“อาหารเพื่อสุขภาพ” เทรนด์มาแรงสำหรับคนอยากมีธุรกิจ

นาทีนี้เรื่องของ “อาหารเพื่อสุขภาพ” หรือ อาหารคลีนฟู้ดกำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะในหมู่หนุ่ม-สาวออฟฟิศ วัยทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่อยากมีสุขภาพที่แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน ทำให้มีผู้สนใจอยากเปิดร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น แต่จะต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพมาเป็นแนวทางในการนำไปเริ่มธุรกิจกัน


การทำตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ

แม้อาหารของเราจะอร่อยแต่ทำการตลาดไม่ดี ไม่มีคนมาซื้อ ก็ไม่เกิดธุรกิจ ดังนั้นเริ่มแรกเลยผู้ที่จะทำธุรกิจนี้ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า วัตถุดิบที่เลือกใช้ กรรมวิธีการปรุง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปริมาณต่อกล่องที่พอเหมาะ ความหลากหลายของอาหาร และความคงที่ของรสชาติประกอบด้วย ดังนี้

  • ควรอธิบายจุดกำเนิดของร้านเราว่ามีมาอย่างไร เหมือนเล่าเรื่องให้ลูกค้าฟัง อาจทำเป็นวิดีโอลง YouTube เป็นเรื่องราวของร้าน หรือนำไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพจของร้านเราก็ได้

  • บอกวัตถุดิบในการทำอาหารเพื่อสุขภาพของร้านเรา ว่ามีกระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ และกรรมวิธีการปรุงอาหารที่มีความพิถีพิถัน และใส่ใจในรสชาติและคุณค่าของอาหารอย่างไร

  • ให้ความรู้เรื่องสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารคลีนบ่อยๆ ไม่ใช่ลงแค่ภาพอาหารเพียงอย่างเดียว อาจให้ความรู้เรื่องหลักโภชนาการของอาหารมาเป็นองค์ประกอบในการให้ความรู้แก่ลูกค้า และอย่าลืมโพสต์ลงเพจหรืออาจทำเป็นแผ่นพับแจกหรือวางไว้บนโต๊ะอาหารในร้านของเรา

  • ราคา คุณภาพ และรสชาติของอาหาร เป็นตัวแปรสำคัญให้ลูกค้าจดจำ และเลือกที่จะบอกต่อ หรือกลับมาทานอาหารร้านเราอีกหรือไม่ เพราะต่อให้ร้านเรามีวัตถุดิบที่ดี คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน แต่หากราคาสูงจนเกินไป รสชาติไม่คงที่ แถมยังมีเมนูให้เลือกอยู่ไม่กี่อย่าง ก็เหมือนเป็นการขายอาหารแล้วไล่ลูกค้าทางอ้อมนั่นเอง


กลุ่มลูกค้าอาหารเพื่อสุขภาพ

ก่อนเข้าไปลุยในธุรกิจนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งความต้องการอาจหลากหลาย เช่น ต้องการสุขภาพ ต้องการลดน้ำหนัก เพราะขึ้นชื่อว่าอาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการก็หนีไม่พ้นเรื่องการมีสุขภาพที่ดี ที่มาจากการกินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไขมันต่ำ ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่มากเกินไปจนสูญเสียคุณค่าทางอาหาร ซึ่งความต้องการของลูกค้าถือเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจนี้


ในช่วงแรกๆ เราอาจเปิดร้านขายอาหารคลีนแบบเล็กๆ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในละแวกที่เราอาศัยอยู่ หรืออยู่ในเขตชุมชนที่มีออฟฟิศมากๆ ก็ยิ่งดี จากกลุ่มลูกค้าเหล่านี้อาจต่อยอดขยายธุรกิจออกไป เช่น รับทำข้าวกล่อง อาหารว่าง ให้กับหน่วยงานต่างๆ หรือเมื่อมีงานเลี้ยงเล็กๆ งานพิธีต่างๆ เป็นต้น


เมื่อเรามีฝีมือและมีการบริการที่ดี ก็อาศัยการบอกต่อ  ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าและมีงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง วิธีนี้ลงทุนน้อยสุด ง่ายสุดแต่อาจใช้เวลานานสักหน่อยกว่าจะติดตลาด

การตั้งราคาอาหารคลีน

การตั้งราคาอาหารคลีน ควรตั้งราคาให้เหมาะกับวัตถุดิบที่เรานำมาทำ อาจเทียบจากราคาอาหารจานเดียวทั่วไป ที่มีราคา 35-40 บาท ดังนั้นอาหารเพื่อสุขภาพควรเริ่มต้นที่ราคา 55-80 บาท/กล่อง นอกจากนี้การบรรจุกล่องให้น่ารับประทานก็ช่วยเพิ่มราคาขายต่อกล่องได้ เราต้องคำนวณต้นทุนว่าหนึ่งกล่องใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ ต้นทุนกี่บาท ในกรณีที่ต้องจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าควรบวกค่าจัดส่งไปด้วย อาจเพิ่มความสะดวกด้วยการใช้บริการจากแอปพลิเคชันส่งสินค้า และอย่าลืมบวกค่าแรงในการทำเข้าไปด้วย


สร้างบรรยากาศที่ดีให้ร้านอาหาร

การติดรูปภาพพร้อมคำบรรยายความเป็นมาของร้านเราให้ลูกค้าได้นั่งอ่านระหว่างรออาหาร หรือติดรูปภาพพร้อมคำบรรยายวัตถุดิบในการทำอาหารคลีนของร้านว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และยังให้ความรู้สึกใส่ใจได้เป็นอย่างดี ส่วนการทาสีในร้านควรใช้โทนสีดูสบายตา และไม่ควรอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในร้านเพื่อสุขอนามัยของร้านเรา เพราะขึ้นชื่อว่าอาหารคลีน ทุกอย่างก็ต้องคลีนและสะอาดจริงๆ


แต่ถ้าใครมีทุนน้อยและยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง อาจขายอาหารคลีนผ่านระบบออนไลน์ หรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น  Facebook, Instagram, LINE  เป็นต้น เพราะไม่มีต้นทุนด้านสถานที่ และไม่ว่าเราจะทำธุรกิจขายอาหารคลีนแบบเปิดเป็นร้านอาหาร หรือขายออนไลน์ สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือการรักษาคุณภาพของวัตถุดิบและรสชาติของอาหารให้คงที่ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาซื้ออาหารของเราอีกเรื่อยๆ