ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยเราทุกวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงานมักนิยมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะ “อยู่ก่อนแต่ง” เพื่อเป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย  การใช้ชีวิตของคนไทยในยุคสมัยใหม่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


ทัศนคติดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์เมื่อปี พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับ “มุมมองความรักและการเลือกคู่ของคนโสดในยุคปัจจุบัน” พบว่า คนโสดมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 59.5 ระบุว่า ขณะนี้มีคู่รักหรือคนที่คบหาเป็นแฟนอยู่แล้ว โดยในจำนวนดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 29.1 ที่มีความคิดจะแต่งงานกับคนรักของตน   ในขณะที่ร้อยละ 4.9 ระบุว่า ไม่ใช่ และร้อยละ 25.5 ยังไม่แน่ใจ   ทั้งนี้ คนโสดส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.9 มีทัศนคติในเชิงเห็นด้วยกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30.2 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเพศหญิง โดยร้อยละ 44.3 ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันก่อนแต่งงาน   ขณะที่ร้อยละ 22.6 ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสมัยนี้ใคร ๆ ก็ทำกัน   มีเพียงร้อยละ 33.1 ที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ตั้งครรภ์ ทำแท้ง และขัดต่อวัฒนธรรมไทย

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากปัญหาในเรื่องของการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การทำแท้ง และการขัดต่อวัฒนธรรมแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกรณีที่คู่รักครองความสัมพันธ์กัน “ฉันสามีภรรยา” โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงอยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองเสียก่อนว่า


“คุณกับคู่รักอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่?”


“มีบุตรด้วยกันหรือไม่?”  “บุตรใช้นามสกุลของใคร?”


“รายละเอียดในใบสูติบัตร (ใบเกิด) ของบุตร ปรากฏชื่อของบิดาหรือไม่?”


คำถามเหล่านี้ ยังไม่รวมถึงกรณีที่อาจจะเกิดปัญหาในการเลี้ยงดูบุตรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น เนื่องจากในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้บุตรที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผู้เป็นบิดาอาจไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้  อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single mom) ในกรณีที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกที่เกิดมาจะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นแม่เพียงผู้เดียว และจะเป็นลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ดังนั้นผู้เป็นพ่อก็ไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย แต่ต่อมาถ้าแม่ต้องการให้พ่อจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็จะต้องดำเนินการให้พ่อดำเนินการรับรองให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อเสียก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูบุตรได้

กรณีลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังกล่าว ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “บุตรนอกสมรส”  ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดวิธีการที่จะเป็นทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็น “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” ได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้


1. บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร


2. บิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง


3. ศาลพิพากษาว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา


อย่างไรก็ดี กรณีตามข้อแรก บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องให้บิดาไปจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอในแต่ละจังหวัด โดยมารดาต้องให้ความยินยอม รวมทั้งเด็กต้องให้ความยินยอม แต่ถ้ากรณีที่เด็กยังเล็กมากและยังไม่สามารถพูดให้ความยินยอมได้อาจขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก


กรณีที่สองบิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด


กรณีสุดท้ายหลังจากที่ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิดเช่นกัน

อีกกรณีหนึ่งที่มารดาสามารถนำมาใช้อ้างได้ ถ้าพบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

  • เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเราหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

  • เมื่อมีการลักพาตัวมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

  • เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน

  • เมื่อปรากฏในทะเบียนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

  • เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้

  • เมื่อมีเหตุใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

  • เมื่อมีการแสดงออกที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร เช่น บิดาดูแลเรื่องการศึกษา ยินยอมให้เด็กใช้นามสกุลของตน

ดังนั้น เมื่อสามีไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ฝ่ายภรรยาสามารถดำเนินการฟ้องศาลขอให้สามีรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงสามารถเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้อีกด้วย เมื่อบิดาจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว กฎหมายกำหนดหลักไว้ว่าบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะคืออายุ 20 ปีบริบูรณ์


ทั้งนี้ มารดาสามารถยื่นฟ้องบิดาต่อศาลเยาวชนและครอบครัว โดยการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียม และเพื่อความสะดวกรวดเร็วการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็ยังสามารถฟ้องรวมกับการฟ้องให้บิดารับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย


บทความโดย :  อังค์วรา ไชยอนงค์