“Sea” จาก Startup สู่องค์กรผู้สร้าง Platform และผลิตภัณฑ์ชื่อดังระดับโลก

จุดเริ่มต้นจากความชอบเล่นเกม และ Passion ที่อยากให้ชีวิตของผู้คนและคนทำธุรกิจตัวเล็กๆ ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี ทำให้เกิด Startup น้องใหม่ชื่อ Garena ขึ้นในปี 2009 เริ่มแรกเน้นการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนปัจจุบันได้ขยายไปทั่วโลก และเปลี่ยนชื่อเป็น Sea ในเวลาต่อมา มีผลิตภัณฑ์และบริการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น ROV, Free Fire, Shopee, ShopeePay โดย ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Senior Director, Sea Thailand ได้มาแบ่งปันเรื่องราวที่กว่าจะมาเป็น Sea Thailand ไว้ในหลักสูตร MissionX The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation วันที่ 18 สิงหาคม 2565

sea-thailand-01

เริ่มจาก Passion และเข้าใจความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้า


คุณ Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Sea Group ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ พอโตขึ้นและได้รู้จักคนมากขึ้น จึงได้รับการทาบทามให้มาเป็นผู้บริหารในบริษัทเกมแห่งหนึ่ง จนในปี 2009 ได้ตั้งบริษัทเกมของตนเองขึ้นในชื่อ Garena และหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการมอบประสบการณ์ที่ดีในการเล่นเกมให้กับลูกค้า เนื่องจากการเล่นเกมในยุคแรกๆ จะนั่งเล่นคนเดียวผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ต่อมาถูกพัฒนาให้สามารถพูดคุยและเล่นกับเพื่อนที่อยู่กันคนละที่ได้ ส่วนเหล่าเกมเมอร์ที่อยากได้ไอเทมพิเศษ หรือต้องการพิชิตเป้าหมายต่างๆ ก็จะต้องคอยเติมเงินในเกมอยู่เรื่อยๆ คุณ Forrest Li มองเห็นปัญหาในจุดนี้เพราะประสบมากับตนเอง จึงเริ่มทำธุรกิจ AirPay ขึ้น โดยในช่วงแรกตั้งเป็นจุดให้เติมเกมได้จากร้านอินเทอร์เน็ต ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบ Wallet ก่อนจะกลายเป็น ShopeePay ในปัจจุบัน ที่ทำได้มากกว่าแค่การเติมเกม แต่สามารถจองตั๋วหนัง เติมเงินมือถือ และจ่ายบิลต่างๆ ได้ด้วย


นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดไปทำแพลตฟอร์ม e-Commerce ในชื่อ Shopee เพราะเห็นโอกาสในการเข้าไปตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น โดยช่วงแรกทำเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ สามารถเข้ามาขายของได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ด้านผู้ซื้อก็สามารถยื่นข้อเสนอต่อราคากับผู้ขายได้ ต่อมาได้เพิ่มส่วนของ Shopee Mall ให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาเปิดร้านได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทั้งผู้ซื้อยังสามารถขอเงินคืนได้ด้วย หากยังไม่กดยืนยันการจ่ายเงินให้แก่ผู้ขาย ช่วยป้องกันการได้รับสินค้าไม่ตรงตามความต้องการ และเพื่อให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มบ่อยขึ้นและนานขึ้น จึงได้ใช้เกมมาดึงดูด สามารถสะสมเหรียญและคูปองจากการเล่นเกม นำไปเป็นส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าใน Shopee ได้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการซื้อมากขึ้นด้วย


Sea เข้ามาในประเทศไทยในปี 2012 ปัจจุบันมีสามธุรกิจหลัก ได้แก่

  1. Garena: เป็นธุรกิจเกม และ Digital Entertainment ที่มีผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลก

  2. Sea Money: เป็น ธุรกิจ Digital Financial Service ให้บริการ Payment และ Digital Lending ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  3. Shopee: เป็นธุรกิจ e-Commerce ที่มียอดสั่งซื้อจากทั่วโลกมากถึง 2 ล้านล้านออร์เดอร์ในไตรมาสที่ผ่านมา


ในปี 2017 บริษัท Sea ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก และเติบโตเรื่อยมา นับเป็น Startup ที่มีมูลค่าบริษัทแตะหลักล้านล้านบาทได้ในเวลาเพียง 13 ปี

เรียนรู้ไว ปรับตัวไว ได้ไปต่อ


ตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลปรับเปลี่ยนเร็วมาก และถูกดิสรัปตลอดเวลา เกมเปลี่ยนรูปแบบการเล่นบน PC ไปเป็นมือถือ ทำให้เล่นได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ทำให้ Garena ต้องปรับตัว จากเดิมใช้การซื้อลิขสิทธิ์เกมดังๆ เข้ามา ก็หันมาสร้างเกม Free Fire บนมือถือเป็นของตัวเองขึ้น จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก


ส่วน Shopee ช่วงเริ่มต้นจะเป็น C2C ที่ใครจะเข้ามาเปิดร้านก็ได้ แต่การจะเปิดร้านก็ไม่ใช้เรื่องง่ายสำหรับทุกคน จึงเกิด Shopee University และ Shopee Boothcamp เพื่อสอนคนให้เรียนรู้ และขายออนไลน์ได้ รวมถึงมี International Program ให้ขายสินค้าไปต่างประเทศได้ด้วย เป็นการดึงดูดให้มีผู้ขายเข้ามามากขึ้น ทำให้ในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงโควิด ยอดคนขายของที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ขยายตัวถึง 70% ส่วนกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่นอกเมืองใหญ่ก็เติบโตขึ้น 40% เกิดเป็น Local Trends อยู่ที่ไหนก็ขายของได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะในเมืองใหญ่ หลายแบรนด์เข้ามาขายสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อมากขึ้น มีการทำ Marketing Strategy ในรูปแบบต่างๆ เช่นการใช้คนดังเข้ามา LIVE ขายของ การขายสินค้าเป็นเซ็ท หรือขายแพ็กใหญ่ในราคาส่ง เป็นต้น


ข้อมูลต่างๆ ที่ Shopee ได้มา จะถูกนำไปทำ Personalization เพื่อให้ผู้ซื้อค้นหาแล้วเจอของที่ตรงความต้องการมากขึ้น มีระบบแนะนำสินค้าที่น่าจะตรงกับความสนใจ รวมถึงนำไปสร้าง Engagement ด้วยเกมใหม่ๆ ที่เล่นแล้วได้คูปองหรือส่วนลดสำหรับนำไปซื้อสินค้าในแอป มี Livestreaming ที่ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงผู้ขายได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มอัตราเร่งในการซื้อขาย มี Feed และ Live Chat ให้วิเคราะห์การคุย ผู้ขายสามารถทำแคมเปญ หรือโปรโมชันกับลูกค้าที่เคยเข้ามามีส่วนร่วมกับร้านได้ ตลอดจนมี Seller Center ให้ผู้ขายเข้าไปดู Insight ของลูกค้าเพื่อนำไปวิเคราะห์และทำการตลาดสร้างการเติบโตได้ มีโควตาฟรีให้ทดลองโปรโมทสินค้า และส่งเสริมให้ขายสินค้าไปต่างประเทศ โดยนำร่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ภาษาอังกฤษก่อน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ โดยทุกอย่างทาง Shopee ดูแลให้ ผู้ขายทำเหมือนเดิม แต่ได้ตลาดเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่จะนำไปขายต้องไม่เป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศนั้นๆ ด้วย

คนที่ใช่ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร


Sea ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าคนสำคัญที่สุดในการทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ โดยยังรักษา Startup Spirit ไว้เป็น DNA ขององค์กร ซึ่ง ดร.ศรุต มองเป็น 3 มุมด้วยกันคือ ต้องอดทนฝ่าฟันงานไปให้ได้, หากสิ่งที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ ต้องสามารถปรับตัวได้ และยอมตัดใจเพื่อทำงานใหม่ๆ ได้ สุดท้ายคือความคล่องตัวในการทำงาน โดยเจ้าของเกม หรือเจ้าของโปรเจกต์จะเป็นเหมือน CEO ที่สามารถบริหารจัดการงานและทีมของตนเองได้อย่างเต็มที่


พนักงานของ Sea Thailand จะเป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เช่นเดียวกับกลุ่มอายุของลูกค้า โดยการสรรหาคนจะดูจาก Core Value ขององค์กร 5 ตัว ได้แก่ We Serve, We Run, We Adapt, We Commit และ We Stay Humble ภายใต้เงื่อนไขว่า คนนั้นต้องมีทัศนคติที่ดี มีทักษะและความชอบในงานที่จะทำ โดยกลุ่มที่เป็น Talent จะต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจที่ดี และเพื่อรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ในองค์กร ก็จะเปิดโอกาสให้หมุนเวียนไปทำงานอื่นทุก 6 เดือน และจะได้เป็นผู้นำในการ Lead Project รวมถึงฝึกงานในต่างประเทศด้วย


ทุกความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่จะมีความล้มเหลวให้ได้เรียนรู้อยู่ระหว่างทาง การให้โอกาสก็ต้องยอมรับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่ง ดร.ศรุต ได้ยกตัวอย่างกรณีของ Now Delivery ที่ทาง Sea Thailand เคยเปิดให้บริการส่งอาหารในช่วงปลายปี 2017 แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงหลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน แต่สิ่งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ทีมงานได้เรียนรู้การล้ม เพื่อที่จะลุกขึ้นมาใหม่ด้วยก้าวที่มั่นคงกว่าเดิม โดยบริการนี้ได้เปิดตัวขึ้นอีกครั้งในชื่อ Shopee Food บนสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและโอกาสในการเติบโต


ที่มา MissionX The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation วันที่ 18 สิงหาคม 2565