เป็นเถ้าแก่ยิ่งต้องวางแผน

เชื่อว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แน่นอนว่ากว่าที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง และหนึ่งในนั้น คือ การวางแผนการเงิน


เมื่อพูดถึงเรื่องวางแผนการเงินสำหรับเจ้าของธุรกิจ เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่เรื่องการวางแผนภาษี จนทำให้อาจหลงลืมการวางแผนการเงินในด้านอื่นๆ ไป นอกจากนี้เจ้าของธุรกิจหลายคนก็มักจะกังวลแต่เรื่องการวางแผนการเงินของธุรกิจ เพราะเผลอคิดไปว่าเงินในธุรกิจก็เป็นเงินของเรานั่นแหละ ทำให้ละเลยการวางแผนการเงินส่วนบุคคลของตนเองไป ซึ่งการวางแผนการเงินของกิจการมีดังนี้

1. ต้องแยกบัญชีให้ชัดเจนระหว่างเงินส่วนตัวกับเงินของบริษัท

ในการที่จะแยกบัญชีให้ได้อย่างชัดเจนนั้น จุดเริ่มต้นแรกมาจากการตั้งเงินเดือนตัวเองให้เหมาะสม เจ้าของธุรกิจบางคนมักไม่ยอมตั้งเงินเดือนตัวเอง หรือตั้งเงินเดือนแล้ว แต่ไม่เหมาะสม และมักนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการด้วย ทั้งค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะมองว่าเงินทุนในกิจการก็คือเงินของเรา เป็นเงินที่เราเอาไปลงทุน ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด การนำเงินส่วนตัวมาปะปนกับเงินทุนในการประกอบกิจการ จะทำให้เราไม่ทราบผลกำไรหรือรายได้ที่แท้จริงของกิจการ นอกจากจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการทำบัญชีแล้ว ยังทำให้เกิดความสับสนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

การตั้งเงินเดือนตัวเองอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเจ้าของธุรกิจมีเงินเดือน ก็จะสามารถนำเงินเดือนไปใช้กับกิจส่วนตัว และนำไปเพื่อใช้วางแผนการเงินส่วนบุคคลต่อได้ นอกจากนี้เงินเดือนก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้ว่าส่วนไหนคือ รายจ่าย ส่วนไหนคือ รายรับของกิจการ และทำให้วัดผลการดำเนินงานของกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. มีการวางแผนสภาพคล่องอย่างเหมาะสม

สภาพคล่องหรือกระแสเงินสดเปรียบดั่งเส้นเลือดใหญ่ของกิจการเลยทีเดียว เพราะในการดำเนินกิจการนั้น หลายครั้งรายรับที่เราได้รับเข้ามาอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสดเสมอไป แม้ผลประกอบการของกิจการจะดีเพียงใด แต่เมื่อเป็นเงินที่อยู่ในรูปของเครดิต ซึ่งเป็นเงินที่เราต้องรอเรียกเก็บจากลูกค้า และหากมีเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้กิจการขาดสภาพคล่องได้ ดังนั้นเจ้าของกิจการต้องหมั่นประเมินสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดของกิจการให้มีอยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการประเมิน worst case scenario หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด เช่น หากเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ด้วยสภาพคล่องที่มีอยู่ จะทำให้เราสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อีกนานแค่ไหน เราควรมีแหล่งเงินสำรองจากที่ไหนได้บ้าง และมีภาระดอกเบี้ยเท่าไหร่ หากเป็นกรณีที่ต้องกู้เงินมาเพิ่ม เป็นต้น

3. จัดทำงบการเงินของกิจการอย่างถูกต้อง

เจ้าของกิจการหลายคนมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำรายการบัญชี และขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำงบการเงินของกิจการ ซึ่งหากกิจการมีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจ้างสำนักงานบัญชีมาช่วยดำเนินการให้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสอบรายรับรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกิจการของเรา รวมถึงภาระภาษีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อทำการจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากเราไม่ดำเนินการให้รัดกุม อาจทำให้ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้การทำงบการเงินให้ถูกต้อง จะทำให้เราวัดผลการดำเนินงานของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

4. ใส่ใจการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เจ้าของกิจการหลายคนอาจไม่ให้ความสำคัญในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะแผนเกษียณอายุ โดยคิดว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้น คือ ทุกอย่างของชีวิต เงินทั้งหมดจึงอยู่ในกิจการ ซึ่งไม่ถูกต้อง เงินส่วนตัวคือเงินส่วนตัว เงินของกิจการคือเงินของกิจการ ไม่สามารถเอามาปะปนกันได้ การที่จะจัดสรรเงินของกิจการให้ออกมาเป็นเงินส่วนตัว จึงต้องผ่านระบบการจัดการทางการเงินที่ถูกต้อง เช่น จ่ายออกมาในรูปของเงินเดือน เงินโบนัส สวัสดิการสำหรับพนักงาน และเงินปันผล เป็นต้น และเมื่อจ่ายผลประโยชน์ต่างๆ ออกมาแล้ว เจ้าของกิจการต้องนำเงินเหล่านี้มาวางแผนการเงินส่วนบุคคล เช่น วางแผนเงินได้บุคคลธรรมดา วางแผนเกษียณอายุ และวางแผนการลงทุนในรูปแบบอื่นบ้าง (นอกจากการลงทุนแต่ในกิจการของตัวเอง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน)

5. อย่าลืม Exit Strategy หรือกลยุทธ์ในการออกจากกิจการ

เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย โดยมากจะคาดหวังให้ทายาทเป็นผู้สืบทอดกิจการ หากกิจการไม่ได้วางแผนในเรื่องนี้ไว้ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ไม่สามารถเลิกกิจการได้ หรือหากอยากขายกิจการ อาจจะไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะอาจเลยช่วงวัฏจักรขาขึ้นของกิจการไปแล้ว เป็นต้น  ดังนั้นการมี Exit Strategy จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากดำเนินธุรกิจไปถึงระดับหนึ่ง และเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้เป็นเจ้าของ ไม่ต้องการจะดำเนินกิจการต่อไป เจ้าของกิจการก็ควรจะต้องมีกลยุทธ์ออกจากธุรกิจนั้นอย่างสง่างาม และมีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ

กล่าวโดยสรุป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องจำเป็นในการบริหารการเงินที่เจ้าของกิจการทุกคนควรให้ความใส่ใจ เพราะการวางแผนการเงินที่ดีจะทำให้กิจการของเรามีความมั่นคง และประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร