกธุรกิจสามารถทำนวัตกรรมได้หมด เพราะนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของการคิดเทคโนโลยี หรือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แต่เป็นเรื่องของประโยชน์ ไอเดีย การเรียนรู้ และปรับใช้ เช่น หลอดไฟที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในครั้งแรก จะถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ แต่เมื่อถึงจุดที่ถูกนำไปใช้ในวงกว้างเพราะมีคนเห็นประโยชน์ ก็จะกลายนวัตกรรม


นวัตกรรมเป็นเรื่องของกรอบความคิด โดยวิธีคิดมีผลต่อการแก้ปัญหา เช่น เราเห็นว่าสนามบินมีแถวลูกค้ายาวและเบียดเสียด หากเราเปลี่ยนมาเข้าคิวเป็นแถวคดเคี้ยวแทนการยืนเป็นเส้นตรง ก็ไม่ได้ช่วยให้คิวลดลงอยู่ดี แต่การคิดนอกกรอบ ทำให้เกิดเครื่องสแกนหนังสือเดินทางด้วยตนเองขึ้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งการลดจำนวนคิวและลดปัญหาเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอได้อย่างลงตัว


การพัฒนา Innovator's DNA


เราแบ่งประเภทคนตามนวัตกรรมได้สองแบบ คือ Innovators และ Executors โดย Innovators จะมีทักษะในการค้นพบ ทำให้องค์กรมี Product Innovation สูง มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเสมอ ส่วน Executors จะมีทักษะการส่งมอบงาน ทำให้องค์กรมี Process Innovation สูง ยอดขายเติบโต ซึ่งทั้งสองคนมีความสำคัญเท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานะหรือบริบทในขณะนั้นว่าต้องการคนแบบไหน หากจะพัฒนาคนให้เป็น Innovators ต้องประกอบด้วย


1. Questioning: รู้จักตั้งคำถามโดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ซึ่งคำถามนอกกรอบ มักจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามมา

2. Observing: รู้จักสังเกต เช่น Post-it เกิดขึ้นจากโจทย์ที่อยากได้กาวที่ติดได้ดี และไม่ทำลายพื้นผิวตอนลอกออก แต่ทำแล้วกลับได้กาวที่ติดไม่ดี แต่ลอกง่าย และด้วยการรู้จักสังเกต ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักดนตรี ที่มักจะนำเทปกาวมาแปะกระดาษโน้ตเล่นเพลง เวลาลอกเทปออก กระดาษมักจะฉีกขาด ทำให้ Post-it เข้ามาแทนที่เทปกาวในจุดนี้ได้ และปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันเวลาทำเวิร์กช้อปอีกด้วย

3. Networking: หาพาร์ทเนอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญ มาช่วย เพื่อให้เกิดโซลูชั่นที่หลากหลาย เช่น Xiaomi จับมือกับบริษัทกล้อง Leica เพื่อทำมือถือที่มีจุดเด่นเรื่องกล้อง

4. Experimenting: ทดสอบ ทดลอง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เรากำลังคิด กำลังทำนั้น ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

5. Associating: นำทุกอย่างมาเชื่อมโยงกัน

การจะทำให้องค์กรมีคนที่เป็น Innovators มากขึ้น พนักงานต้องรู้ว่า องค์กรของเราจะทำนวัตกรรมไปเพื่ออะไร การสื่อสารกลยุทธ์ต้องเปลี่ยนจากสั่งว่าต้องทำอะไร (What) เป็นการเปิดกว้างให้เสนอไอเดีย (Why) ส่วนสไตล์การทำงานต้องเปลี่ยนจากการทำงานในแผนกตัวเองให้สำเร็จ เป็นการทำงานแบบ cross function เพื่อผลสำเร็จร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร รูปแบบการยอมรับความเสี่ยง และความล้มเหลว ให้เอื้อต่อการลองผิดลองถูกในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพราะนวัตกรรมไม่สามารถสำเร็จได้ในครั้งเดียว โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ซึ่งลูกค้าเป็นได้ทั้งคนในองค์กรและลูกค้าภายนอก ซึ่งการดูว่าวัฒนธรรมองค์กรเหมาะสม หรือเอื้อต่อการเป็น Adaptive Organization หรือไม่ ดูได้จาก 3 องค์ประกอบ ดังนี้


1. สภาพแวดล้อม และโครงสร้างองค์กร แม้จะมีระบบซับซ้อน แต่ต้องมีความคล่องตัวในการปรับตัวเองให้อยู่รอดได้โดยอัตโนมัติ  ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนไอเดีย และการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน สามารถนำคนเข้าไปทำงานในแต่ละโครงการใหม่ๆ ได้ง่าย มีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลง มีรางวัลและแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่


2. ผู้นำนวัตกรรมสามารถสร้างให้เกิดความต้องการการเปลี่ยนแปลงได้ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์หาสาเหตุ และประเด็นปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ศักยภาพและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ตลอดจนควบคุมให้เกิดความต่อเนื่องในการตอบรับการเปลี่ยนแปลง และลดแรงต้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีการสื่อสารพันธกิจและเป้าหมายขององค์กร ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่า งานของตนเองมีความสำคัญ


3. พนักงานอยากมีส่วนร่วม และรู้ว่าองค์กรคาดหวังอะไรในตัวเรา ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง พร้อมสนับสนุนงานของเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติงานมีความใส่ใจกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน มากกว่าแค่การติดตามงาน


องค์กรที่มีครบทั้ง 3 ข้อ หรืออยู่ในระดับที่ขับเคลื่อนได้ ดร.ชัยธร ถือว่าพร้อมต่อการเติบโตเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้ หากไม่พร้อม ก็สามารถหาเครื่องมือหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการบริหารจัดการได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การมีส่วนร่วมของคนในองค์กรสำคัญที่สุด เพราะทุกอย่างล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยคน


ที่มา: หลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 7 ธันวาคม 2565