ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
น้องมีบุญ ชวนรับบุญสงกรานต์ บูชาพระพุทธทั่วไทย
“ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง สงกรานต์เร้าร้องทำนองเพลงโทน” ช่วงนี้ไปไหน เพื่อนๆ คงได้ยินเพลงนี้ ที่บอกให้เรารู้ว่าเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแล้ว โดยคำว่า “สงกรานต์” นั้นมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้าย อันหมายถึง การย้ายของพระอาทิตย์ไปยังจักรราศีใดราศีหนึ่ง แต่ความหมายที่คนไทยนิยมใช้อ้างอิงถึง จะกล่าวเฉพาะวัน และเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องราวของนางสงกรานต์ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ ซึ่งธิดาทั้ง 7 นั้นเป็นนางฟ้าอยู่สวรรค์ มีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแก่รอบพระสุเทรุในแต่ละปี สลับสับเปลี่ยนกันไป กำหนดไว้หากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ และในปี พ.ศ.2566 นี้ ตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์จึงเป็น นางกิมิทาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย) ทำนายได้ว่า น้ำท่าบริบูรณ์ ส่วนธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์เช่นกัน ได้ฟังคำทำนายแล้ว น้องบุญก็ขอเชิญชวนเพื่อนๆ มาทำบุญ สะสมบุญเพิ่มเติม เพื่อให้มีแต่ความสุขสบายใจยิ่งๆ ขึ้นไปค่ะ
วัดประดู่ฉิมพลี
เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีชื่อเดิมว่า “วัดฉิมพลี” โดยคำว่าฉิมพลี แปลว่า “ต้นงิ้ว” เพราะพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยต้นงิ้ว แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าวัดประดู่นอก คู่กับวัดประดู่ใน (วัดประดู่ในทรงธรรม) ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กัน
วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงยศเป็นพระยาศรีพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้ทำการจัดหาที่ดิน และก่อสร้างวัด ที่ใช้เวลานานถึง 8 ปีในการสร้างจนแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นวัดที่สร้างได้งดงาม และใหญ่กว่าวัดราษฎร์แห่งอื่น และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ได้เลือกไปหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะพุทธศิลป์ที่สวยงามเพื่อมาเป็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปที่มีศิลปะสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์เอิบอิ่ม ผิวองค์พระดั่งทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 99 นิ้ว จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ และตั้งชื่อว่า หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธสัมพันธมุนี
ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน เจดีย์กลมทรงรามัญ, ศาลาราชสังวราภิมณฑ์ และประดิษฐานรูปหล่อเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ หรือหลวงปู่โต๊ะ ภิกษุที่อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสยาวนานถึง 68 ปี เป็นเถราจารย์ที่ได้รับศรัทธาจากผู้คนมากมาย
ที่อยู่ 1162 ซอยเพชรเกษม 15 ถนนเพชรเกษม แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
https://goo.gl/maps/GKLcV2N4qBtigCRY7
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์วรมหาวิหารนั้น ชาวบ้าน มักเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระสิงห์ มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.1888 โดยกษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 5 ของราชวงศ์มังราย หรือพญาผายู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ พญาคำฟู ผู้เป็นพระราชบิดา แรกเริ่มมีชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” เพราะที่บริเวณหน้าวัดเป็นสถานที่ค้าขายของ จนกลายเป็นตลาดลีเชียงพระ จนกลายมาเป็นชื่อวัดเช่นกัน
ในบริเวณวัดเคยมีอาคารจตุรมุข แต่ภายหลังได้มีการสร้างวิหารหลวงขนาดใหญ่ในสมัยครูบาศรีวิชัยเป็นเจ้าอาวาส โดยใช้การผสมผสานระหว่างศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะล้านนา รวมถึงมีภาพเสือแทนปีขาลที่เป็นปีเกิดของครูบาศรีวิชัย และส่วนที่สำคัญ ห้ามพลาดหากได้มีโอกาสมาเยือน คือ “วิหารลายคำ” ซึ่งเป็นวิหารที่สร้างด้วยศิลปะล้านนาแท้ๆ ในระหว่างปีพ.ศ. 2358-2364 ตรงกับสมัยพญาธรรมลังกา หรือพระเจ้าช้างเผือก ที่ยังมีความสมบูรณ์ และมีเหลือเพียงไม่กี่แห่งแล้ว
ภายในวิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์ ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นช่วงปีพ.ศ.700 โดยกษัตริย์ 3 พระองค์จากกรุงลังกา และพระอรหันต์ 20 รูป เป็นผู้สร้าง และเมื่อปีพ.ศ.1931 พระเจ้าแสนเมืองได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จนกลายเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่และในเทศกาลสงกรานต์ทุกปีมี พิธีอาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกแห่ ให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการบูชา เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุที่สำคัญอีกมากมาย เช่น พระเจ้าทองทิพย์ พระศรีสรรเพชญ พระมหาธาตุเจดีย์ กู่มณฑปปราสาท และกู่อัฐิของพญาคำฟู
ที่อยู่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง เมื่อใช้หลักการของการพยากรณ์อากาศ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดใหญ่” เป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม ตามที่ปรากฎบนหลักศิลาจารึกสุโขทัยว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันธาตุสุคนธเจดีย์ และยังมีปรากฎในพงศาวดารเหนืออีกว่า “ในราวพุทธศักราช 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎก และคัมภีร์ศาสนาอื่นๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง” ซึ่งวัดแห่งนี้ มีความงดงามทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปกรรม และหนึ่งในพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ ก็คือ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่สวยงามที่สุดของประเทศไทย จนได้รับการจำลองมากที่สุดด้วยเช่นกัน จนเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในปี พ.ศ.2458
พระพุทธชินราช หรือหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 7 ศอก กว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารเก้าห้องที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ได้รับการบูรณะ ดูแลเป็นอย่างดีจนถือว่าเป็นวิหารที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งนึง และด้วยความเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ของวัดแห่งนี้ ทำให้ผู้คนที่นับถือมักมาขอพร ให้คุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย และหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากนี้ ที่วัดยังมีงานสมโภชพระพุทธชินราช ในช่วงวันมาฆบูชา หรือวันเพ็ญเดือน 3 เป็นประจำทุกปีอีกด้วย
ที่ตั้ง 92/3 ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
วัดพิกุลทอง
วัดเก่าแก่ของจังหวัดสิงห์บุรี สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2434 แต่เดิมมีชื่อว่า วัดใหม่พิกุลทอง แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดใหม่ ด้วยเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่วัดที่บูรณะขึ้นมาจากวัดร้าง แต่ปัจจุบันชาวบ้านพากันเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) อดีตเจ้าอาวาส เนื่องจากท่านเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพรัก และศรัทธา จากการที่ท่านได้ทำประโยชน์ แก่พุทธศาสนาไว้มากมาย รวมถึงการพัฒนาวัดแห่งนี้ให้สวยงาม ร่มรื่น และสบายใจเมื่อได้เข้ามา
และหากเราขับรถมา จะมองเห็นพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” หน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประทับนั่งบนพื้นฐานบัว และชุกชีที่ประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24K
สำหรับพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธศรีวิริยโสภิต พระพุทธรูปขนาดเล็กที่ประดิษฐานบนฐานสูงหลายชั้น และนอกจากนั้น ยังมีพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ เขมังกโร จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพ ตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงปัจจุบันอีกด้วย
ที่อยู่ 93 หมู่ที่ 3 ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
https://goo.gl/maps/kFeSQjZxMVyFdTYp7
วัดไร่ขิง
วัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2394 โดยพระธรรมราชานุวัตร (พุก) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาสมศักดิ์เป็นพระพุฒาจารย์ (พุก) โดยในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร แต่ได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิง ซึ่งเป็นบ้านของบิดามารดา แต่วัดไม่ทันได้สร้างเสร็จ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ก็มรณภาพไปก่อนในปี พ.ศ. 2427 และได้มีผู้มาดูแลต่อคือพระธรรมราชานุวัตร ซึ่งเป็นหลานชายของท่าน สำหรับที่มาของชื่อวัดไร่ขิงนั้น เนื่องจากในบริเวณนี้มีชาวจีนมาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก และนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านจึงพากันเรียกชุมชนนี้ว่า “ไร่ขิง” เมื่อมีการสร้างวัด จึงตั้งตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดไร่ขิง” นั่นเอง
ภายในบริเวณวัดมีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ บนฐานชุกชี 5 ชั้น อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน ล่องมาด้วยแพไม้ไผ่ทางแม่น้ำ เมื่อถึงวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ภายใน ซึ่งวันดังกล่าว ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันสงกรานต์ที่มีประชาชนมากมายมาทำบุญที่วัด ว่ากันว่า ในปะรำพิธีได้เกิดความอัศจรรย์ขึ้น แสงแดด และความร้อนระอุได้พลันหายไป เกิดเป็นเมฆดำ มีฝนฟ้าคะนอง และเป็นสายฝนลงมาให้ความชุ่มฉ่ำชื่นใจ ประชาชนที่มาในงานจึงแซ่ซ้องว่า “หลวงพ่อจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้าย คลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร แต่ก็มีบางตำนานที่เล่าขานว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น เป็น 1 ใน 5 ของพระพุทธรูปลอยน้ำ หรือปัญจภาคี ปาฏิหาริย์กระสินธุ์โน
และเมื่อปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน และได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง จึงทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” ทั้งทรงใส่วงเล็บชื่อเดิมต่อท้ายจึงกลายเป็น “วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง)” แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นมานานทำให้วงเล็บหายไป เหลือเพียงคำว่า “ไร่ขิง” จึงต้องเขียนว่า “วัดมงคลจินดาราม-ไร่ขิง” แทน
ที่ตั้ง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
วัดตะเคียน
วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงพ.ศ.2335 โดยในช่วงแรกมีภิกษุมาจำพรรษาบ้างเป็นครั้งคราว สลับกับการเป็นวัดร้าง จนเมื่อสมัยหลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง และสวยงาม เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน
ต่อมา ในสมัยที่พระครูสมุห์สงบเป็นเจ้าอาวาส ได้ต่อยอดพัฒนาดูแลวัด โดยการยกพระอุโบสถให้พ้นน้ำ และบูรณะใหม่ รวมถึงขยายศาสการเปรียญ ใช้ไม้สักทอง ยกสองชั้น สร้างเมรุเผาศพให้มีความทันสมัย และยังสร้างเตาเผาสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
โดยประชาชนโดยทั่วไป มักมาทำบุญสะเดาะเคราะห์ด้วยการนอนโลงศพเพื่อต่อชะตา และลอดโบสถ์ วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดแห่งแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการลอดโบสถ์ โดยสร้างหัวเสือ และหัวมังกร ให้เป็นประตูเข้าออก และด้วยจิตศรัทธาของชาวบ้าน ก็มีสร้างมณฑปหลวงปู่แย้ม ให้เป็นที่สักการะของคนที่นับถือ และที่วัดได้มีจัดสร้างหลวงพ่อทันใจองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 2.49 เมตร ประดิษฐานอยู่ในศาลาจตุรมุข ทรงโบราณให้ผู้มาทำบุญเข้ามากราบไหว้ขอพรอีกด้วย
หลวงพ่อทันใจองค์นี้มีการจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว และได้มีพิธีมหาพุทธาภิเษกในวันเดียวกัน เพื่อให้ทันใจสมชื่อ และเพื่อให้หลวงพ่อจะได้ประทานพรให้ได้ดังที่ขอทันใจ และในบริเวณวัดยังมีศาลเจ้าแม่ประกายทองประกายมาศ และต้นตะเคียนซึ่งมีความเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่เหลืออยู่เพียงต้นเดียวอีกด้วย
ที่อยู่ ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
วัดบางพลีใหญ่ใน
วัดเก่าแก่ของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปีพ.ศ.2310 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะ โดยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพให้กับไทยได้อีกครั้ง และได้ขยายอาณาเขตประเทศ และสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “บางพลี” นั้น เนื่องจากพระองค์ได้ทรงกระทำพิธี พลีกรรมบวงสรวงนั้นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อวัดในสมัยอดีตว่า “วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม”
โดยที่นี่ ยังเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย เป็นทองสำริดทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร ตามตำนานเล่าสืบต่อกันว่า เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ได้มีพระพุทธรูป 3 องค์ลอยตามน้ำเจ้าพระยาลงมาจากทางเหนือ ชาวบ้านเข้าใจว่า ชาวบ้านกรุงศรีอยุธยาอาจจะอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำ เพื่อหลบหนีข้าศึก เพราะในสมัยนั้นมีศึกสงครามบ่อยครั้ง ต่อมาพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ไปปรากฏยังสถานที่ต่างๆ องค์แรก ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องค์ที่สองประดิษฐานที่วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และองค์สุดท้ายได้ลอยตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองสำโรง ชาวบ้านพยายามจะอาราธนาขึ้นที่นั่น แต่ทำอย่างไรก็ไม่ขึ้น จนได้ลองเสี่ยงทายโดยการใช้แพผูกชะลอองค์พระ และอธิษฐานว่า "หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใดก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด" จนแพมาหยุดนิ่งที่วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม ชาวบ้านจึงพากันอธิษฐานว่าหากหลวงพ่อโปรดจะคุ้มครองชาวบางพลี ก็ให้อาราธนาท่านขึ้นโดยง่าย ซึ่งก็เป็นไปดั่งคำอธิษฐาน จึงเป็นที่มาของการประดิษฐานหลวงพ่อโต ณ วัดแห่งนี้
ที่อยู่ 130 หมู่ที่ 10 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
ชื่อเดิมของวัดแห่งนี้ คือ วัดศรีจำปา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีตำนานเล่าว่า เมื่อปีพ.ศ. 2307 ชาวบ้านแหลมได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนบริเวณแม่กลอง เหนือวัดศรีจำปา และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมที่เมืองเพชรบุรีที่จากมา และช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน และเปลี่ยนชื่อวัดศรีจำปา เป็น วัดบ้านแหลม ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร มีความสูง 2 เมตร 80 เซนติเมตร สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ยุคเดียวกับหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโตวัดบางพลี โดยหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นหนึ่งในตำนานพระ 5 องค์ที่ลอยน้ำมา อันได้แก่ หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ หลวงพ่อวัดเขาตะเครา และหลวงพ่อวัดไร่ขิง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธา เสด็จนมัสการ และพระราชทานผ้าทอดิ้นทอง 2 ผืนเพื่อประดับไว้ที่องค์พระในวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ วันที่วัดถวายกฐิน ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงิน เนื่องจากบาตรเดิมได้สูญหายในทะเลเมื่อคราวที่ชาวประมงลากอวนพบหลวงพ่อลอยมาในแม่น้ำแม่กลอง
ภายในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ ที่จัดแสดงพระพุทธรูป พระเครื่องสมัยต่างๆ โบราณวัตถุ เครื่องลายคราม และธรรมมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับใครที่อยากเสริมอำนาจบารมี ให้มีแต่สิริมงคลในชีวิต ก็มักจะมาสักการะปิดทองคำเปลว และตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากองค์หลวงพ่อกัน หากผู้ใดสมหวังดังใจปรารถนาแล้ว ก็จะกลับมาแก้บนด้วยการจ้างคณะละครรำ ให้มารำถวายองค์หลวงพ่อ
ที่ตั้ง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดมหัตตมังคลาราม
เดินทางลงสู่ภาคใต้ เพื่อสักการะวัดมหัตตมังคลาราม หรือวัดหาดใหญ่ใน แต่เดิมเมื่อปี พ.ศ.2488 ที่นี่จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน อีก 2 ปีต่อมาจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างเป็นทางการ และในปี พ.ศ.2497 ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ภายในวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ ที่มีความยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก บริเวณฐานขององค์พระ มีศิลปะลายปูนปั้นสวยงามชดช้อยโดยรอบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามให้ว่า “พระพุทธมหัตตมงคล” แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงบรรลุถึงความเป็นใหญ่ เป็นมงคล” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ในขณะที่ดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวัดนี้ ไว้ในพระราชานุเคราะห์ และพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดมหัตตมังคลาราม” ให้สอดคล้องกับนามของพระพุทธไสยาสน์ประจำวัด พร้อมด้วยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ติดซุ้มประตูด้วย
นอกจากนี้ยังมีห้องพระใต้ฐานพระนอนอีก 1 ห้องใหญ่ๆ สามารถเข้าไปสักการะได้ และในบริเวณวัดก็ยังมีเรือพญานาค 7 เศียรจำลอง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในซุ้มสวยงาม ใต้ต้นไทรขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นสบายใจยามที่เข้ามาในวัด รับรองว่า อิ่มบุญสุขใจเมื่อได้ไหว้พระขอพรจากวัดแห่งนี้แน่นอน
ที่ตั้ง ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ
>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง
ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล
สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP ได้ที่ >>
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด