ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
วิถีคนแกร่ง ผู้ต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมอบด้วยใจ
อัญญรัตน์ จริยาสมานฉันท์
เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ
ลูกจ้างโรงพิมพ์ที่ก่อร่างสร้างตัวจากชีวิตติดลบ ออกมาทำตามฝันที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ จนสามารถซื้อที่ดินสร้างโรงงานของตนเองได้สำเร็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจของผู้บุกเบิกรุ่นพ่อที่ได้ประกาศความเป็นไท จนเป็นที่มาของชื่อบริษัท “เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ” ชื่อที่บ่งบอกตัวตนและความสำเร็จขั้นแรกของครอบครัวตัว “อ” ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน คุณติ๊ก อัญญรัตน์ จริยาสมานฉันท์ ทายาทรุ่นลูก ได้มารับไม้การบริหารต่อจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งกว่าเธอจะก้าวมาเป็นผู้บริหารเต็มตัวได้นั้น ต้องทั้งพิสูจน์ฝีมือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติที่เข้ามาสั่นคลอนธุรกิจจนแทบล้มทั้งยืน แต่เธอก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ มาได้ด้วยความสามารถ สติ และหัวใจที่แกร่งเกินตัว
โซ่ข้อแรกของธุรกิจ
ไอดอลที่คุณติ๊กชื่นชมและภาคภูมิใจคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "พ่อ" ผู้เป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นในการทำทุกอย่างให้สำเร็จ เคยแม้กระทั่งขาดสภาพคล่อง ต้องขายทองเส้นสุดท้ายเพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน แต่ก็ไม่เคยละความพยายาม อดทนทำธุรกิจด้วยความซื่อตรง ขยันขันแข็ง จึงได้ใจจากซัพพลายเออร์และลูกค้าในการหยิบยื่นโอกาสให้ จนสามารถขยับขยายกิจการจากการเช่าพื้นที่ทำกิน มาสร้างโรงงานบนที่ดินของตัวเองแถวมีนบุรีได้สำเร็จ ปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่ง อยู่ไม่ไกลจากกันนัก รับผลิตและจัดจำหน่ายกล่องกระดาษลูกฟูก บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนสิ่งพิมพ์ออฟเซตประเภทสวยงาม
ตั้งแต่คุณติ๊กจำความได้ก็เห็นผู้เป็นพ่อทำงานหนักมาตลอด แม้เรียนมาน้อยแต่มองเกมธุรกิจออก ด้วยการมุ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ส่งออก เหมือนการค้นพบโซ่ข้อแรกของธุรกิจที่เป็นจุดเริ่มต้นของข้อต่อๆ ไป สิ่งที่คุณติ๊กเห็นจนชินตาก็คือ ภาพของพ่อที่หอบหิ้วตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้ามาวางเรียงกันเพื่อดีไซน์กล่องให้มีขนาดเล็กที่สุด จะได้โหลดขึ้นตู้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการขายไอเดียช่วยลดต้นทุน จนสามารถครองใจลูกค้าและเป็นเจ้าตลาดได้สำเร็จ โดยเฉพาะตลาดที่ระยองในช่วงนั้นมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์อยู่ 22 ราย เป็นลูกค้า “เอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ” ถึง 20 ราย นอกจากนี้ยังเป็นโรงงานผลิตกล่องที่เข้าไปอยู่ในสมาคมเครื่องเรือนไทยได้อีกด้วย
สานต่อ เพื่อเติบโต
หญิงสาวดีกรีเกียรตินิยม ผู้มีความฝันอยากเป็นนักธุรกิจในสไตล์คนรุ่นใหม่ อยากเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิตให้ตนเอง แต่แล้วเธอก็ลบภาพฝันนั้นลงเพราะความห่วงใยสุขภาพของผู้เป็นแม่ในช่วงนั้น คุณติ๊กตัดสินใจอยู่ช่วยธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่เรียนจบเป็นต้นมา เริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กใหม่ในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ทำทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายอย่างขยันขันแข็ง อ่อนน้อมถ่อมตน จากที่คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรให้ทำมาก เพราะทุกอย่างมีคนทำหมดแล้ว พอเข้ามาทำจริง คุณติ๊กก็เล็งเห็นสิ่งที่เธอต้องทำเยอะมาก วันแรกที่เข้ามาทำงาน บริษัทยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้แม้แต่เครื่องเดียว ทุกอย่างเขียนด้วยลายมือ แม้กระทั่งการเปิดบิลให้ลูกค้า โอกาสผิดพลาดมีสูง เนื่องจากบริษัทจะผลิตสินค้าเมื่อมีออร์เดอร์จากลูกค้าเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Make-to-Order 100% “หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา กระดาษก็กลายเป็นเศษกระดาษได้ทันที” เพื่อให้ข้อมูลจากต้นทางไปถึงปลายทางรับรู้เหมือนกัน คุณติ๊กจึงมีความคิดในการนำระบบคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์บัญชี เข้ามาบริหารจัดการ รวมถึงยังต้องการยกระดับองค์กรให้ได้ตามมาตรฐาน ISO อีกด้วย แต่การเปลี่ยนพนักงานที่เคยชินกับการทำงานแบบดั้งเดิม ให้ยอมรับความคิดดังกล่าวจึงไม่ง่าย เปรียบเหมือนการย้ายต้นไม้ที่ฝังรากลึกมานาน ไปปลูกในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่พร้อมต่อการขยับขยายเติบโต ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างยิ่งยวด
ทำการใหญ่ ต้องแลกด้วยใจ
พนักงานที่อยู่มานาน แม้จะหนักเอาเบาสู้ แต่ก็เห็นคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งน่ากลัวเพราะไม่คุ้นเคย บางคนไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่าคอมพิวเตอร์จะเข้ามาลดบทบาทหน้าที่และความสำคัญของตนเองลง การวางระบบ ISO ก็เช่นกัน เป้าหมายของคุณติ๊กคือ “ ต้องเป็น ISO ที่ทำได้จริง ไม่ใช่แค่ใบ Certificate” เธอจึงต้องรู้กระบวนและขั้นตอนในการทำงานอย่างละเอียดจากพนักงาน แต่หลายคนไม่กล้าบอกความจริง ปกปิดข้อมูลเพราะกลัวความผิด การปรับเปลี่ยนจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ใช้ความจริงใจสยบความกลัว
คุณติ๊กต้องสื่อสารให้พนักงานรับรู้ถึงความตั้งใจจริงในการเข้ามาช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น ไม่ใช่การลดความสำคัญ ลงโทษ หรือจับผิด
"เราต้องอยู่เคียงข้างเขา เป็นทีมเดียวกัน เมื่อพนักงานเชื่อมั่น เขาจะยอมรับและทำในสิ่งที่เราต้องการได้"
ด้วยความทุ่มเททำงานเกินร้อยของเธอ ความพยายามก็เกิดผล ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงาน สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ได้รับการรับรอง ISO ภายในระยะเวลา 6 เดือน มีระบบงานคุณภาพ ที่นำไปปฏิบัติและติดตามผลได้จริง ถือเป็นความภูมิใจของผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถต่อยอดธุรกิจของครอบครัวมาได้อีกขั้น จนขยายตลาดไปในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้คุณติ๊กยังเป็นผู้นำเอาเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจอย่าง SCB Business Anywhere เข้ามาช่วยเสริมความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และมีระบบ SCB Payroll เข้ามาช่วยเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานแบบอัตโนมัติอีกด้วย
บทเรียนระหว่างทาง
นักรบย่อมมีบาดแผล การทำธุรกิจก็เช่นกัน ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเข้ามาทดสอบและทิ้งร่องรอยไว้เป็นประสบการณ์ คุณติ๊กผู้เป็นตัวแทนธุรกิจครอบครัวเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่วิกฤตค่าเงินบาท บริษัทต้องแบกรับต้นทุนนำเข้าเครื่องจักรที่สูงขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว จากเครื่องละประมาณ 3 ล้านบาท กลายเป็น 6 ล้านบาท หรือบทเรียนจากการที่มุ่งโฟกัสกลุ่มลูกค้าเฟอร์นิเจอร์ส่งออกเป็นหลัก ในวันที่เฟอร์นิเจอร์ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ลูกค้าก็หายไปด้วย บางรายทิ้งยอดหนี้ไว้ให้ดูต่างหน้า พอปรับตัวมาขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าผลไม้ส่งออกที่บริษัทไม่เชี่ยวชาญ มีฤดูกาลมาเกี่ยวข้อง ก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำให้ปรับตัวไม่ทันในวันที่ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ของเสียเยอะ ควบคุมไม่ได้ สุดท้ายแม้ยอดขายจะได้ แต่ก็มีโอกาสขาดทุน เหตุการณ์นี้จึงเป็นอีกเทิร์นนิ่งพอยท์ที่คุณติ๊กต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ จากการมุ่งลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวเพื่อให้รู้ลึกรู้จริงในอุตสาหกรรมนั้น มาเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยการหาตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ผลไม้ ผู้ประกอบการ SME กลุ่ม OTOP รวมไปถึงกลุ่มขายของออนไลน์ แต่ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องกำไรขาดทุน ยังมีเรื่องบุคคลากรที่ถูกคู่แข่งซื้อตัวและนำข้อมูลบริษัทออกไป ทำให้ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเป็นที่สุด
กว่าจะฝ่าเมฆฝน
วิกฤติที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตการทำธุรกิจของคุณติ๊กก็คือ “เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554” ที่ทำให้รู้ซึ้งถึงความไม่แน่นอนได้อย่างเห็นภาพ ธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 20 ปีในเวลานั้น เข้าใกล้คำว่า "ล้มละลาย" มากที่สุด ทุกคนในครอบครัวอยู่กับธุรกิจนี้ กระดาษไม่ถูกกับน้ำ เครื่องจักรทุกตัวล้วนมีขนาดใหญ่และหนัก การขนย้ายจึงไม่ง่าย ประกอบกับยังมีงานที่ต้องผลิตให้ทันกำหนดส่งของลูกค้า แต่เมื่อคำตอบคือ "ต้องรอด" สติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องตั้งหลักทำทุกวิธีเพื่อให้โรงงานปลอดภัยมากที่สุด เสียหายน้อยที่สุด คนงานที่อยู่หอพักสวัสดิการของบริษัทเป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันน้ำท่วม ส่วนคนงานที่พักข้างนอก แม้จะเดินทางลำบาก ก็พยายามเข้ามาให้ถึงโรงงานเพื่อเร่งผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ที่ยังค้างอยู่ บางวันมีน้ำไหลทะลักพุ่งขึ้นมาจากพื้นโรงงาน ก็ต้องรีบแก้ไขให้ทันท่วงที เมื่อซัพพลายเออร์ไม่สามารถเข้ามาส่งของได้ ต้องเอารถออกไปรับเพื่อขนถ่ายวัตถุดิบเข้ามาผลิตต่อในโรงงาน น้องชายและสามีของคุณติ๊กเป็นผู้เสียสละเข้ามานอนโรงงานเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เครื่องสูบน้ำพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พ่อลูกโทรพูดคุยปลอบใจกันทุกวันตลอดระยะเวลา 3 เดือน ทุกคนทำงานอย่างหนัก ไม่มีวันหยุดแม้แต่วันเดียว ยอดขายในช่วงนั้นลดลงหลายเท่าตัว จากหลักสิบล้านเหลือเพียงสองล้าน แต่ได้ใจลูกค้าเต็มๆ เพราะในภาวะที่ไม่ปกติ บริษัทยังยืนหยัดไม่ทิ้งงาน สามารถส่งของได้ทันกำหนดเวลา ที่สำคัญแม้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่สามารถทำให้ธุรกิจล้มละลายได้ แต่ทำให้ “เห็นเพื่อนแท้ในยามยาก ได้เรียนรู้ว่าพันธมิตรมีอยู่รอบตัว” ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่แสดงพลังช่วยแก้ปัญหาและทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซัพพลายเออร์ที่ฝ่าน้ำท่วมเข้ามาส่งวัตถุดิบให้ใกล้โรงงานมากที่สุด ลูกค้าที่เชื่อมั่นเป็นกำลังใจไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและมีมาตรการดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี
รางวัลของผู้กล้า
ธุรกิจที่เติบโตได้อย่าง "ยั่งยืนและสง่างาม" ไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่เข้าไปอยู่ในใจคนได้สำเร็จ คำสอนของพ่อที่ให้กตัญญูรู้คุณ
“ใครช่วยเรา ต้องจดจำ เหมือนคนในครอบครัว”
ได้ซึมซับและส่งต่อมาถึงผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างคุณติ๊ก โอกาสทางเครดิตที่ผู้เป็นพ่อเคยได้รับจากซัพพลายเออร์ในช่วงล้มลุกคลุกคลาน และโอกาสที่ลูกค้ามอบให้นั้น ทุกคนในครอบครัวเอกราชอุตสาหกรรมกระดาษไม่เคยลืม ยังคงซื้อขายกันมายาวนานถึงทุกวันนี้ จุดเด่นอีกอย่างของบริษัทที่ยึดถือมาตั้งแต่แรกเริ่มธุรกิจก็คือ
"การขายความเชี่ยวชาญ ไม่เลียนแบบใคร และช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า"
งานของบริษัทจึงไม่ใช่แค่การทำตามออร์เดอร์แล้วเสนอราคา แต่เป็นคู่คิดที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในมุมต่างๆ เพื่อให้สินค้าของลูกค้ามีมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยออกแบบเพื่อลดต้นทุนและความเสียหาย ช่วยคิดคำภาษาอังกฤษ สโลแกน ตลอดจนการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คุณติ๊กเล่าให้ฟังถึงเคสประทับใจด้วยว่า มีลูกค้า OTOP รายหนึ่งที่จันทบุรี จะส่งกล่องบรรจุภัณฑ์ไปประกวด บริษัทจึงช่วยออกแบบให้ ผลออกมาลูกค้าชนะการประกวดระดับประเทศ ติด 1 ใน 10 ซึ่งเหนือกว่า OTOP 5 ดาว และยังสามารถต่อยอดการตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรดได้อีกด้วย
การเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร เป็นสิ่งที่ SCB เล็งเห็น จึงได้เชิญคุณติ๊กมาร่วมกันจัดสัมมนาฟรีให้กับผู้ประกอบการ คุณติ๊กคิดหัวข้อสัมมนา Digital Marketing ด้วยตัวเอง เธอมองว่านี่คือโอกาสในการแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนนักธุรกิจ รวมถึงกลุ่มลูกค้าของเธอที่เป็นผู้ประกอบการ นอกจากนี้คุณติ๊กยังได้แนะนำบริการปักหมุดธุรกิจด้วย Google My Business ที่ทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านทางสาขาของ SCB ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ๆ ผ่านการค้นหาข้อมูลบน Google ได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายโดยไม่เสียค่าโฆษณา อีกทั้งยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์ลูกค้าได้ด้วย การจัดสัมมนาครั้งแรกของคุณติ๊กร่วมกับ SCB ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก จนได้รับเชิญจากธนาคารมาร่วมเป็นหนึ่งใน Mentor เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการไทย เธอตอบรับโอกาสที่จะสามารถช่วยเป็น Shortcut ความสำเร็จให้กับเพื่อนนักธุรกิจด้วยกันโดยไม่ลังเล เพราะเธอเชื่อว่า "ความสุขที่ได้แบ่งปัน ให้คุณค่ากับตัวเองและผู้อื่น คือความสุขที่แท้จริง"
#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่1 #SCBmentor