ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
สองมือ หนึ่งฝัน ปั้นเชนร้านอาหารคนไทยสู่ระดับโลก
กุลวัชร ภูริชยวโรดม
โชนัน (Chou Nan)
ปลาที่พยายามกระเสือกกระสนอยู่ในหนองน้ำอันเหือดแห้งมีความรู้สึกเช่นไร ชายหนุ่มวัยยี่สิบปลายๆ คนหนึ่งเข้าใจความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะชีวิตในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจของเขา ไม่ต่างจากปลาตัวนั้น ที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อความอยู่รอดใน “อาชีพ” ที่ตั้งมั่นว่าจะเอาไว้เลี้ยงครอบครัวตัวเอง และดูแลปากท้องของลูกทีมอีกหลายชีวิต แต่ช่วงเริ่มต้นเตาะแตะ ก็ต้องพบกับการรับน้องอย่างหนักหน่วง
ลูกชายคนโต ผู้แสวงหาทางของตัวเอง
คุณปอ กุลวัชร ภูริชยวโรดม เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือน เมื่อแต่งงาน ก็ลาออกมาช่วยกิจการโรงสีของครอบครัวตามพันธกิจของลูกชายคนโต แต่ยิ่งทำ ก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ใช่ จนวันหนึ่งจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ชอบ? อะไรคืออาชีพที่จะเอาไว้เลี้ยงครอบครัว? แล้วความคิดก็มาตกผลึกที่ว่าตัวเองชอบธุรกิจรีเทล อยากเป็นให้ได้แบบ "แมคโดนัลด์" ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่มากมายทั่วโลก และในวินาทีนั้นเอง ชายหนุ่มก็ให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่า “จะต้องเป็น Food Retail Chain ให้ได้!"
เมื่อเป้าหมายคือ "แมคโดนัลด์" ทำให้คุณปอนึกถึงเมนูง่ายๆ ที่ตัวเองชอบทานในช่วงเรียนอยู่อเมริกา นั่นก็คือ “ข้าวหน้าเนื้อ” อาหารแนวญี่ปุ่นง่ายๆ ที่ตลาดเมืองไทยช่วงนั้นยังไม่ค่อยมี เมนูนั้นก็กลายเป็นสินค้าตัวแรกของ “โชนัน” ธุรกิจร้านอาหารที่แปลว่า “ลูกชายคนโต”
ใจกล้า แต่ฟ้ายังไม่เป็นใจ
คุณปอเริ่มทดลองตลาดโดยการออกร้านในเทศกาลอาหารญี่ปุ่นที่สยามพารากอน เมนูเด็ดอย่างข้าวหน้าเนื้อและไข่ออนเซ็น ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม จึงตัดสินใจเปิดร้านสาขาแรกที่สุขุมวิท 24 เน้นกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่ผลที่ได้กลับไม่เป็นดังหวัง อุปสรรคประเดประดังจากรอบด้าน ทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง ลูกค้าญี่ปุ่นกลุ่มเป้าหมายย้ายกลับประเทศ ไปจนถึงถูกฟ้องร้องเรื่องการเช่าที่ บางวันขายได้ไม่กี่ร้อยบาท รายได้ไม่พอแม้แต่จะจ่ายค่าพนักงานหรือค่าเช่าที่ เหมือนปลาหน้าแล้งที่อยู่ในหนองน้ำแห้งด้วยลมหายใจรวยริน พยายามดิ้นรนทุกอย่าง ตั้งแต่รับทำเดลิเวอรี่ เดินสายไปตามบริษัท คอนโด ออกงานอีเวนต์ หรือแม้แต่ปิดร้านรับทำ Private Party เพื่อหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ฝันมี ฝนมา ฟ้าเปิด
ในช่วงที่ร้านกำลังประสบปัญหาใหญ่ถึงขั้นเคยคิดว่าจะเลิก แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้ต่อ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด พนักงานยังมีงานทำ แล้ววันหนึ่ง เขาก็ได้รับข่าวดีจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่ามีพื้นที่ว่างให้สามารถไปเปิดร้านที่เซ็นทรัลลาดพร้าวได้ เหมือนฝนตกลงมาในวันที่ปลากำลังไร้น้ำ คุณปอตัดสินใจคว้าโอกาสนั้นทันที
เปิดสาขาในห้างวันแรก พนักงานครึ่งหนึ่งขอลาออก!
จากร้านที่เคยอยู่นอกห้าง ต้องย้ายมาอยู่ในห้าง ทำให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวใหม่ ทั้งคุมงานก่อสร้างเอง ปรับรูปแบบร้านให้เหมาะกับพื้นที่ที่เล็กลง และทบทวนว่าควรจะขายเมนูอะไร ราคาเท่าไหร่ ให้เหมาะกับกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าใหม่
ปรากฏว่า ร้านใหม่ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ขายดีอย่างถล่มทลายและเกิดปัญหามากมาย อาหารออกไม่ทัน ลูกค้ารอนาน วัตถุดิบที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ พนักงานก็เหนื่อย เครียด กดดัน และเดินมาขอลาออกกันครึ่งหนึ่งในวันที่คุณปอต้องการคนมากที่สุด "เป็นปีที่หนักหน่วงมาก เพราะทุกอย่างเข้ามาในจังหวะเวลานั้นพอดี ทั้งน้ำท่วม ร้านมีปัญหา ภรรยาคลอดลูก และต้องเลี้ยงลูกเอง" คุณปอกล่าว
มองปัญหาให้เหมือนก้างปลา
เส้นทางธุรกิจของคุณปอเหมือนโรยด้วยหนามกุหลาบ แต่นอกจากจะสู้ไม่ถอยแล้ว เขายังมีวิธีจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดีด้วย โดยใช้หลักการวิเคราะห์แบบ FishBone Diagram มองปัญหาให้เหมือนก้างปลา สมมติว่าปัญหาอยู่ที่หัวปลา ก็แตกสาเหตุของปัญหาออกมาตามก้างปลา เช่น ปัญหาอาหารออกช้า แตกออกได้เป็นเรื่องของคน กระบวนการ อุปกรณ์ วิธีการทำงาน ระบบเทคโนโลยี เป็นต้น พอได้ก้างอันใหญ่ ก็ค่อยมาแตกย่อยลงไป เช่น เรื่องของคนเป็นเพราะอะไรได้บ้าง คนไม่ชำนาญ คนไม่พอ หรือคนเพิ่งเข้าใหม่ แล้วมาให้น้ำหนักว่าปัญหาเรื่องคนในสาขานั้นเรื่องไหนเร่งด่วน ก็แก้เรื่องนั้นก่อน ถ้านำทุกปัญหามายำรวมกัน ย่อมไม่สามารถหาทางออกได้
ระหว่างทางที่มีการขยายสาขา คุณปอพบว่าสินค้าของเขายังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ต้องหา Insight เชื่อม Localization อย่างละเอียด แม้แต่ห้างเดียวกัน หากที่ตั้งร้านอยู่คนละชั้น กลุ่มลูกค้าก็แตกต่าง เช่น สาขาที่ลูกค้าเป็นกลุ่มครอบครัวต้องเน้นทำเมนูเซ็ท กลุ่มคนเมืองต้องเน้นความเร็วด้วยเมนูข้าวหน้าต่างๆ แล้วยังต้องทำสารพัดวิธีเพื่อเพิ่มความถี่ในการที่ลูกค้ากลับมากินบ่อยขึ้น
ลูกค้าจะมีความสุข พนักงานต้องมีความสุขก่อน
คนเป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจร้านอาหาร คุณปอจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน ฝึกอบรม ให้ทุนการศึกษา เพื่อให้ชีวิตของพนักงานทุกคน เติบโตก้าวหน้าไปด้วยกัน
“
หลายคนได้มีโอกาสทำงานพร้อมๆ กับการมีทุนเรียนหนังสือ พอเรียนจบ เขาก็กลายเป็นกำลังสำคัญของโชนัน” ความห่วงใยครอบคลุมถึงการใช้ชีวิต เช่น โครงการส่งเสริมให้พนักงานไม่มีหนี้ เพิ่มการออม ทั้งหมดนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า
"เมื่อพนักงานมีความสุข ความสุขจะส่งมาที่เพื่อนร่วมงาน ในงานที่ทำ และลูกค้า"
พนักงานโชนันทุกชีวิต มีส่วนร่วมรับรู้ความเป็นไปของธุรกิจ รู้ยอดขาย กำไร ขาดทุน ในทุกๆ เดือน สิ่งที่ได้กลับมาก็คือการร่วมด้วยช่วยกัน ผสานพลัง เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มสวัสดิการให้พนักงาน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต วันหยุดในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ให้ คุณปอกล่าวว่า
"อะไรที่เราอยากได้ พนักงานเราก็ควรจะได้ เมื่อเราเห็นคุณค่าของพนักงาน เขาก็จะมาสร้างคุณค่าให้กับงานของเรา"
บทเรียนที่อยากบอกเล่า
คิดให้ใหญ่ แล้วไปด้วยกัน
คุณปอมาเป็นหนึ่งใน Mentor ของ SCB SME เพราะอยากแชร์ประสบการณ์ที่ได้จากการลองผิดลองถูกให้คนที่คิดจะทำธุรกิจร้านอาหารสามารถนำไปต่อยอดได้ การช่วย SME ด้วยกัน จะช่วยสร้าง Community ที่ทุกคนได้ประโยชน์ เกิดอำนาจต่อรอง และยังมองไกลไปถึงการพากันไปเติบโตที่ต่างประเทศ เกิดการสร้างงาน มีโรงงานในประเทศตามไปเปิด ซึ่งจะมี Supply Chain และ Value Chain ในการทำให้ธุรกิจโตต่อได้ และทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
การได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ SCB SME ยังทำให้คุณปอมีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ของธนาคารที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ระบบ SCB Payment Gateway หรือการมี SCB Business Center ที่เป็นศูนย์รวมของเครื่องมือ การเงิน องค์ความรู้ ซัพพลายเออร์ และเครือข่าย Community ในการทำธุรกิจ
ปัจจุบัน "โชนัน" มีเกือบ 20 สาขา กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ มีระบบจัดการข้อมูลธุรกิจผ่าน SCB Business Anywhere จ่ายเงินเดือนพนักงานแบบอัตโนมัติผ่าน SCB Payroll นอกจากนี้คุณปอกำลังขยายธุรกิจอาหารแบรนด์ใหม่ทั้งที่เป็นพรีเมียมแบรนด์ และแบรนด์ในรูปแบบ Kiosk Model และ Express Model โดยเป้าหมายต่อไปคือการขยายธุรกิจไปที่อเมริกา เพราะคุณปอเชื่อว่า "เราต้องคิดให้ใหญ่ ยิ่งเราไปได้ไกลเท่าไหร่ พนักงานของเราทั้งหมดก็จะมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น"
#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่1 #SCBmentor
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด