แต่งงานทั้งที ต้องมีเงิน 3 ก้อน

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำพูดว่า… “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” แต่สมัยนี้จบประโยคแค่นี้คงไม่พอ ต้องขอเติมอีกซักนิดว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แต่ถ้าอยากมีสุข ต้องกระปุกเงินใหญ่พอ" เพราะมันคือความจริงของโลกทุนนิยมยุคนี้ และเราทุกคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องของความรักนั้นมักมีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอๆ


เมื่อคนสองคนเห็นพร้องต้องกันที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการเตรียมตัวแต่งงาน แต่จะแต่งทั้งที มีสิ่งหนึ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาด!! นั่นคือการวางแผนการเงินที่ถูกต้องและถูกใจ แต่คำถามที่ตามมาติดๆก็คือ “แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?” เราเลยขอแนะนำ วิธีที่จะแต่งงานให้มีทั้งความสุข ความรัก และการเงินไปพร้อมๆ กันได้ ด้วยกลเม็ดเคล็ดลับที่มีชื่อว่า “แต่งงานทั้งทีต้องมีเงิน 3 ก้อน”

มาดูกันว่า เงิน 3 ก้อนที่ว่านี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง

เริ่มจากก้อนแรกคือสินสอด

สินสอด ถือเป็นด่านแรกของการแต่งงาน เพราะถ้าสินสอดไม่มา คงยากที่จะผ่านด่านครอบครัวสาวเจ้าไปได้ ดังนั้นทางฝ่ายเจ้าบ่าวเองควรจะเอ่ยปากถามทางครอบครัวเจ้าสาวให้ชัดเจน โดยคำตอบของจำนวนเงินสินสอดที่เหมาะสมนั้นไม่มีคำตอบตายตัว มีแค่คำตอบว่าทั้งสองฝ่ายจะ “พอใจ” หรือไม่ ก็เพราะว่าความรักไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินนี่นา แต่อย่างไรก็ตาม วิธีง่ายๆ แบบบ้านๆ คือ ฝ่ายชายบอกจำนวนเงินที่สู้ไหว ประมาณว่า … รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง!!!


หลังจากที่ทราบจำนวนสินสอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การวางแผนหาเงินเพิ่มเพื่อให้ถึงจำนวนสินสอดที่ต้องการ ซึ่งเรื่องสำคัญที่อยากจะย้ำ คือ เงินสินสอดก้อนนี้หายไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นเงินก้อนแรกที่ฝ่ายชายต้องนำมาวางต่อหน้าผู้ใหญ่ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับฝ่ายเจ้าสาวนั่นเอง แต่จะฝากเงินที่ไหนอย่างไรดีนั้น ต้องบอกเลยว่า สมัยนี้เค้ามีวิธีการออมดีๆ ที่หลากหลาย และให้ดอกเบี้ยมากกว่า บัญชีออมทรัพย์ ให้เราเลือกใช้บริการได้ตามใจ ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น เอาที่สภาพคล่องสูงหน่อย และสามารถถอนออกมาใช้ได้ทันท่วงที

ก้อนที่สองคือ งบประมาณการจัดงาน

เงินส่วนนี้คู่รักทั้งสองคนต้องเตรียมให้เรียบร้อย ซึ่งงบประมาณที่ว่ามีตั้งแต่หลักหมื่นปลายๆ แสนต้นๆ ไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการและฐานะทางการเงินของครอบครัวบ่าวสาว ซึ่งมักจะแปรผกผันกันอยู่บ่อยๆ เพราะเมื่อถึงเวลาแต่งงานทั้งทีเราก็อยากจะจัดเต็มที่ให้สมกับที่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต แต่กลับต้องหยุดคิดและเลิกฝัน เมื่อเห็นตัวเลขในบัญชี


เราลองมาดูตัวเลขงบประมาณสำหรับงานแต่งงานคร่าวๆ กันดีกว่า

  • ค่าใช้จ่ายเตรียมก่อนวันจัดงาน ประมาณ 50,000 บาท เช่น ค่าดูฤกษ์ยาม ค่าการ์ดเชิญ ถ่ายภาพ ของชำร่วย ฯลฯ
  • ค่าใช้จ่ายงานหมั้น (เช้า) ประมาณ 150,000 บาท ได้แก่ ค่าชุดพิธีการ สถานที่ แหวนหมั้น แต่งหน้าทำผม ทำพิธีกรรม ทางศาสนา
  • ค่าใช้จ่ายงานแต่ง (เย็น) ประมาณ 500,000 บาท ได้แก่ ค่าโต๊ะจีน ค่าชุดงานแต่งงาน ของหน้างาน นักร้อง วงดนตรี พรีเซ้นเตชั่น และสำรองเพื่อเหลือเผื่อขาด


เมื่อคำนวณงบประมาณทั้งหมดแบบคร่าวๆ คือ 700,000 บาท ซึ่งคู่รักบางคู่อาจจะได้รับเงินสินสอดกลับมาจัดงานแต่งงานก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้กลับมา งานนี้ก็คงต้องพยายามกันให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณทั้งหมดนี้สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ โดยมีเคล็ดลับอยู่ตรงที่คู่รักทั้งสองคน ต้องตกลงความต้องการกันให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้หาจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องใช้ในการแต่งงานให้ครบ


เมื่อได้ตัวเลขที่ต้องการแล้ว ให้ลองเอาตัวเลขไปคำนวณ โดยให้นำจำนวนเงินที่ต้องการ หารด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะจัดงานแต่งงาน เพื่อให้ได้จำนวนเงินที่เราต้องเก็บโดยประมาณต่อเดือน เช่น ถ้าคู่บ่าวสาวอยากแต่งงานในอีก 2 ปีข้างหน้า และต้องการเงิน 700,000 บาทเพื่อจัดงาน เราก็คำนวณโดยเอางบประมาณหารด้วยจำนวนเดือน (24 เดือน) ได้ผลลัพธ์ออกมาเดือนละเกือบๆ 30,000 บาท หลังจากนั้นก็มาตัดสินใจว่าทั้งคู่บ่าวสาวสามารถช่วยกันเก็บเงินจำนวนนั้นไหวหรือไม่ ถ้าคิดว่ายังไม่ไหวก็ต้องมาพูดคุยกันเพื่อปรับงบประมาณกันใหม่อีกครั้ง


คำเตือน! การจัดงานแต่งงานควรจัดให้สมฐานะทางการเงินที่แท้จริงของคู่บ่าวสาว ไม่ควรเลือกเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการกู้หนี้ยืมสินเพื่อจัดงานแต่งงานใหญ่เกินพอดี เพราะอาจจะก่อหนี้และภาระอื่นๆ ตามมาในระยะยาว จนทำให้เกิดความลำบากต่อเงินก้อนสุดท้าย นั่นคือ เงินที่ต้องใช้หลังแต่งงานนั่นเอง

เงินก้อนที่ 3 สำคัญที่สุด

เงินก้อนนี้เป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของครอบครัวใหม่ที่กำลังจะมาถึง เรียกได้ว่า คุณภาพชีวิตจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงินก้อนนี้ก้อนเดียว เพราะเงินที่เอาไว้ใช้หลังแต่งงาน คือเงินที่ใช้ในการเริ่มต้นครอบครัวหลังจากวันที่ทั้งสองคนกลายมาเป็นคนๆ เดียวกัน


สำหรับบางครอบครัวอาจจะโชคดีที่ได้สินสอดคืนมาเป็นทุนตั้งต้นครอบครัว ก็อย่าผลีผลามย่ามใจเอาไปใช้จ่ายเสียหมด ควรจะคิดกันให้ดีเพื่อแบ่งเงินมาลงทุนหรือเก็บออมไว้ยามฉุกเฉินจะดีกว่า แต่สำหรับคู่ที่ไม่ได้ก็อย่าน้อยใจไป เพราะเราได้สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสินสอดมาแล้วนั่นคือ “คู่ชีวิต” ที่จะร่วมสร้างคิดสร้างฝันไปด้วยกัน


“การแต่งงานคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่” ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากคนที่ไม่เคยอยู่ร่วมกันกลับต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน จึงทำให้ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่ต้องช่วยกันประหยัดเงินและสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกัน ดังนั้น วิธีการวางแผนสำหรับเงินก้อนสุดท้ายนี้ ควรเริ่มต้นจากการสร้างวินัยในการออมเพื่ออนาคตของทั้งสองคนไปพร้อมๆ กัน เช่นใช้วิธีฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนในบัญชีเงินฝากระยะยาวที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือถ้ารับความเสี่ยงได้มาก ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการจัดการในเรื่องนี้ก็แล้วแต่ว่าคู่ไหนจะตกลงกันอย่างไร


ขอฝากไว้ว่าทั้งคู่ควรจะคุยเรื่องเงินทั้ง 3 ก้อนนี้ว่าจะจัดสรรปันส่วนอย่างไร เพื่อทำให้ชีวิตครอบครัวมีฐานะการเงินที่มั่นคง ความรักที่ยั่งยืน ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร จะได้เอาเวลาไปใช้กับคนที่เรารักได้อย่างมีความสุขและสบายใจ แฮปปี้เอนดิ้ง <3