Leader’s Secret Sauce: สำรวจคุณสมบัติผู้นำในโลก VUCA?

ในวันที่โลกเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน การที่จะขยับปรับเปลี่ยนองค์กรให้อยู่รอดและรุ่งเรืองได้ตลอดนั้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่ง “ผู้นำ” มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในมิติของวิสัยทัศน์และการกระทำ ซึ่ง ในงานสัมมนา “Mission X” The Boot Camp pf Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 4 คุณ ธนา เธียรอัจฉริยะ นักการตลาดที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์บริหารงานในองค์กรชั้นนำ อย่าง ดีแทค แกรมมี่ SCB ฯลฯ  ได้มาแบ่งปันความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ (Leader) ทั้งที่เคยเป็น Leader เอง และ Leader ที่เคยพบเจอ หรือร่วมงานมา

leader-in-vuca-world-03

หน้าที่ของ Leader ในโลก VUCA


“สมัยก่อนการเป็น Leader เหมือนเป็นรางวัล แต่จริงๆ แล้วเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาสาหัสมาก” คือความเห็นแรกของคุณธนา และจากที่เป็นผู้บริหารองค์กรในอุตสาหกรรมที่ติดอันดับการถูกดิสรัปชั่นมากที่สุด 4 อันดับแรก (สื่อ โทรคมนาคม ค้าปลีก การธนาคาร) คุณธนาจึงมีความเห็นว่า Leader มีบทบาทสำคัญต่อการอยู่รอดขององค์กร ยิ่งในสถานการณ์ VUCA world ในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างซับซ้อน ยากต่อการตัดสินใจ การเป็น Leader ในสมัยนี้จึงยากกว่าสมัยก่อน  และคำนิยามของ Leader ก็เปลี่ยนไปจากคนที่ออกคำสั่ง (Command) เป็นคนที่สามารถโน้มน้าว (Convince) และสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้ผู้คนทำตามได้ “จากเดิมที่ Leader ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ลูกน้องทำตาม แต่ในโลก VUCA* ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ประสบการณ์เดิมใช้ไม่ได้ Leader จึงทำเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว และยิ่งเทคโนโลยีธุรกิจมีมาตรฐานสูงขึ้น Leader จะทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ธุรกิจก็จะไปไม่รอด และด้วยความที่โลกซับซ้อนขึ้น โจทย์เรื่อง Leader ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นกัน” คุณธนากล่าว


ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจเคยเติบโตแบบเส้นตรง (Linear) เมื่อมีโซเชียลมีเดีย และผู้เล่นระดับโลกเข้ามา ทำให้ความคาดหวังลูกค้าเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด (Exponential)  ความอดทนต่ำลง ทางเลือกเยอะขึ้น ช่องว่างระหว่างการเติบโตของธุรกิจ กับความคาดหวังลูกค้า คือ ดิสรัปชั่น (Disruption) เป็น Pain Point ของลูกค้า Leader จึงมีหน้าที่ต้องหา Solution ไปปิดช่องว่างให้ได้ ธุรกิจจึงจะรอด โดยต้องแข่งกับสตาร์ทอัพ ที่ตั้งใจแก้ Pain โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจาก Leader องค์กร จะคิดเรื่องการตอบโจทย์แก้ Pain Point แล้ว ยังต้องคิดถึงเรื่องผลตอบแทนทางธุรกิจ รวมถึงการรวบรวบความคิดจากทีมงานด้วย ดังนั้น Leader ที่เป็นที่ต้องการในยุคนี้ คือ คนที่สามารถสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย เสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เป็นที่ชื่นชมและไว้ใจได้ โดย Leader เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลผู้คนที่อยู่กับคุณมากกว่า


*VUCA : Volatility - ความผันผวน Uncertainty - ความไม่แน่นอน Complexity - ความซับซ้อน และ Ambiguity - ความคลุมเครือ

กฎของผู้นำ  7 ข้อของซิกเว่ เบรกเก้


ในความเห็นของคุณธนาที่ได้ร่วมงานกับคุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตผู้บริหาร Dtac Leader ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง จึงจะทำให้ทัศนคติคนในองค์กรเปลี่ยนได้  เพราะเมื่อตัวเองเปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงตาม แต่อย่าคาดหวัง ให้ถือการที่คนอื่นเปลี่ยนแปลงตามเป็นผลพลอยได้


กฎผู้นำ 7 ของที่คุณธนาได้เรียนรู้จากคุณซิกเว่ เบรกเก้ ได้แก่


1) Leader must be Chief Storyteller :  Leader มีหน้าที่เล่าวิธีคิด หลักการทำงาน สิ่งที่เชื่อและไม่เชื่อ


2) Strategies = simple focus and actionable : นโยบายเข้าใจง่ายภายใน 1 หน้า A4 สามารถสื่อสารไปให้พนักงานระดับล่างที่สุดเข้าใจได้


3) What get measured, get done : นโยบายสามารถวัดได้ จึงจะทำให้สำเร็จมาก


4) Stay honest : มีอะไร ก็บอกลูกน้องตรงๆ ทั้งในยามทุกข์และสุข สร้างความเชื่อมั่นให้ทีมงาน


5) Leaders walk the talk :  พูดจริงทำจริง  เดินไปพบหน้างานให้มากๆ จะได้ยิน ได้เห็นและได้แก้ปัญหาหน้างาน สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน ทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์ด้วย


6) Remember to celebrate : อย่าลืมฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ เช่นยอดขายขึ้น อัตราความพึงพอใจลูกค้าดีขึ้น ฯลฯ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน สื่อให้ทุกคนรู้ว่าบริษัทเดินมาถูกทางแล้ว


7) Everyone is important : ทุกคนเท่ากัน  ไม่คิดว่าตัวเองใหญ่กว่าคนอื่น คิดและปฏิบัติกับลูกน้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีความเท่าเทียม ตัวของ Leader เองก็มีจุดอ่อน ขอโทษเป็น หากไม่รู้ก็ยอมรับว่าไม่รู้


ที่สำคัญนอกจากที่สมัยก่อนมีคำถามแค่ What, How ทำอะไร ทำอย่างไร แต่การจะได้ใจพนักงานคือการตอบ Why ให้ได้ว่า “ทำทำไม"

คุณสมบัติอะไรที่ Leader ต้องมี


คุณธนายังกล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จของ Leader ระดับโลก เช่น Nelson Mandela อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้ต่อสู้นำไปสู่การยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิว ที่ได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำจากพ่อของเขาที่ให้การประชุมเผ่านั่งเป็นวงกลม แสดงว่าทุกคนเท่ากัน และในที่ประชุมทีต้องการความเห็น ให้ผู้นำพูดเป็นคนสุดท้าย เพราะจะได้ฟังทุกคน ทำให้การประชุมเป็นพื้นที่ปลอดภัย พนักงานทุกระดับได้ออกความคิดเห็น นำมาสู่ไอเดียดีๆ และฉันทามติในที่ประชุม


Satya Nadella
CEO ไมโครซอฟต์ ที่ประสบความสำเร็จในการทรานสฟอร์มองค์กร ก็ใช้นโยบาย “Mobile First, Cloud First “ ที่เรียบง่าย สื่อสารชัดเจน รวมถึงการมี Growth Mindset และทำให้พนักงาน Microsoft มี Growth Mindset ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า Skill ในโลกปัจจุบันที่ต้องเรียนรู้ตลอด


นอกจากนี้ อีกหนึ่งความรับผิดชอบของการเป็น Leader คือ การรับผิดชอบความผิดของลูกน้อง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในทีมงานว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น Leader พร้อมจะปกป้องพวกเขา


ท้ายสุด คุณธนาสรุปความเป็น Leader ด้วยแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ว่าเคล็ดลับของ Leader ก็เหมือนเคล็ดลับของ รถไฟชินคันเซ็น ที่ไม่ใช่เครื่องจักรหัวขบวนเป็นคนลากโบกี้ แต่ชินคันเซ็นจะมีเครื่องจักร 1 เครื่องต่อ 1 โบกี้ เวลาสตาร์ทไปพร้อมกันหมด  วิธีที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญก้าวหน้า จึงไม่ใช่ Leader พาไปคนเดียว แต่ Leader สามารถ Inspire ให้ทุกคนเป็นเครื่องจักร สตาร์ทเครื่องและ ขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน


ที่มา : การสัมมนาหลักสูตร “Mission X” The Boot Camp pf Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 4 : CEO Talk โดย คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด วันที่ 19 กรกฎาคม 2565