ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เหตุผลที่พ่อแม่ล้มเหลวในการสร้างวินัยให้ลูกน้อย
การสร้างวินัยกับเด็กเล็กถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหล่อหลอมลักษณะนิสัยซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงวัยเรียนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน การสร้างวินัยนั้นเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจเหตุและผล การรู้หน้าที่ และการลงมือทำด้วยตนเอง เด็กที่ถูกปลูกฝังเรื่องวินัยจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม แต่สิ่งที่เรามักได้ยินคือ ‘เด็กสมัยนี้ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ไม่มีวินัยเลย’ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น! วันนี้เราจะย้อนดูที่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นจุดแรกในการสร้างวินัยให้เด็กเล็ก โดยเล่าถึงเหตุผลที่พ่อแม่หลายๆ บ้านล้มเหลวในการสร้างวินัยให้กับลูก
1. คิดว่าเด็กทำไม่ได้
: ผู้ใหญ่มักมองเรื่องวินัยเป็นกรอบหรือกฎข้อบังคับที่ควรปฏิบัติตาม จึงคิดว่าการฝึกวินัยเด็กเล็กเป็นเรื่องยากเพราะดูเหมือนจะตรงข้ามกับธรรมชาติของพวกเขาโดยสิ้นเชิง หลายบ้านจึงถอดใจ หรือไม่ก็รอให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน แต่ถ้าเราทำความเข้าใจใหม่ เราจะพบว่า วินัยที่เราจะสร้างให้เด็กไม่ใช่
วินัยภายนอก
หรือการทำตามกฎข้อบังคับ แต่เป็น
วินัยในตนเอง
ที่เกิดจากการรู้เหตุรู้ผลและเลือกปฏิบัติด้วยความสมัครใจ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องเชื่อก่อนว่าเด็กเล็กเรียนรู้เรื่องวินัยได้เมื่อพวกเข้าได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยวิธีที่เหมาะกับวัย
2. ไม่เป็นแบบอย่าง:
พ่อแม่หลายคนอ่อนใจ เพราะบอกก็แล้ว สั่งก็แล้ว ลูกก็ทำบ้างไม่ทำบ้างหรือจำไม่ได้สักที เราต้องกลับมามองตัวเองว่า เราเป็นตัวอย่างที่ดีพอให้กับลูกแล้วหรือยัง เช่น ไม่เล่นโทรศัพท์ในโต๊ะอาหาร รับผิดชอบงานบ้านที่ได้รับมอบหมาย หรือตรงต่อเวลา จริงอยู่ที่แต่ละคนในบ้านอาจมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบไม่เหมือนกัน แต่ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำให้เด็กเห็นว่า คนในบ้านต่างรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ เด็กๆ ก็สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำ คำสั่งก็จะเป็นเพียงลมปากที่ไม่น่าเชื่อถือและเด็กก็จะไม่อยากทำตาม
3. ไม่เคยบอกเป้าหมายหรือเหตุผล: เด็กหลายคนไม่รู้เลยว่าทำไมต้องทำตามที่ผู้ใหญ่บอก สิ่งนี้อาจเป็นสาเหตุที่เด็กบางคนไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง บ้างก็เลิกทำ แต่ถ้าพวกเขารู้ว่าทำไมต้องทำ ทำแล้วดีกับตัวเองและผู้อื่นอย่างไร พวกเขาก็จะทำอย่างมีความหมาย และทำต่อไปอย่างรู้คุณค่า ตัวอย่างเช่น วินัยในการออมเงิน เด็กอาจคิดว่าค่าขนมในแต่ละวันเป็นสิทธิของเขา เขาจะใช้จนหมดก็ไม่เป็นไร ถ้าเด็กรู้ว่าการออมเป็นเป้าหมายในการสร้างจุดเริ่มต้นของการบริหารเงินก็คงจะดี แต่บอกอย่างนี้เด็กคงไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่สามารถทำไปกับเด็กและชี้ให้พวกเขาเห็นประโยชน์ได้ เช่น เราหยอดกระปุกวันละนิด เรามีเงินเก็บไว้ใช้ได้หลายเรื่อง เช่น ได้ซื้อขนมแบ่งปันเพื่อน ได้ซื้อหุ่นยนต์ที่อยากได้ ได้ความภูมิใจที่ได้ซื้อของให้ตัวเอง และถ้าออมได้สม่ำเสมอก็สามารถเป็นทุนรอนหรือใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไม่คาดคิดได้อีกด้วย เมื่อเด็กๆ เริ่มสัมผัสประสบการณ์และเกิดความเข้าใจ พวกเขาก็จะเห็นประโยชน์และทำต่อไป
4. ขี้สงสาร ทนไม่ได้ กลัวลูกไม่รัก:
พ่อแม่หลายคนขี้ใจอ่อน ทนไม่ไหว เมื่อเห็นลูกถูกฝืนใจ แต่ขอให้รู้เถิดว่าวันที่วินัยเหล่านั้นพาเขาประสบความสำเร็จ เขาจะนึกถึงคุณและรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก ...แล้วจะพูดอย่างไรไม่ให้เป็นการสั่งสอนอันน่าเบื่อ? ลองตั้งคำถาม เช่น “หนูรู้สึกอย่างไร ที่ได้ลองทำแบบนี้” เด็กอาจตอบว่าดีหรือไม่ดีก็ได้ เราต้องยอมรับความรู้สึกที่เด็กบอกก่อน ชื่นชมในความพยายามของเขา แล้วค่อยๆ อธิบายเหตุผล เช่น ลูกรู้สึกขัดใจที่กลับถึงบ้านแล้วต้องทำการบ้านก่อนไปเล่น ก่อนอื่นเราต้องรับรู้และยอมรับความรู้สึกของเด็ก เช่น “แม่รู้ว่าหนูอยากไปเล่น แต่สามวันนี้หนูก็อาบน้ำแล้วทำการบ้านก่อนได้แล้วนา...เห็นมั้ยหนูทำได้...พอการบ้านเสร็จ เราก็ไม่พะวง มีเวลาเล่นหรือทำอย่างอื่นอีกตั้งเยอะ...แม่ไม่ต้องบ่นหนูเลย แม่อยากให้หนูทำต่อไปนะลูก” อย่าลืมว่าคำชมของคุณเป็นทั้งกำลังใจและเป็นการคอนเฟิร์มให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ถูกแล้วดีแล้ว
5) คาดหวังให้เกิดผลในทันที: การสร้างวินัยสำหรับเด็กต้องค่อยเป็นค่อยไป ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยถอดใจเมื่อไม่เห็นผลในเวลาอันใกล้และอาจจบที่การทำโทษซึ่งทำให้สถานการณ์ในบ้านแย่ลง เราต้องเข้าใจว่า “วินัยเป็นการบูรณาการในการใช้ชีวิต” พูดให้ง่ายก็คือ วินัยไม่ใช่กิจกรรมพิเศษหรือทักษะที่แยกฝึกจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่วินัยสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยชี้แนะ บอกกล่าว ทำเป็นตัวอย่าง หรือทำไปกับเด็ก เช่น ตื่นแล้วต้องเก็บหมอนพับผ้าห่ม แทนที่จะบอกลูกว่าเก็บที่นอนด้วยนะ ลองเริ่มที่... ก่อนลูกลุกจากเตียง ช่วยกันจับผ้าห่มคนละมุมแล้วพับให้เล็กลง ‘ช่วยอุ้มหมอนไปวางให้แม่ตรงนั้นนะลูก’ ใช้คำพูดที่เป็นการขออย่างนุ่มนวล เชื่อว่าเด็กๆ ฟังแล้วก็อยากทำให้มากกว่าตอนถูกออกคำสั่งอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกบ้านร่วมกันสร้างวินัยให้กับบุตรหลานตั้งแต่เล็กๆ เพื่อที่พวกเขาจะเติบโตเป็นคนที่รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ เป็นประชากรที่มีคุณภาพในสังคมของเราต่อไป
บทความโดย ธ.อัครรัตน์