ไหว้พระ ๙ วัด เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ 2566

อยากสบายอกสบายใจ เสริมพลังให้ชีวิตและการงานเจริญก้าวหน้า ธุรกิจการค้าดีงาม อุปสรรคขวากหนามทุกเรื่องคลี่คลายไป น่าจะดี ถ้าเราได้ต่อแต้มบุญหนุนดวง  เสริมกำลังใจให้เข้มแข็ง  ขอแนะนำทริปไหว้พระ ๙ วัดในกรุงเทพ เดินทางก็ง่าย ทำได้จริงภายใน ๑ วัน  จะไปวันหยุดหรือวันว่างก็ทำได้เลย  ไม่ต้องวางแพลนให้ยุ่งยาก  

ที่สำคัญทุกวัดที่แนะนำสามารถร่วมทำบุญได้ง่ายๆ ไม่ต้องพกเงินสดกับ “ทำบุญทันใจ”  เพียงแค่ใช้โมบายแบงก์กิ้ง  SCB Easy App สแกนคิวอาร์โค้ดก็สามารถโอนเงินทำบุญได้ทันที  สะดวกทำบุญ อบอุ่นด้วยความรู้สึกดีๆ เรามีทริปและทริคแบบละเอียด ทำบุญที่ไหน และจุดที่ควรไปสักการะเสริมมงคลคือจุดใด มาแนะนำกัน

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ทำบุญที่แรกที่วัดเบญจมบพิตรฯ  พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร  เป็นวัดโบราณ มีชื่อว่า "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๙ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๓๗๑  ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น   ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า ‘วัดเบญจมบพิตร’ อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่๕ และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมาพระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และได้มีสร้อยนามต่อท้ายด้วย “ราชวรวิหาร” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 


พระอุโบสถของวัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  ๕ โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)เป็นนายช่างก่อสร้าง จึงถือได้ว่าเป็นการก่อสร้าง ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงาม จนได้รับการยกย่องว่า เป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ "Marble Temple" 

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระพุทธชินราช (จำลอง) ณ พระอุโบสถ  จำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์  ขนาดหน้าตัก ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้วมีเศษ สูง ๗ ศอก

  • พระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์   เป็นพระพุทธปฏิมากรทรงเครื่อง ขัดสมาธิเพชร ฐานบัวรองด้วยฐานหน้ากระดาน วัสดุสัมฤทธิ์   ศิลปะสมัยล้านนาแบบหริภุญชัย กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ มีพระพุทธลักษณะที่งดงามหายากมาก ประดิษฐานที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

  • พระฝาง  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ศิลปะสมัยอยุธยาวัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง  พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าพระฝาง ในสมัยที่เป็นสังฆราชาเมืองฝาง และเคยเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ จนในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดให้อัญเชิญองค์พระฝางมาประดิษฐานที่มุขเด็จ พระวิหารสมเด็จ ส.ผ. วัดเบญจมบพิตรฯ จนถึงปัจจุบัน

วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

ทำบุญวัดที่  ๒  นั่งรถมาอีกหน่อยที่ถนนสามเสน  วัดราชาธิวาสฯ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ พัฒนาโดยพระบรมราชูปถัมภ์ จากพระมหากษัตริย์ไทยในราชจักรีวงศ์มาโดยลำดับ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร และเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ มีชื่อเดิมว่า วัดสมอราย  เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๔  พระองค์พระราชทานนามใหม่ให้แก่วัดแห่งนี้ว่า ‘วัดราชาธิวาส’ ซึ่งมีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เมื่อครั้งทรงผนวช   และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระวชิรญาณภิกขุ ในช่วงเวลาที่ประทับที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้ ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยามและแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งคณะสงฆ์นี้ยังดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระประธานอุโบสถ พระสัมพุทธพรรณี (จำลอง)  พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปที่มีพระนามเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ คือรัชกาลที่ ๔ และประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อใช้เป็นพระประธานองค์ใหม่ของวัดแห่งนี้ ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่ซึ่งรัชกาลที่ ๖ โปรดให้นำพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมาประดิษฐานด้วย

วัดอินทรวิหาร

ทำบุญวัดที่  ๓  ลัดเลาะมาแถวถนนวิสุทธิกษัตริย์ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม  ฝั่งตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทย  วัดอินทรวิหารมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ  วัดบางขุนพรหมนอก   การบูรณะครั้งสำคัญ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินในตำบลบางขุนพรหม ให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของครอบครัวเชลยชาวเวียงจันทร์ เจ้าอินทร์ผู้เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียวค่อมพระสนมเอก ได้บูรณะพระอารามขึ้นและนิมนต์เจ้าคุณพระอรัญญิก พระสงฆ์ชาวเวียงจันทร์ที่อพยพมาด้วยกันขึ้นปกครองวัด   ต่อมามีการบูรณะอีกครั้งโดย เจ้าอินทวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ เจ้าคุณพระอรัญญิก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสนาธุระ เคยเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสร้างหลวงพ่อโต พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ประจำวัดขึ้น แต่สร้างได้สูงเพียงพระนาภี สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต ) ก็ถึงแก่มรณภาพ  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอินทรวิหาร ด้วยทรงเห็นว่าชื่อไปพ้องกับ วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) ทางฝั่งธนบุรี  และการก่อสร้างหลวงพ่อโตดำเนินการต่อมาด้วยแรงศรัทธาใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๖๐ ปี จึงแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๗  

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • หลวงพ่ออินทร์ พระประธาน ณ พระอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยปูนทราย

  • หลวงพ่อโต  พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสูง ๑๖ วา กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรังสี) ริเริ่มก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.๒๔๑๐  ในสมัยรัชกาลที่ ๔  

  • บ่อน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี) สามารถดื่มหรือพรมศีรษะให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนา หมดเคราะห์  หมดทุกข  หมดโศก  หมดโรค  หมดภัย  มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง  และโชคดี   บ่อน้ำนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างหลวงพ่อโต เดิมมีอาคารไม้คลุมต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เจ้าอาวาสขณะนั้นได้รื้ออาคารเดิมและสร้างอาคารใหม่รูปทรงคล้ายเจดีย์ศิลปะไทยประยุกต์แทนแล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๕๓๑ กลางบ่อน้ำพระพุทธมนต์บรรจุแผ่นยันต์หินอ่อน ๑๒๑ พระคาถา ของเดิมของสมเด็จฯ ซึ่งพบบริเวณใต้โคนเสากลางบ่อน้ำมนต์เก่า ทั้งยังจารึกพระคาถาชินบัญชร ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกและพระธาตุทั้ง  บ่อเล็ก ๕ บ่อ โดยรอบบ่อใหญ่จารึกพระเจ้า ๕ พระองค์  วันอินทรวิหารยังได้รวบรวมน้ำพระพุทธมนต์ - น้ำศักดิ์สิทธิ์ จากทั่วพระราชอาณาจักร ๓๘๑ แห่ง มาไว้ด้วย

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

ทำบุญวัดที่  ๔  วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อ  วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร   สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓ พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖  และ ๙

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระพุทธชินสีห์   พระประธานในพระอุโบสถ  อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ และในปีต่อมาได้ปิดทองกาไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตรใหม่ และตัดพระอุณาโลม พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่งดงามอย่างยิ่งองค์หนึ่ง

  • พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) พระประธานคู่อีกองค์หนึ่งในพระอุโบสถ  ประดิษฐานด้านหลังพระพุทธชินสีห์  พระพุทธสุวรรณเขต  คนทั่วไปเรียก "พระโต" หรือ "หลวงพ่อเพชร" สมเด็จพระบวรราชเจ้าผู้ทรงสร้างวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จ.เพชรบุรี

  • พระไพรีพินาศ  ประดิษฐานอยู่ในกำแพงชั้นที่ ๒ ของพระเจดีย์สีทองหลังพระอุโบสถ  พระไพรีพินาศนั้นได้ชื่อว่ามีดีทางกำราบศัตรูทั้งปวงที่คิดร้าย  ความเป็นมาเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๑ มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งขณะนั้นยังผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไพรีพินาศองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้ปรากฏอริราช ศัตรูที่คิดปองร้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างมีอันเป็นไป และพ่ายแพ้ภัยตนเอง พระองค์จึงโปรดให้ถวายพระนามของพระพุทธ รูปองค์นี้ว่า "พระไพรีพินาศ"

  • พระศรีศาสดา  ประดิษฐาน  ณ   มุขหน้าวิหารพระศาสดาคู่กับพระพุทธไสยา  สันนิษฐานกว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) พร้อมกับ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระเหลือ

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ทำบุญวัดที่  ๕  นั่งรถมาอีกไม่ไกลที่เสาชิงช้า  วัดสุทัศน์ฯ  พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงให้สร้างขึ้น (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๐-๒๓๕๑) เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส”   แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากฐานพระวิหาร  ต่อมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่  ๒ ทรงโปรดฯ ให้สร้างต่อ  โดยทรงสร้างบานประตูกลางจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์ร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี ของตัวพระวิหารแห่งนี้ด้วย (ปัจจุบันบานประตูนี้ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์) แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จ  ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดฯ ให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้วทรงโปรดฯ ให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ กับโปรดฯให้สร้างสัตตมหาสถานและสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ไปจำวัดตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ โปรดฯ ให้มีการซ่อมแซมพระวิหารพระศรีศากยมุนีและซ่อมพระอุโบสถเพิ่มเติม   ถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่  ๘  

 จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระศรีศากยมุนี (พระโต)  อัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วง ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพบเข้ามีพระดำรัสให้อัญเชิญเข้ามายังพระวิหารของวัดสุทัศน์ฯ ที่ใต้ชุกชีหรือฐานพระพุทธรูปบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

  • พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

มาทำบุญวัดที่ ๖ บริเวณถนนเฟื่องนคร ย่านบำรุงเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก  ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒  มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง ๘ ทิศ


ความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาลแล้ว ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก 

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระพุทธอังคีรส ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทรงผ้ากลีบ ศิลปะรัตนโกสินทร์ เป็นพระกะไหล่ทองคำทั้งองค์ หนักรวม ๑๘๐บาท หน้าตักกว้าง ๒ ศอกคืบ (หรือ ๖๐ นิ้ว) สร้างจำลองจากเหตุการณ์พุทธประวัติคราวเมื่อพระพุทธองค์ทรงสมาธิหลังกำจัดพญามารไปแล้ว ทรงอยู่ในอิริยาบถนี้กระทั่งตรัสรู้ พระพุทธอังคีรสจึงเป็นพระที่ให้คุณในด้านของความสงบสุข ความรุ่งเรือง และเป็นพระที่นิยมกราบไหว้ขอพรก่อนเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

  • รูปหล่อรัชกาลที่ ๕ อยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ

  • อัฐิอดีตสมเด็จพระสังฆราช

วัดพิชยญาติการาม

ข้ามมาฝั่งธน ทำบุญวัดที่ ๗ ที่วัดพิชยญาติการาม ซึ่งนับเป็นพระอารามหลวงชั้นโท แต่เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ที่ผู้คนเรียกกันแบบลำลองว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓  มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น  มีจุดเด่นที่หลังคาแบบเก๋งจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองเป็นปูนปั้นมังกรสอดสีประดับกระเบื้อง เพดานตามระเบียงเขียนรูปดอกไม้สอดสี เสาพาไลเป็นศิลากลม ฐานสลักศิลาเป็นเรื่องสามก๊ก ประกอบทั้งสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยขณะนั้นเป็นจางวางพระคลังสินค้า มีเรือสำเภาค้าขายกับจีน จึงได้นำอับเฉาเรือ กระเบื้องสี และหินมาจากจีน มาใช้ก่อสร้างประดับวัด เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า "วัดพระยาญาติการาม" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดพิชยญาติการาม" หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "วัดพิชัยญาติ"

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระปรางค์วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น ๔ องค์   มีพระปรางค์องค์เล็ก ๒ องค์ องค์ที่หันพระพักตร์ไปสู่สี่ทิศทิศตะวันออกเป็นที่ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริยเมตไตรย องค์ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย สลักไว้บนแผ่นศิลาสำริด

  • องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัยประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชชินศรี โดยอัญเชิญมาจากวัดพระวิหาร หลวงเมืองพิษณุโลก นามว่า "พระสิทธารถ" หรือที่ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกท่านว่า "หลวงพ่อสมปรารถนา" ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก แล้วยังมีหลวงพ่อทอง-หลวงพ่อเงิน อายุกว่า ๑๑๔ ปี ให้พุทธศาสนิกชนมาสักการะอีกด้วย

วัดอรุณราชวราราม

ทำบุญวัดที่ ๘ ที่วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “วัดแจ้ง” สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” นับเป็นวัดคู่บ้านเมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระราชอิสริยยศรัชกาล ๒ ในขณะนั้น)  ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันบูรณะสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก   แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “ วัดอรุณราชวราราม ” มีชื่อเต็มว่า “ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ”  

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • “พระปรางค์วัดอรุณ” เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก ๔ ปรางค์ องค์พระปรางค์องค์ใหญ่สูง ๖๗ เมตรก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน  นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล ปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์

  • พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุโลหะผสมทอง ขนาดหน้าตัก ๓ ศอกคืบ หรือ ๑.๗๕ เมตร  ซึ่งสวยงามตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ มีเรื่องเล่ากันว่า รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นประธานปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บรรจุในพระบรมอาสน์ ตก แต่งผ้าทิพย์ประดับลายพระราช ลัญจกรเป็นรูปครุฑ

  • พระพุทธนฤมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ ๒ ประดิษฐานอยู่ด้านบนบุษบกยอกปรางค์หน้าพระอุโบสถ

  • พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสึตยานุบพิตร ประดิษฐานด้านในพระวิหารวัดอรุณ

  • พระอรุณหรือพระแจ้ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองทำด้วยทองสีต่างกัน รัชกาลที่ ๔ โปรดให้อัญเชิญมาไว้ที่พระวิหารวัดอรุณ ด้วยพระราชดำริว่า นามพระพ้องกับชื่อวัด        

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

มาทำบุญวัดที่ ๙ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดระฆังโฆษิตาราม เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา มาในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์  วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัดได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับรัชกาลที่ ๑ และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”


นอกจากนี้ที่วัดระฆังฯ มีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามเพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก

จุดไหว้สักการะเสริมมงคล

  • พระประธานยิ้มรับฟ้า ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท เป็นพระประธานและปูชนียวัตถุสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก

  • รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปเคารพท่านที่เป็นที่แพร่หลายคือรูปหล่อที่สร้างขึ้นและประดิษฐานอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๔ มีขนาดหน้าตัก ๔๘ เซนติเมตร ลักษณะนั่งสมาธิ ปัจจุบันมีผู้คนเคารพนับถือมากราบไหว้สักการะจำนวนมาก

มาไหว้พระ ๙ วัดเพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่กันแล้ว ชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation ทำนุบำรุงพุทธศาสนาและสนับสนุนกิจสงฆ์ผ่านแอฟ SCB EASY มีขั้นตอนดังนี้
 

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจใกล้ตู้รับเงินบริจาค  

>> กด ‘ยอมรับ’ ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่กรมสรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง


ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่เราบริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://epit.rd.go.th/BOAPP_RDINET/EFLoginService?service=DNT