ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
PAC: จากธุรกิจครอบครัว สู่องค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมประหยัดพลังงาน
การได้เรียนรู้จากคนมีประสบการณ์ตรง ก็เหมือนได้เคล็ดลับและทางลัดกึ่งสำเร็จรูปในการนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในธุรกิจ การเริ่มต้นไม่ง่าย และระหว่างทางก็มีบทเรียนให้เรียนรู้มากมาย พบกับเรื่องราวของ คุณอัจฉรา ปู่มี (คุณเก๋) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) หรือ PAC ที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว สู่การเป็นบริษัทแนวหน้าที่โดดเด่นด้านการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ การันตีด้วยรางวัลด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านการประหยัดพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมกับสินค้าตัวแรก
คุณเก๋เริ่มต้นการทำงานด้วยการเข้ามาช่วยกิจการในครอบครัว ซึ่งเป็นธุรกิจตัวแทนจำหน่ายแอร์ พอทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ก็เห็นว่าการเป็นตัวแทนไม่ยั่งยืน จึงออกมาเปิดบริษัทเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นของตัวเองขึ้น ตั้งต้นจากความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี และสิ่งนั้นสอดคล้องกับธุรกิจของครอบครัว เพราะไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ต่อยอดได้ง่าย ลงทุนน้อย โดยมองไปที่การทำงานของเครื่องปรับอากาศ ที่จะมีความร้อนถูกปล่อยทิ้งจากการทำงานเป็นจำนวนมาก หากสามารถทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าไฟสองต่อในการทำให้แอร์เย็น และน้ำร้อน เป็นการนำพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
เมื่อได้ไอเดียแล้ว คุณเก๋ก็ไปขอทุนทำนวัตกรรม แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้มีแหล่งเงินทุนสำหรับ Startup พอเข้าไปขอทุนช่วงเปิดบริษัทใหม่ ไม่มีตัวเลขรายได้และกำไรไปแสดง จึงไม่สามารถขอทุนได้ ต้องใช้เงินตัวเองจ้าง supplier ผลิต และเลือกที่จะติดโลโก้ที่เป็นของธุรกิจในครอบครัว เพราะคุณเก๋มองว่า อย่างน้อยลูกค้าของพ่อก็รู้จัก โดยสินค้าที่ทำออกมาในครั้งนั้น ดูเหมือนถังน้ำสแตนเลสที่ใช้เก็บน้ำตามบ้าน พอพัฒนา และทดสอบการใช้งานแล้ว ก็จดอนุสิทธิบัตรไว้ จนเมื่อธุรกิจเริ่มมีรายได้มากพอ จึงลงทุนจ้างโรงงานผลิตให้ดูทันสมัย และน่าใช้งานขึ้น
ท้อได้แต่อย่าถอย ทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา
เส้นทางการทำธุรกิจไม่ได้เป็นกราฟขาขึ้นสดใสเหมือนใจคิด คุณเก๋เล่าให้ฟังว่า เคยคิดถอดใจเพราะความเครียด แม้ว่าของเราจะดี แต่ขายไม่ได้ ทำให้ขาดทุน เป็นหนี้ ต้องนำเงินตัวเองมาหมุน ผ่านไปไม่เท่าไหร่ก็มีปัญหากับพาร์ทเนอร์ รวมถึงเคยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และจบลงด้วยการฟ้องร้องไม่สำเร็จ อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาเป็นเหมือนบททดสอบ ต้องตั้งสติ แก้ปัญหาไปที่ละส่วน พยายามเข้าไปอยู่ในเครือข่ายต่างๆ และหาทุน หาที่ปรึกษา รวมถึงหาที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยในสิ่งที่จำเป็นและเราไม่ถนัด ลงทุนทำระบบบัญชีใหม่ เพราะต่อให้เก่งในการสร้างนวัตกรรม ก็ต้องรู้ว่าผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัทเป็นบวกหรือลบ จนธุรกิจค่อยๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง ได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ได้แรงบันดาลใจจากการเข้าคอร์สหาความรู้ต่างๆ ทำให้รู้ว่า ของดีไม่ใช่ว่าจะขายได้ ต้องดูดีด้วย ถึงจะโต จึงเป็นที่มาของการเริ่มทำ Branding และ CI จริงจัง พร้อมออกแบบโลโก้ใหม่ และในช่วงนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มีทุนสำหรับจ้างที่ปรึกษาระดับแนวหน้า ผู้ประกอบการจ่ายเอง 25% ต่อมาได้จดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายจะถูกแล้ว ยังถูกละเมิดได้ยาก อยากขายสินค้าที่ประเทศไหน ก็สามารถไปจดที่ประเทศนั้นๆ ได้
อีกทั้งการที่คุณเก๋ได้เดินทางไปต่างประเทศ ไปร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกกลุ่ม ได้รับเชิญไปพูดในเวทีระดับนานาชาติ ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่เป็น Clean Energy มาแรงมากในระดับโลก ก็ยิ่งช่วยเติมพลังให้กับคุณเก๋ รวมถึงในหลายประเทศทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่ทำธุรกิจด้วย จนความคิดเดิมที่ว่า
“ทำไมต้องเป็นเราที่ถูกเลือกให้มาทำธุรกิจนี้”
เปลี่ยนมาเป็นการเข้าถึง เข้าใจ แล้วบอกกับตัวเองใหม่ว่า
“เรามาถูกทางแล้ว”
เกิดไอเดียผุดขึ้นในหัวมากมาย และมั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้น
Innovation & Vision
ผลิตภัณฑ์ของ PAC เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการสร้างสรรค์ระบบทำน้ำร้อน และระบบปรับอากาศที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดขายที่นวัตกรรม เน้นกลุ่มลูกค้า B2B เป็นหลัก ซึ่งการพัฒนานวัตกรรรมต้องทำสม่ำเสมอ คอยดูเทรนด์ที่ธุรกิจเราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้ รู้เราก่อนว่าเก่งอะไร แล้วตลาดไหนที่สามารถเข้าไปเป็นผู้เล่นได้ ซึ่งช่วงที่มีปัญหาฝุ่น pm 2.5 ทางคุณเก๋ก็ลงไปทำเครื่องแลกเปลี่ยนอากาศ ส่วนช่วง COVID-19 โรงแรมกับสระว่ายน้ำเด็กเปิดไม่ได้ ไม่มีลูกค้า ก็ต้องเปลี่ยนมาทำออนไลน์จับกลุ่มลูกค้ามีฐานะและบ้านมีสระว่ายน้ำ และด้วยสินค้าฮาร์ดแวร์สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย จึงต้องพัฒนาซอฟท์แวร์ควบคู่ไปด้วย โดยสิ่งสำคัญในการทำนวัตกรรม ต้องคุยกับลูกค้า ฟังให้มาก แล้วนำมาปรับปรุง พัฒนา อย่าคิดเอง
นวัตกรรมที่ PAC นำมาใช้ในการทำธุรกิจเริ่มต้นจาก Product Innovation เพราะในช่วงแรก คุณเก๋เน้นไปที่การทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อน โดยตั้งต้นด้วยเงินตัวเอง ใช้ทีมงานของพ่อ ที่แม้จะไม่มีทักษะด้านวิศวกรรม แต่ก็สามารถทำออกมาได้ จากนั้นจึงเริ่มขอทุน พอเริ่มมีกำไร ก็หันมาทำ Operation Innovation เช่น ระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร (ERP) จ้างที่ปรึกษา จ้างคนทำ Financial Projection รวมถึงการเข้าไปอยู่ในเครือข่ายบางอย่างก็จะมีทุนให้เช่นกัน นอกจากนี้ คุณเก๋ยังทำ Culture Innovation ตั้งแต่การหาคน การพัฒนาคน หาทุน หาหน่วยงานสนับสนุน หรือหาพาร์ทเนอร์ที่ใช่และเชื่อถือได้มาช่วยทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของตัวเงินเสมอไป
การทำนวัตกรรมทำให้องค์กรมีแต้มต่อ และต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ที่สำคัญอย่ามองเฉพาะตลาดในประเทศ หรือเอเชีย ต้องมองตลาดโลก พยายามหาเครือข่าย รวมถึงเข้าโปรแกรมต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตัวเองในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล ค่อยๆ ทำแบบ connect the dot ไปเรื่อยๆ จนได้สิ่งที่จะมาเป็น vision ขององค์กรเรา
คุณเก๋ให้นิยามของ vision ไว้ว่า เป็นสิ่งที่เรายังไปไม่ถึง แต่เรามองตัวเองว่าต้องการเป็นอะไร เกิดจากการช่วยกันคิด และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เรามีรากฐานบางอย่างที่จะพูดได้ ซึ่ง vision ที่คุณเก๋ได้มาก็คือ
“การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมประหยัดพลังงานที่ได้รับความไว้วางใจในระดับสากล”
และเมื่อได้มาแล้ว อย่ารู้คนเดียว ผู้บริหารไปจนถึงแม่บ้าน ต้องรับรู้ และมองว่าเป็นเรื่องของทุกคนที่จะพาองค์กรไปให้ถึง vision นี้
สิ่งที่คุณเก๋ฝากไว้ก็คือ ใครที่เป็นผู้หญิงแล้วต้องมาดูแลธุรกิจ อย่ามองว่าเราเป็นผู้หญิง เราทำไม่ได้ อะไรที่มีทุน ควรไปหาทุนมาทำ ซึ่งปัจจุบันมีทุนทำนวัตกรรมมากมาย ทั้งทุนที่ช่วยเรื่องเงิน คำปรึกษา และองค์ความรู้ อีกทั้งการทำนวัตกรรมยังสามารถดึงดูดคนเก่งๆ หรือนักลงทุนเข้ามาได้ด้วย
ที่มา: หลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 7 ธันวาคม 2565