ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
คุณแม่ยุค(ต้อง)ประหยัด กับ การประดิษฐ์ของเล่นให้ลูก
คุณแม่ยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การประหยัดกับเรื่องของลูกนั้นทำได้ยากจริงๆ เรามาพุ่งเป้าไปที่ของเล่นของลูกกัน เพราะนี่แหละเป็นแหล่งเงินรั่วของครอบครัว เราทราบกันดีว่า ของเล่นเด็กส่วนใหญ่มีราคาสูง เด็กแต่ละวัยก็เล่นของเล่นไม่เหมือนกัน เล่นแป๊บเดียวก็เบื่อ และด้วยความเป็นเด็ก เป็นธรรมดาที่จะขว้างปาทำหกตกหล่นจนชำรุดเสียหาย เล่นไม่ได้อีกเลยก็มี การประดิษฐ์ของเล่นให้ลูกจึงเป็นสิ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง
อย่างเพิ่งคิดว่า “ฉันไม่มีฝีมือ ฉันไม่ชอบประดิษฐ์ หรือฉันไม่มี idea” ต้องปรับความเข้าใจก่อนว่า แม้สิ่งที่เราประดิษฐ์ขึ้นมาจะไม่เหมือนของเล่นสำเร็จรูป แต่ก็ทำให้ลูกสนุกและกระตุ้นจินตนาการได้ไม่แพ้กัน มาเริ่มที่เป้าหมายการประดิษฐ์ในครั้งนี้ นั่นคือ ‘เราประดิษฐ์เพื่อประหยัด’ ดังนั้นการหาวัสดุจะต้องไม่หลุดจาก concept นี้
ของที่ต้องใช้ในการผลิตแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ อุปกรณ์การทำงาน เช่น ดินสอ ไม้บรรทัด กาว กรรไกร สก็อตเทป เชือก สี ถือเป็นอุปกรณ์ที่ต้องลงทุน แต่ก็ลงทุนแค่ครั้งเดียว หรือนานๆ ซื้อที ไม่ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อจำพวก ลวด แม็กเย็บกระดาษ หรือสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย
ของในกลุ่มที่สองคือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงกระดาษ กล่องพัสดุที่สั่งของมา แกนกระดาษทิชชู เสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว และของอื่นๆ ที่หาได้ภายในบ้านของเรา
ลำดับต่อไป เรามาดูว่าเด็กแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ 0-6 ปี เหมาะกับของเล่นแบบไหน
ช่วงอายุ 0-6 เดือน ทารกช่วงวัยนี้ต้องการการเสริมสร้างสติปัญญาผ่านการมอง การฟังเสียง ของเล่นที่จะกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการมองสามารถมีสีสันสดใส มองแล้วเห็นการเคลื่อนไหว เราอาจจะใช้กระดาษสีพับนก พับจรวด หรือใช้วิธีวาดรูประบายสีมาทำโมบายตกแต่งห้องนอนลูก ถ้าจะกระตุ้นการฟังเสียงคุณแม่ทำเครื่องเคาะจังหวะ โดยนำกรวดขนาดต่างๆ ไม่ต้องมากนัก ใส่ลงไปในขวดน้ำพลาสติก ปิดฝา แล้วเขย่าฟังเสียง ลองทำหลายๆ ขวดโดยใช้กรวดที่มีขนาดและปริมาณต่างกัน ก็จะได้เครื่องเขย่าที่มีเสียงแตกต่างกันไป แนะนำให้คุณแม่เป็นคนเขย่าให้ลูกฟัง ร้อง เล่นเป็นจังหวะต่างๆ และแม้ว่าคุณแม่จะเป็นคนเล่น แต่ก็ควรปิดเทปให้แน่นหนาอย่าให้ฝาหลุดได้
ช่วงอายุ 7-12 เดือน เด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากการสัมผัสมากขึ้น เมื่อมือเด็กน้อยคว้าโดนสิ่งของ เขาก็จะรับรู้ถึงผิวสัมผัส ความนุ่ม ความแข็ง ความยืดหยุ่น รวมทั้งรับรู้จากการขบกัดสิ่งของด้วย โดนัทผ้าหรือตุ๊กตาผ้าก็ไม่น่าจะยากเกินไป เพียงแต่ต้องเลือกผ้าที่ไม่สาก ไม่เป็นขุย ไม่มีเส้นใยที่ระคายเคือง ลองนำผ้าจากเสื้อยืดที่เบื่อแล้วมาตัดเป็นรูปทรงโดนัท เป็นตุ๊กตาคน เป็นแมว เป็นดอกไม้ หรือเป็นทรงเรขาคณิตง่ายๆ แล้วยัดเศษผ้าเข้าไปเหมือนกับการทำหมอน เย็บเก็บรอยต่อต่างๆ ให้เรียบร้อย เราก็จะได้หมอนเล็กหมอนน้อยไว้ให้ลูกคว้าเล่นขย้ำเล่น อ้อ...อย่าลืมซักทำความสะอาดก่อนให้ลูกเล่น เพื่อความปลอดภัยนะ
ช่วงอายุ 1 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มหยิบจับ ผลักดัน ใช้กล้ามเนื้อมือมากขึ้น ถ้าเป็นของเล่นทั่วไปเรามักจะนึกถึงการต่อบล็อกใหญ่ๆ เราลองทำของเล่นแบบนี้จากแกนกระดาษทิชชูและกล่องลังกัน นำกล่องลังขนาดไม่สูงไปกว่าแกนทิชชูมาเป็นฐาน แล้ววาดวงกลมตามขนาดของแกนทิชชูไว้ที่พื้นกล่อง ลองให้ลูกเรียงแกนทิชชูลงไปให้พอดีกล่อง ฟังดูเหมือนเป็นการหยิบจับง่ายๆ ไม่มีอะไร แต่บ่อยครั้งที่พบว่าลูกชอบขว้างปาไปรอบๆ มากกว่าวางลงบล็อก ดังนั้น การเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้แฝงไว้ด้วยการฝึกลูกฟัง ฝึกให้ทำตามตัวอย่าง ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ฝึกสื่อสารและชื่นชมลูกไปด้วย
ช่วงอายุ 2-3 ปี วัยนี้ทั้งเดินทั้งวิ่ง ลองทำตุ๊กตาลากจูงแบบต่างๆ ให้เขา โดยใช้ขวดน้ำเป็นโครง และใช้ฝาเป็นล้อ ถ้าจะให้ล้อหมุนได้ ก็ใช้ตะเกียบเป็นแกน เจาะรูฝาขวดสวมเข้าไปเป็นล้อ แล้วร้อยเชือกให้ลากจูง ถ้าไม่ทำเป็นรถ แค่นำขวดมาต่อกันเป็นยานพาหนะหรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็สนุกไปอีกแบบ ทำออกมาไม่เหมือนก็ไม่เป็นไร ถือว่าเว้นที่ไว้ให้จินตนาการของลูกทำงานต่อเอง
ช่วงอายุ 4-6 ปี เด็กวัยนี้รับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างมากมาย เขาชอบที่จะเลียนแบบหรือเล่นบทบาทสมมุต เราอาจจะต้องทำของเล่นชิ้นใหญ่กึ่งๆ จะสมจริงให้เขาเช่น ใช้ลังขนาดใหญ่ทำเป็นทีวี เจาะช่องเป็นจอให้เขานำตุ๊กตาตัวเล็กเข้าไปเดินอยู่ในจอเหมือนการ์ตูนที่พวกเขาชมอยู่ หรือใช้กล่องลังทำชุดเครื่องครัวเล็กๆ เป็นเตา เป็นหม้อให้เขาสวมบทบาทพ่อครัวแม่ครัวตัวน้อย หรือจะตอบสนองความอยากขีดเขียน โดยนำกระดาษลังใหญ่ๆ ตั้งเป็นกระดาน แล้วติดกระดาษปรู๊ฟขนาดใหญ่ (กระดาษขาวสำหรับห่อของ) ไว้ให้ลูกวาดรูปเล่นก็ได้
อ่านมาถึงตรงนี้จะพบว่า เราไม่ได้ให้ภาพของเล่นจากการประดิษฐ์ที่เจาะจงตายตัว เป็นไปได้ว่าคุณแม่หลายๆ ท่านนำคำแนะนำเดียวกันไปใช้แล้วจะประดิษฐ์ออกมาไม่เหมือนกัน นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการ ความดิบของวัสดุกับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละท่านจะสร้างของเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และดัดแปลงได้หลากหลายกว่าที่คิดไว้ คุณแม่จะภูมิใจในผลงานและอาจจะรู้สึกเสียดายนิดๆ ถ้ามันจะถูกยักษ์ตัวน้อยถล่มจนพังเข้าสักวัน แต่เราก็เชื่อว่าคุณแม่ทุกท่านจะสร้างของเล่นชิ้นโบแดงขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ แน่นอน
ความตั้งใจที่นำเสนอเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว การประดิษฐ์ให้คุณค่าในอีกหลายเรื่อง ทั้งเป็นสื่อความรักจากความตั้งใจทำเพื่อลูก ในวันที่ลูกเริ่มโตและมีส่วนร่วมได้ เราก็ใช้เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับลูก และใช่ว่าเราจะเลิกซื้อของเล่นให้ลูกไปเลย เราสามารถสอนเรื่องคุณค่าของการได้มา ลูกต้องรู้จักอดออมและอดทนรอ ไม่ใช่ร้องอยากได้แล้วต้องได้ เมื่อเขาได้ซื้อของเล่นใหม่ในโอกาสที่เหมาะสมและสมควร เขาจะรู้จักถนอม รู้จักเก็บรักษา เห็นคุณค่าของของแต่ละชิ้น และในทางกลับกัน ของเล่นที่แม่ทำให้ก็อาจเป็นสิ่งที่ลูกจดจำได้มากกว่าของชิ้นไหนที่ลูกเคยมี
ได้แรงจูงใจแล้วใช่มั้ย...มองไปรอบๆ ใช้จินตนาการกับของที่อยู่ตรงหน้าจากนั้นเริ่มประดิษฐ์กันเลย
บทความโดย ธ. อัครรัตน์