ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
มนุษย์เงินเดือนวางแผนแต่งงานอย่างไร ให้ตอบโจทย์
‘ ฉันรักเธอด้วยใจ หาใช่หน้าตาหรือฐานะ ’ แม้ความรักจะไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งงานและการสร้างครอบครัวก็มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย การวางแผนแต่งงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คู่รักทุกคู่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจแต่งาน เพราะการที่ไม่ได้เตรียมการเรื่องนี้อย่างดีพอ เมื่อแต่งงานหรืออยู่กินกันไปแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาทางการเงิน จนทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และกลายเป็นปัญหาครอบครัวได้ในที่สุด เราคงไม่อยากเห็นเรือรักที่เราอุตส่าห์สร้างมา ต้องอับปางลงอย่างไม่เป็นท่า ดังนั้นมาวางแผนแต่งงานกันเถอะ
ในการวางแผนการเงินของคู่รัก ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มพูดคุยกันตั้งแต่เริ่มคบกัน โดยในช่วงแรก ต่างฝ่ายต่างก็จะนำเสนอแต่ด้านดีของตัวเอง อย่างไรก็ตามคุณควรให้ความสนใจกับนิสัยทางการเงินของคนรักของคุณด้วย เพราะการที่อีกฝ่ายเป็นคนแสนดีมีน้ำใจนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าจะมีความรับผิดชอบทางการเงินที่ดีเสมอไป ลองสังเกตวิธีที่เขาหรือเธอรับมือกับปัญหาในชีวิต ศึกษาไลฟ์สไตล์และศึกษานิสัยเรื่องการใช้จ่าย ลองพูดคุยถึงความฝันและเป้าหมายชีวิตร่วมกันในอนาคต รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและสร้างครอบครัว เพื่อดูแนวโน้มว่าเป้าหมายของคุณและคนรักมุ่งไปในทางเดียวกันหรือไม่
หลังจากที่ศึกษาดูใจและพร้อมที่จะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ก็ต้องมาวางแผนการแต่งงาน เพราะอย่าลืมว่าในการจัดงานแต่งงาน ต้องใช้เงินไม่น้อย การแต่งงานแบบจัดพิธีใหญ่ๆ เพื่อรักษาหน้าตาหรือแสดงความมั่งมี ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีนั้น อาจจะทำให้จนในพริบตา เหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ยิ่งโดยเฉพาะการต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจัดงานแต่งงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายความว่า สถานะทางการเงินของครอบครัวจะติดลบตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ลองจัดงานเป็นพิธีเล็กๆ ที่สามารถจัดการได้ง่ายแถมดูอบอุ่น น่าจะเป็นความท้าทายอีกอย่างและทำให้แขกที่มางานจดจำมากกว่า อีกทั้งประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากกว่าด้วย
ส่วนการวางแผนเก็บเงินเพื่อแต่งงานนั้น สามารถทำได้ ดังนี้
1. ตั้งงบประมาณบนความต้องการที่เป็นไปได้
การแต่งงาน ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ต้องมีการ “ ตั้งงบประมาณ ” ไว้ก่อน เพื่อให้เราได้วางแผนล่วงหน้า และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลายได้ นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้ตัวว่าแต่ละเดือนต้องเก็บเงินเท่าไหร่เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่ปี โดยแนะนำว่าในขั้นตอนนี้ควรคุยกันเพื่อให้ทราบความต้องการและ “ ความคาดหวัง ” ของกันและกัน
2. ควรมีบัญชีสำหรับเก็บเงินเพื่อแต่งงานโดยเฉพาะ
การเก็บเงินให้ได้ตามแผน คือ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้งานแต่งงานของเราเป็นไปได้ วิธีการเก็บเงินจึงควรแยกบัญชีออกมาต่างหาก ในช่วงของการเก็บเงินอาจเก็บเงินผ่านบัญชีเงินฝากประจำ หรือเงินฝากประจำแบบเท่าๆ กันทุกเดือนแบบปลอดภาษี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราเตรียมตัวก่อนแต่งงาน (เพราะจะทำให้ได้ดอกเบี้ยที่มากกว่า) หลังจากนั้นเมื่อใกล้ถึงช่วงของการจัดงาน อาจโอนเงินมาอยู่ที่บัญชีออมทรัพย์ เพราะมีสภาพคล่องสูงกว่า เผื่อเบิกถอนออกมาจ่ายค่ามัดจำต่างๆ ในงานแต่งงาน และ ควรเป็นบัญชีที่ต้องใช้ลายเซ็นทั้งคู่ในการถอนเงิน
3. จัดงานแต่งงานและใช้เงินให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ตั้งไว้
การควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะหากเราคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และเมื่อหักกลบกับรายได้จากค่าซองงานแต่ง แล้วมีเงินเหลือ เงินเหลือหลังจากจัดงานก็จะกลายเป็นต้นทุนชีวิตคู่อีกก้อน เพราะหากไม่มีการเตรียมตัวใดๆ ก็อาจจะทำให้จนกรอบหลังจากเริ่มต้นชีวิตคู่ และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินตามมาได้
4. พิจารณาว่าจะจดทะเบียนสมรสดีมั้ย
หากต้องการจดทะเบียนสมรส ควรพูดคุยเรื่องสินส่วนตัวที่มาก่อนการสมรสให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง แม้ว่าความรักของคุณอาจไม่ได้เริ่มต้นที่เรื่องของฐานะและการเงิน แต่การอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีปัจจัยที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิต จึงต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนข้อดี ข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ จะแต่งงานทั้งที จดทะเบียนสมรสดีมั้ย
5. วางแผนชีวิตและวางแผนการเงินร่วมกัน
เมื่อคู่รักมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องในทุกช่วงของชีวิต ชีวิตรักในชีวิตจริงไม่ได้เหมือนในละครที่จะจบลงที่ฉากสุดท้าย คือ การแต่งงาน เพราะในความเป็นจริง เราต้องใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปและจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการเงินที่ดี ต้องมีการตกลงความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้านว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าอะไร รับผิดชอบเรื่องไหน หรือแบ่งตามสัดส่วนของรายได้ แต่ก็ควรมีเงินเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว และเงินออมในอนาคต จะได้รู้สึกเป็นอิสระและชีวิตรักก็จะมีความสุข
นอกจากนี้หากจดทะเบียนสมรสย่อมมีผลต่อสถานะของคุณในเรื่องของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งกฎหมายให้สิทธิกับคู่สมรสจดทะเบียนว่าจะจะแยกยื่นหรือรวมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ซึ่งคุณก็ต้องมาพูดคุยและวางแผนภาษีร่วมกัน เพราะการวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้เสียภาษีได้ถูกต้องและประหยัดขึ้น ส่วนจะแยกยื่นหรือรวมยื่นดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ
คู่สมรสวางแผนภาษีอย่างไรดีให้ประหยัดสุด
กล่าวโดยสรุป ‘
เงิน
’ เกี่ยวข้องกับคู่สมรสในทุกขั้นตอน และทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เริ่มคบหาดูใจ การตัดสินใจแต่งงาน จนถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยทำให้ชีวิตคู่ของคุณดำเนินไปด้วยดีและมีความสุข
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร