นวัตกรรมจำเป็นแค่ไหน แค่ไหนคือนวัตกรรม?

การจะขายสินค้าได้ ตัวสินค้าต้องตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคิด ทดสอบ ทดลอง เรียนรู้และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เพื่อให้ทันลูกค้าและทันโลกที่หมุนเร็ว เปลี่ยนไวอยู่ทุกวัน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแข่งขันได้ก็คือ นวัตกรรม (Innovation) ซึ่งนวัตกรรมที่แท้นั้นมีขอบข่ายแค่ไหน คุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้บอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจ


นวัตกรรมในอดีต อาจไม่ใช่นวัตกรรมในปัจจุบัน


นวัตกรรมมีระยะเวลา เพราะความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย คุณปริวรรตยกตัวอย่าง iPhone รุ่นแรก ที่แม้ในขณะนั้นจะมีราคาสูง แต่สามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ ในการใช้งานได้ หลายคนจึงลงทุนหอบหิ้วมาจากต่างประเทศเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ แต่ปัจจุบันนี้ สินค้ารุ่นดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้ว แม้จะลดราคาลงมา ก็หาคนยอมจ่ายแทบไม่ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจต้องพัฒนานวัตกรรมตลอดเวลา เพื่อหาคุณค่าที่แท้จริงของสินค้าและบริการที่มีต่อลูกค้าให้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องขายสิ่งเดิมๆ ในราคาที่ถูกลง หรือถูกทำให้หายไปจากตลาดในที่สุด 

why-innovation-02

สิ่งประดิษฐ์ต่างกับนวัตกรรม


สิ่งประดิษฐ์ (Invention) เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเป็นสิ่งแรกของโลก เน้นการวิจัย มีไม่กี่ชิ้น แต่อาจไม่มีคนใช้ ส่วนนวัตกรรมจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ ได้ และผู้ใช้ยอมจ่ายเงินเพื่อสิ่งนี้ สร้างกำไรให้บริษัทได้ พัฒนาและทำซ้ำได้ รวมถึงอยู่บนพื้นฐานของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ดังนั้น นวัตกรรมจึงไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงโมเดลธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ผู้ใช้ทั่วไปอาจจะไม่ยอมเสียเงินถ้าต้องจ่ายค่าสมาชิก เพราะเป็น nice to have ไม่ใช่ must have อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็นทางเลือก แต่ข้อดีของเฟซบุ๊กที่เชื่อมเรากับคนรู้จักให้ใกล้กันมากขึ้น และเปิดให้คนทั่วไปใช้งานฟรี จึงมีฐานผู้ใช้งานที่สูงมาก ทำให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นนักการตลาดยอมจ่ายเงินเพื่อทำโฆษณาบนเฟซบุ๊ก


นวัตกรรม (Innovation) ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ แต่ต้องสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้ ยกตัวอย่าง NFT และ Metaverse ที่แม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็ยังไปไม่ถึงคำว่า “นวัตกรรม” เพราะยังไม่สามารถสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินได้ การพัฒนานวัตกรรมจึงต้องประกอบไปด้วย 3 สิ่งคือ คิดได้ – ทำได้ - ขายได้


1.  คิดได้แล้ว อย่าหวงไอเดีย เพราะทุกอย่างที่เราคิด ต้องนำไปพิสูจน์ก่อนว่า สามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริง หากไอเดียนั้นมีคนคิดไว้แล้ว ของเรามีจุดเด่น หรือข้อแตกต่างอย่างไร


2. ทำจริงได้หรือไม่ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และการใช้งานกับลูกค้า ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมี Minimum Viable Product (MVP) ในการทำไม่เท่ากัน


3.  ขายได้หรือไม่ ลูกค้ายอมจ่ายที่ราคาเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ตลอดหรือไม่ ใช้ในนานแค่ไหน มีกลยุทธ์แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอย่างไร เช่น Tesla วางตัวเองเป็น High End Fashion เน้นความเร็ว ฟังก์ชันครบ ราคาแรง กลุ่มเป้าหมายคือคนดัง กลยุทธ์และการสื่อสารจึงต้องแตกต่างกับกลุ่มทั่วไป หากขายกลุ่ม Mass ต้องลดฟังก์ชันบางอย่างลงหรือไม่ เพื่อให้ราคาจับต้องได้ เป็นต้น


เริ่มทำนวัตกรรมเร็วมีชัยไปกว่าครึ่ง


การทำวัตกรรม ไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงลูกค้าภายใน หรือคนในองค์กรด้วย เช่น ทำให้การประสานงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทได้ ซึ่งนวัตกรรมมีกระบวนการในการทำ ดังนั้น เริ่มทำเร็ว ย่อมมีโอกาสรอดกว่าไม่ทำอะไรเลย โดยคุณปริวรรต แนะนำให้เริ่มจากการทำ Business Model Canvas เพื่อหาความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และพิสูจน์สมมุติฐานก่อน อย่าตัดสินใจลงทุนด้วยเงินก้อนโตในทันที อีกทั้งลูกค้าอาจบอกไม่ได้ว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริงของตนเอง จึงต้องอาศัยการถามคำถามปลายเปิด และฟังลูกค้าให้มาก เช่น ลูกค้าอาจไม่ได้ต้องการม้าที่วิ่งเร็ว แต่ต้องการอะไรก็ได้ ที่สามารถเดินทางได้เร็วและสะดวกขึ้น


สิ่งสำคัญในการทำนวัตกรรมคือ การหาคุณค่าและความต้องการที่แท้จริงให้เจอ ทุกอย่างที่เราคิด คือสมมุติฐานที่ต้องพิสูจน์  การทำเช่นนี้ ทำให้เริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ได้ เราอาจจะได้มา 10 ไอเดีย เพื่อนำไปพิสูจน์สมมุติฐานว่า อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ โดยกระบวนการพิสูจน์ ไม่จำเป็นต้องทำ Final Product แต่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้น หรือบริการตัวอย่าง ให้ลูกค้าทดลองก่อน แล้วค่อยนำสิ่งที่ใช่มาทำจริง

Open Innovation


การทำนวัตกรรมสามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาขยายผลได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด เช่น นำบริษัทที่เก่งเรื่องทีวี และอินเทอร์เน็ต มาจับมือหรือควบรวมกันเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือลงทุนกับ Startup ด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์กัน นำองค์ความรู้ที่ได้ไปแข่งขัน บางบริษัทมีหน่วยงานดูแล Startup ของตัวเอง นำคนข้างในมาเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ ถ้าดีก็แตกไปเป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและทรัพยากรที่มีอยู่ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศด้วย ทำให้นวัตกรรมมีทั้งระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม ระดับประเทศ และระดับโลก


การทำนวัตกรรมมีความเสี่ยง และต้องใช้เงินทุน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นเงินให้เปล่าไม่เกิน 75% ของงบประมาณโครงการ สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (Open Innovation) หากประสบความสำเร็จก็สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองต่อได้ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็ได้เรียนรู้จากเงินที่เสียไปเพียง 25% ของงบประมาณ สามารถนำส่วนที่เหลือไปเรียนรู้ในโครงการอื่นๆ ต่อไปได้ โดยดูรายละเอียดการสนับสนุนเงินทุนได้ที่ https://open.nia.or.th/ แต่หากนวัตกรรมนั้น กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม จะเรียกว่า Thematic Innovation ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมถึงมีการอบรมให้ความรู้ และสร้าง Ecosystem ที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วย


สิ่งที่คุณปริวรรตทิ้งท้ายไว้คือ “นวัตกรรมจำเป็นต้องทำกับทุกขนาดธุรกิจ ถ้าไม่ทำ ธุรกิจมีโอกาสล่มสลาย ถูกเอาออกจากอุตสาหกรรมได้ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทใหญ่ ดังนั้นในฐานะของผู้ประกอบการต้องใช้เวลาและลงทุนกับการทำนวัตกรรมตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้ถึงวันที่สายเกินไป”


ที่มา: หลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 7 ธันวาคม 2565