ใครคลอด ESG

ถ้าพูดคำว่า ‘ESG’ ขึ้นมาในเวลานี้ คงมีคนร้องอ๋อกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะคนที่คร่ำหวอดอยู่ในโลกการลงทุน ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้กันอย่างหนักหน่วง แต่ต้องยอมรับว่า บางท่านอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ว่า คืออะไร มาจากไหน ใครเป็นคนคลอด ESG ออกมา วันนี้ SCB CIO จึงขอมาคลายข้อสงสัยเรื่องนี้ให้

 

สำหรับ ESG เป็นการมัดรวมประเด็นสำคัญ 3 ด้านไว้ด้วยกัน ได้แก่ Environment (E) สิ่งแวดล้อม Social (S) สังคม และ Governance (G) ธรรมาภิบาล ซึ่งอันที่จริงการให้ความสำคัญเรื่อง ESG มีมานานแล้ว แต่นิยาม แนวปฏิบัติ หรือการให้ความสำคัญในประเด็นแต่ละด้านมีความแตกต่างกันไปตามบริบทการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาและนโยบายของแต่ละประเทศหรือองค์กร เหมือนหนังสือที่กระจายอยู่เต็มห้อง ยังไม่ถูกจัดระเบียบบนชั้นวาง เรียงเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน 

 

อย่างเช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ใครที่เกิดทันยุค 90s น่าจะเคยได้ยิน เพลง โลกสวยด้วยมือเรา กันมาบ้าง (ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน…) เนื้อหาเพลงนี้ เป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนได้ดีว่า จริงๆ แล้ว ความพยายามบอกให้ทุกคนช่วยกันสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมานานแล้ว

 

ส่วนประเด็นด้านสังคม ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละรอบ ก็จะมีการให้ความสำคัญเรื่องการปรับปรุงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้นเป็นระยะ ขณะที่ ระยะหลังๆ ก็มีความเคลื่อนไหวเรื่องการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางสังคมเพิ่มเติม ขณะที่ ประเด็นธรรมาภิบาล ได้รับความสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ช่วงปี 2000s โดยมีการออกแนวทางปฏิบัติมากำกับดูแลบริษัทต่างๆ ให้มีธรรมาภิบาลที่ดี  

 

จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วบนโลกเรา มีคนให้ความสำคัญครอบคลุมทุกประเด็นเรื่อง ESG มานาน แต่อาจจะยังไม่ได้มาในรูปแบบการพูดถึง ESG แบบองค์กรวม จนกระทั่งปี 2004  องค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมมือกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลก เผยแพร่รายงานเรื่อง Who Cares Wins ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คำว่า ESG ได้ถือกำเนิดขึ้นหรือคลอดอย่างเป็นทาง ใจความสำคัญในรายงาน คือ แนะนำให้อุตสาหกรรมการเงิน ปรับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในงานวิเคราะห์ บริหารสินทรัพย์ และค้าหลักทรัพย์ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจนำประเด็น ESG มาใช้กำกับดูแลการดำเนินงานในระยะยาว

 

หลังจากรายงานฉบับนี้เผยแพร่ ประเด็น ESG ก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนานาชาติ มีการรณรงค์ให้ธุรกิจดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็น ESG เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีเกณฑ์วัด กฎหมาย หรือบทลงโทษออกมา ทำให้ความใส่ใจกับประเด็น ESG ถูกมองเป็นแค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเท่านั้น

 

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี เปรียบ ESG เหมือนเด็กที่เติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นวัยที่มีตัวตนชัดเจนขึ้น ในช่วงนี้การให้ความสำคัญกับ ESG เริ่มชัดเจนจับต้องได้ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น โดยในส่วนของภาครัฐทั่วโลก ตื่นตัวกับการดำเนินการโดยคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG มีความพยายามออกกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติ หรือกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็น ESG โดยนับตั้งแต่ปี 2016 - 2020 จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41% ต่อปี ส่วนในปี 2021 ก็ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่ 17% จากปี 2020

2176617565

ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักลงทุน ให้ลงทุนโดยพิจารณาปัจจัย ESG เช่นกัน ด้วยแรงจูงใจที่ว่า ธุรกิจที่มี ESG จะสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับบริษัทที่ขาด ESG ซึ่งจากข้อมูลของ Gartner Research ก็บ่งชี้ว่า 85% ของนักลงทุนใช้ประเด็น ESG ในการพิจารณาลงทุนด้วย   

 

ทั้งนี้ ความตื่นตัวมาพร้อมกับความท้าทาย เพราะแต่ละประเทศต่างพยายามสร้างกฎเกณฑ์ กฎหมายกำกับดูแลประเด็น ESG ของตัวเอง แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมา มีความแตกต่างกันไปเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีการกำกับอะไรที่เป็นมาตรฐานสากล สำหรับใช้ปฏิบัติทั่วโลก ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการพัฒนามาตรฐานสากลกำกับดูแล ESG ที่เป็นหนึ่งเดียวหรือไม่ในอนาคต ในลักษณะเดียวกับมาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานของประเทศไหน จะกลายเป็นมาตรฐานที่ทั้งโลกยึดถือ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังไม่มีมาตรฐานสากลใช้ร่วมกัน แต่เราก็เห็นความพยายามของประเทศทั่วโลกที่จะลงนามร่วมกันเพื่อกำกับดูแลในแต่ละประเด็นให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เช่น ประเด็นด้านแรงงาน ที่มีการจัดทำมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความตกลงปารีส

 

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะธนาคารแห่งแรกของคนไทย เรายึดมั่นจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมานานกว่าร้อยปี เรามีการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและนำเอาแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตามกรอบแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาปรับใช้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การธนาคารที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Banking” เมื่อปี 2019 ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ไทยดำเนินกิจการโดยคำนึงถึง ESG

 

เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการของธนาคารไทยพาณิชย์ สอดคล้องกับหลักการ ESG และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2020 ธนาคารจึงกำหนดนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก “การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance: S) สังคมแห่งคุณค่า (Creating Social Impact: C) และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต (Better Environmental Future: B)” เพื่อสะท้อนให้ว่า คำว่า “SCB” ไม่เพียงเป็นชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ยังสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย

 

กรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก SCB ถูกนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ โดยภายใต้กรอบได้ให้ความสำคัญบนประเด็น ESG หลายประเด็น เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) การเงินสีเขียว (Green Finance) การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investing) ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตลอดจนการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Resilience and Net Zero)

 

สิ่งที่เรากำลังทำทั้งหมดนี้ เพราะเราตระหนักดีว่า ESG เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำธุรกิจ นักลงทุน ประเทศ หรือภาคส่วนต่างๆ ไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ได้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ควบคู่กับการที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็มีความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในทุกก้าวเดิน เป็นความพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า ด้วยบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ESG ในโลกธุรกิจและภาคการเงินก็ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งธุรกิจและนักลงทุนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวบนประเด็นด้าน ESG ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน

 

Source : unepfi.org, thecorporategovernanceinstitute.com, Gartner, SCB CIO



คำเตือน

 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777

 

บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


จัดทำขึ้นวันที่ 17 ต.ค. 2566