ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
CSR ESG และ Sustainability ต่างกันอย่างไร
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความยั่งยืน จะมี 3 คำที่นักลงทุนได้ยินบ่อยครั้ง ได้แก่ คำว่า CSR ESG และ Sustainability ซึ่งคำเหล่านี้มีความเกี่ยวข้อง แต่ก็มีความแตกต่างกัน
สำหรับ
CSR
ย่อมาจาก
Corporate Social Responsibility
หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ซึ่งไม่ใช่แค่การปลูกป่า บริจาคสิ่งของ หรือการทำกิจกรรมเพื่อสื่อสารให้เห็นถึงการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของ CSR เท่านั้น จากข้อมูลใน "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม" เว็บไซต์ setsustainability.com นิยาม CSR ว่า คือ การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
แนวปฏิบัติเรื่อง CSR มีด้วยกัน 8 เรื่องคือ 1.การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2.การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3.การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 4.ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 5.การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 6.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 7.นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม 8.การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ ESG หรือ Environment: E สิ่งแวดล้อม Social: S สังคม และ Governance: G บรรษัทภิบาล เป็นแนวคิดหรือหลักเกณฑ์ในการประเมินและวัดผลความยั่งยืนของธุรกิจที่คำถึงถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ใน 3 มิติ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันที่ให้คะแนนหรือจัดอันดับ ESG ให้กับองค์กรธุรกิจอยู่หลายแห่ง ภายใต้กรอบหรือมาตรฐานที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ด้วย ESG เป็นแนวคิดที่มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้กลายเป็นกฎกติกาใหม่ในโลกธุรกิจและการลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและสากล ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ มีการะบุชัดเจนว่า อะไรบ้างคือการดำเนินการที่เข้าข่าย E S และ G ทั้งยังเน้นเรื่องการวัดผลปฏิบัติงาน กำหนดบทลงโทษของการไม่ปฏิบัติตามเอาไว้ชัดเจน โดยที่การกำหนดเกณฑ์ กฎหมาย การจัดทำเกณฑ์วัดผล และการกำหนดบทลงโทษ มีพัฒนาการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ในส่วนของ Sustainability หรือ ความยั่งยืน คือ เป้าหมายปลายทางที่ทุกภาคส่วนต้องการให้เกิดขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้นิยามไว้ว่า “การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบหรือจำกัดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไป”ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากภาคธุรกิจดำเนินงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าในระยะยาว (Long-term value creation) ภายใต้กรอบที่วัดผลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน
ถ้าเปรียบแล้ว CSR ก็คือจุดเริ่มต้น เพราะความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่เริ่มลงมือทำก่อน ส่วน ESG เป็นจุดคัดกรอง ที่จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า การกระทำที่เกิดขึ้นตรงกับหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับระบุด้านใด โดยที่มีเครื่องชี้วัดผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องและนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริงๆ ขณะที่ Sustainability คือจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เราต้องการจะไปให้ถึง ดังนั้นทั้ง 3 คำนี้ จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แยกกันไม่ขาด โดยมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน
คำถาม คือ ระหว่าง 3 คำนี้ อะไรสำคัญกับนักลงทุนมากที่สุด?
ในประเด็นนี้ ผมมองว่า Sustainability มีความสำคัญในฐานะ เป็นเป้าหมายที่นักลงทุนต้องการให้พอร์ตลงทุนเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมส่งมอบอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง ขณะที่ ESG เป็นองค์ประกอบสำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญที่สุด ในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ส่วน CSR นั้น อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวนักลงทุนโดยตรง แต่เกี่ยวพันกับการดำเนินการของธุรกิจที่นักลงทุนเข้าไปลงทุน และเป็นข้อมูลประกอบเสริมให้นักลงทุนพิจารณา
ทั้งนี้ การพิจารณาประเด็น ESG จะช่วยให้นักลงทุน ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจที่มีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึง การที่บริษัทหรือผลิตภัณฑ์ไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ได้เท่ากับที่กล่าวอ้าง ภายใต้แนวทางการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม แต่สื่อสารสู่สาธารณชน หรือทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า บริษัทหรือผลิตภัณฑ์ มีความยั่งยืน หรือเป็นการกล่าวอ้างเอง โดยไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานอื่น
นอกจากนี้ ยังช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ที่สนใจลงทุนว่า ดำเนินการด้าน ESG ได้ดีแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้ท่านประเมินได้ครอบคลุมมากกว่าการพิจารณามูลค่ากิจการ หรือข้อมูลทางการเงินเท่านั้น โดยข้อมูล ESG จะช่วยให้สามารถพยากรณ์ได้ว่า บริษัทนั้นมีโอกาสจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า ท่านจะเข้าใจความเกี่ยวข้องและความแตกต่างของ CSR ESG และ Sustainability รวมทั้งสามารถนำองค์ประกอบ ESG มาใช้พิจารณาคัดเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้เงินที่ลงทุนในบริษัทหรือกองทุนรวมนั้นๆ เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว คู่ขนานไปกับเศรษฐกิจที่เติบโต ท่ามกลางการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน
คำเตือน
§ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
§ สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
บทความโดย
คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จัดทำ ณ วันที่ 30 ต.ค. 2566