ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Clickboxes: สร้าง Prototype ทลายทุกข้อจำกัด ขับเคลื่อนธุรกิจ SME
ในช่วงที่วิกฤตโควิดเริ่มโหมกระหน่ำ Clickboxes แบรนด์บรรจุภัณฑ์กระดาษ ได้เปิดตัวในช่องทางออนไลน์ ชูจุดแข็งเรื่องการออกแบบและไม่มีกำหนดออเดอร์ขั้นต่ำ เป็นองค์ประกอบสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองได้ง่ายขึ้น คุณอัญญรัตน์ จริยาสมานฉันท์ หรือคุณติ๊ก กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Clickboxes แชร์ประสบการณ์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Prototype ต้นแบบผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้า
จุดขายคือการออกแบบเพิ่มมูลค่า
บริษัท เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2535 จากที่ 40 ปีก่อนหน้าเคยดำเนินกิจการในชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกล่องกระดาษอมรเกียรติ ก่อตั้งโดยรุ่นคุณพ่อ คุณอนุรักษ์ จริยาสมานฉันท์ ซึ่งเป็น Prototype ในการทำงานของคุณติ๊ก “คุณพ่อสอนงานด้วยการลงมือทำจริงๆ อย่างแต่ก่อนที่ออกแบบให้กับลูกค้าทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออก ก็จะนำการออกแบบเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ให้กล่องเล็กที่สุด เพื่อจะได้โหลดขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ให้ได้มากที่สุด เป็นการช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้ลูกค้าทางอ้อม นอกจากนี้ เมื่อก่อนลูกค้าต้องใช้โฟมกันกระแทกสินค้า แต่พอส่งออกไปโซนยุโรป โดนเก็บค่ากำจัดโฟมเพิ่มขึ้น เราจึงออกแบบโดยใช้กล่องกระดาษมาแทนโฟมมากที่สุด เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือน DNA ในการทำธุรกิจของเอกราชฯ ที่ใช้การออกแบบสินค้ามาเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการแพ็คกิ้ง ลดของเสีย รักษาคุณภาพ พัฒนากับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง” คุณติ๊กกล่าว
ขยายเข้าออนไลน์
ในมุมมองของคุณติ๊ก การทำตลาดออฟไลน์ด้วยการให้เซลล์เข้าไปติดต่อลูกค้าแต่ละราย กว่าจะได้ลูกค้าต้องใช้เวลาไม่น้อย จังหวะพอดีกับที่คุณติ๊กเห็นเทรนด์ธุรกิจมาทางออนไลน์มากขึ้น จึงปรึกษาในครอบครัว และสร้างแบรนด์ใหม่
“Clickboxes”
สำหรับลองทำตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ เริ่มจากตัวคุณติ๊กเป็นแอดมินเองเพื่อจะได้รู้จักกลุ่มลูกค้า จากที่ลุยทำปีแรกแบบไม่รู้อะไรเลยและยังไม่กล้าลงทุน ก็มียอดขายเข้ามา 2 ล้าน จากทั้งลูกค้ารายย่อย และลูกค้า B2B รายแรกซึ่งก็คือ Flash Express ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนให้คุณติ๊กเห็นว่าทำออนไลน์ไม่ได้ขายได้เฉพาะ B2C แต่ก็สามารถต่อยอดกับกลุ่มลูกค้า B2B ได้ด้วย ในปีที่ 2 จึงมุ่งเน้นต่อยอด
Clickboxes
ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เช่น ทดลองตลาดหาความต้องการของลูกค้า มีการไปออกบูธที่เมืองทองธานี ออกแบบบูธทำด้วยกระดาษทั้งหมด โดยทำเป็นรูปจิ๊กซอว์เพื่อสร้างจุดขายให้คนมาเยี่ยมชมบูธได้เห็นความแตกต่างด้านไอเดียและดีไซน์และสะดวกต่อการขนย้าย ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริษัท อีกทั้งเป็นโอกาสเปิดตัว
Clickboxes
ให้คนรู้จักมากขึ้น ตกแต่งบูทธีมร้านกาแฟด้วยดอกไม้กระดาษ เพื่อให้คนอยากเข้ามานั่งคุยกับเรา ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเห็นความต้องการลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่กล่อง เรายังออกแบบสินค้าที่ทำจากกระดาษอื่นๆมาโชว์ด้วย เช่น โคมไฟ โต๊ะ ที่หิ้วแก้วกาแฟ ฯลฯ และแม้จะเป็นช่วงโควิดแต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก สามารถเก็บเกี่ยวความต้องการของลูกค้าได้มากทีเดียว
คิดตอบโจทย์ Pain Point ลูกค้า
คุณติ๊กเล็งเห็นว่า Pain Point ของลูกค้าคือการออกแบบ และออเดอร์ขั้นต่ำ Clickboxes จึงพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์การช่วยออกแบบและการผลิตที่ไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีค่าบล็อก ค่าแม่แบบ โดยใช้การพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ทและดิจิทัล ซึ่งการพิมพ์อิงค์เจ็ทสามารถทำ Prototype ในปริมาณน้อยได้อย่างรวดเร็ว มีไฟล์งาน ก็เอามาพิมพ์ได้เลย ใช้ Laser Cutting ตัดชิ้นงาน การพิมพ์แบบดิจิทัล on demand ก็สามารถพิมพ์งานพิมพ์สวยงามทดแทนระบบการพิมพ์ออฟเซ็ตได้โดยไม่ต้องมีปริมาณขั้นต่ำเช่นกัน Clickboxes สามารถสร้างผลงานชิ้นงานให้กับลูกค้า SME รายย่อยที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์อย่างมากโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่คนอยากทำเริ่มธุรกิจของตัวเองหรือทำธุรกิจเสริม และเหมาะกับการทำโปรเจ็กต์ทดลองอีกด้วย
นอกจากนี้คุณติ๊ก ก็ได้ทำผลิตภัณฑ์กล่องสำเร็จรูปที่มีจุดเด่นการดีไซน์ ได้แก่กล่องพิซซ่า ที่มีทั้งไซส์สแตนดาร์ดสำเร็จรูป และกล่องที่พิมพ์ลายของแบรนด์ รวมถึงแพ็คเกจจิ้งอาหารเดลิเวอรี่ โดยในช่วงโควิด มี SME หน้าใหม่มากมายที่มาทำธุรกิจ Food Delivery จึงนับว่าธุรกิจ Clickboxes ตอบโจทย์ SME ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้จากตัวเลขยอดขายปีแรก (พ.ศ.2562) 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านบาทในปี 2563 และ 10.34 ล้านบาทในปี 2564 มีลูกค้าทักเข้ามากว่า 1,800 ราย เพิ่มยอดขายโดยรวมและมาร์จิ้นในภาพรวมเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
ชูจุดเด่นด้วย User Experience
ในการทำ Design Thinking สำหรับ Prototype มีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ
User Interface (UI)
- Color, Font Structure, Size, Function และ Distribution และ
User Experience (UX)
– Multifunction, Cost, Reduction Convenient, Efficiency, Creativity, First Impression ซึ่งคุณติ๊กให้ความสำคัญและชู UX เป็นจุดขาย “เราใช้เวลาคุยกับลูกค้าค่อนข้างเยอะ ว่าลูกค้าต้องการอะไร เราจะแนะนำเพิ่มเติมอะไรได้อีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าโดดเด่นขึ้น” คุณติ๊กกล่าว
ทั้งนี้การใช้ดีไซน์เพิ่ม Value added ไม่จำเป็นต้องแพง ก็สามารถทำให้สินค้าโดดเด่น ดูดีได้ และดีไซน์เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆของลูกค้า ทำหน้าที่ Multi function เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ความคิดสร้างสรรคเพิ่มโอกาสการขาย สร้างกิมมิค เรียกความสนใจ แพ็คเกจจิ้งโดดเด่น สามารถทำหน้าที่เป็น display สื่อสารตัวสินค้าได้ด้วย ทำให้ยอดขายเติบโต ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายของ Clickboxes ที่ต้องการให้สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ มีคุณค่ามากกว่าแค่บรรจุภัณฑ์ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเทศกาล ทั้งวิกฤต และ โอกาส ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน อย่างไม่มีข้อจำกัด
“การเริ่มทำ Prototype หรือ Business Model ที่ผ่านมา ล้วนเริ่มต้นโดยการไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า แต่ติ๊กไม่ได้คิดอย่างเดียว แค่ลองลงมือทำและ ทดสอบดู จึงรู้ว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้นอกจากเราไม่ได้ทำ เพราะถ้าเราได้ทำแล้วก็จะพบหนทาง เส้นทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ แล้วจะรู้สึกสนุกกับการเริ่มต้น ได้เรียนรู้กับความล้มเหลว และปรับตัวให้เร็วกว่าเดิม” คุณติ๊ก กล่าวสรุป
ที่มา : คอร์สอบรมออนไลน์ SCB SME : Innovation Based Enterprise#3 “การนำ Brand, UX, UI และ MVP มาปรับใช้ในบริษัท” วันที่ 19 มกราคม 2565