น้องมีบุญพาร่วมบุญ เมืองปทุม

แสงแดดจ้าในช่วงนี้ เป็นสัญญาณบอกเราว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว แม้จะมีฝนพายุบ้างในบางวัน ให้พอชุ่มฉ่ำใจ อย่างไรก็ต้องระวังรักษาสุขภาพกันด้วย เพราะนอกจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยในแต่ละวัน โควิด-19 ก็ยังระบาดอยู่ด้วยตัวเลขหลักหมื่น น้องมีบุญก็เลยจะมาชวนเพื่อนๆ ทำบุญออนไลน์แบบง่ายๆ เผื่อใครที่ไม่อยากออกนอกบ้านในช่วงเวลานี้ก็ยังสามารถทำบุญได้ โดยวัดที่น้องมีบุญจะพาไปเยือนในวันนี้เป็นวัดในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดที่มีคำขวัญว่า “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” และมีสัญลักษณ์ คือ ดอกบัวหลวงสีชมพู และรวงข้างสีทอง อันหมายถึง ความสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร นั่นเอง และที่เมืองนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น วัดที่น้องมีบุญจะพาไปเที่ยววันนี้ ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

pathumthani-temple-01

วัดโบสถ์ (หลวงพ่อเทียน)

วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะโดยชาวมอญที่อพยพมาจากหงสาวดี วัดแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2167

ภายในวัดมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2158 และวิหารรามัญเก่าแก่ อายุมากกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2160 ด้วยรูปแบบการก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา วิหารนี้เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้ากราบสักการะ โดยพระประธานประจำวิหารแห่งนี้ คือ พระรามัญทรงเครื่อง หรือพระพุทธมหาจักรพรรดิ ที่คาดว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้คนต่างพากันมากราบไหว้สักการะขอพรจนเป็นผลสำเร็จ จึงได้มีการขนานนามว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา” โดยในประเทศไทยมีพระรามัญทรงเครื่องเพียงแค่ 2 องค์ โดยอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่อยุธยา ที่บริเวณหน้าวิหารมีหอระฆังเก่าแก่จากยุคเดียวกันด้วย

นอกจากนี้ ในวัดยังมี มหาศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งประดิษฐานพระรูปจำลองของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขนาด 3.5 เมตร ที่มีความเชื่อว่าใครที่ได้ไปกราบไหว้ ก็จะชนะศัตรู ได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต และประสบแต่ความสุข ความเจริญ และท้าวเวสสุวรรณ ที่ประดิษฐานเพื่อให้คนมาบูชาขอพร

จุดสุดท้ายที่ห้ามพลาด คือ มณฑปหลวงปู่เทียน ปูบผธัมโม หรือพระครูบวรธรรมกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ซึ่งท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพรักศรัทธาจากคนทั่วไป เพราะเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัด มีเมตตา ในปีพ.ศ.2448 ซึ่งนับเป็นพรรษาที่ 9 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์รูปที่ 3 และได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2509 สิริอายุ 90 ปี 70 พรรษา ที่มณฑปมีรูปจำลองของท่านให้กราบไหว้สักการะขอพร โดยมากจะมาขอพรเรื่องค้าขาย หรือการงาน

ที่อยู่        หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/jmY3dhpqT4S4H3hN7

วัดเปรมประชา

ประวัติความเป็นมาของวัดเปรมประชาไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ในตำบลแห่งนี้ได้ความว่า เดิมทีวัดเปรมประชานั้นตั้งอยู่บริเวณตำบลสวนพริกไทย สี่แยกประตูระบายน้ำ ทางเข้าคลองบางหลวงเฒ่า ใกล้กับทางรถไฟในปัจจุบัน โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งธุดงค์มาปักกลดในบริเวณนั้น ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยปลูกที่อยู่อาศัย และถวายอาหารบิณฑบาตเป็นประจำ และพากันเรียกพระภิกษุรูปนี้ว่า “หลวงตาวัดป่าปรือ” ซึ่งต่อมาหลวงตาก็ได้ออกธุดงค์ต่อไปโดยไม่มีใครทราบ

ต่อมา ท่านขุนวิจิตรเลขการ น.ท.พระสิทธิเดช สมุทรขันธ์ ร.น.พร้อม และภรรยา คือ คุณง่วนไล้ มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้ปรึกษากับพระครูวิริยกิจการี อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่บนเนื้อที่ 25 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน และการสร้างวัดขึ้นมาใหม่นี้ ทำให้ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า “วัดใหม่” จนติดปาก แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดเปรมประชา” เนื่องจากอยู่ติดกับคลองเปรมประชา โดยเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และจากข้อมูลที่เป็นทางการของกรมการศาสนาระบุว่า ก่อสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2460 ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2461 และผูกพัทธสีมาเมื่อปีพ.ศ. 2462

โบราณสถานที่สำคัญคือ พระอุโบสถที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ. 2460 และมีปูชนียวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถ และรูปหล่อหลวงพ่อใหญ่มงคลศรีวิชัย ภายในวัดยังมีอาคาร 5 ชั้น ขนาดใหญ่ คือ อาคารสุวรรณเจดีย์พุทธมหาวิหาร ที่ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ พระพุทธเกศทองทันใจ พระบูรพาจารย์หุ่นขี้ผึ้ง โดยที่ชั้น 3 นั้น เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่เริ่มทำการสอนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520

ที่อยู่        73 หมู่ที่ 2 ตำบล บางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี ปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/76SAa8ByMraZvdoS9

วัดสายไหม

วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่สร้างด้วยจิตศรัทธาของหม่อมราชวงศ์หญิงน้อย และหม่อมหลวงนุ่น ที่มอบที่ดินจำนวน 7 ไร่ 35 ตารางวาให้แก่วัดเมื่อปีพ.ศ. 2441 ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2498 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2498 มีการเปิดสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2482

ภายในวัดมีอุโบสถที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2508 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง 3 ศอก และรูปหล่อพระอธิการญัติ อุตตโม อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก  ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2514 ทางวัดได้ทำการซื้อที่ดินเพื่อขยายขอบเขตออกไปอีก 7 ไร่ 12 ตารางวา

นอกจากนี้ ที่วัดแห่งนี้ยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนที่ศรัทธาได้เข้ามาสักการะอีกด้วย

ที่อยู่        37 หมู่ที่ 3 ถนนลำลูกกา ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130

https://goo.gl/maps/M4u8UyKv5S2wXX5o7

วัดโพสพผลเจริญ

วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436  โดยมีนายขุน ตำบลฉุน และครอบครัว เป็นผู้ถวายที่ดินในการสร้างวัด ซึ่งในสมัยก่อนมีชื่อเดิมว่า “วัดลาดกระแซง” และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไพสพผลเจริญ” จนสุดท้าย จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพสพผลเจริญ” ดังที่ใช้ในปัจจุบัน โดยวัดแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2517

ภายในบริเวณวัด มีอุโบสถที่ขึ้นชื่อเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศรีทศพล องค์พระประธาน และตู้พระไตรปิฎก วัดแห่งนี้ ยังเป็นวัดที่มีศาลาการเปรียญใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย

หากมีโอกาสได้แวะมา อย่าลืมมาลองให้อาหารน้องเต่าอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามีเต่านับพันตัวอาศัยอยู่ในอุทยานเต่าของทางวัด ทำให้ที่นี่เป็นวัดที่ครอบครัว พ่อ แม่ ลูกชอบมาทำบุญร่วมกัน เพราะได้ทั้งทำบุญ ทำทาน และยังได้รับความเพลิดเพลินกลับไปด้วย

ที่อยู่        ซ.ลำลูกกา 14 ถ.ลำลูกกา ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130

https://goo.gl/maps/H9ksyM5HFyFDNK4d7

วัดลาดสนุ่น

วัดราษฎร์เก่าแก่ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2440 หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านทรงมีพระราชดำริ ปรับปรุงที่ดินรังสิตให้เป็นประโยชน์ ด้านการเกษตร โดยการขุดคลองส่งน้ำ และทรงโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ควบคุมดำเนินการ เมื่อการขุดคลองมาถึงคลองซอย 1 หมู่บ้านลาดสนุ่น ก็ได้พบพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อพระภิกษุโทน อาศัยอยู่ในโรงนาเล็กๆ ที่ปากบึงลาดสนุ่น เกิดศรัทธา จึงคิดสร้างวัดบนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่มิได้ทำรังวัด ต่อมาในปีพ.ศ. 2464 พระอธิการหมง เจริญมาก เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้ทำเรื่องขอเนื้อที่จากพระคลังมหาสมบัติ และได้รับอนุญาตให้เป็นที่วัด โดยทางวัดได้เปิดโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2506 ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2511

ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระประธานในอุโบสถแบบสุโขทัย  และพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์  อยู่ที่ศาลาการเปรียญ  วิหารและหอสวดมนต์  ปัจจุบันมีพระสิวลี ปางลังกาวงศ์ และพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่หน้าวิหารวัดด้วย

ที่อยู่        25 บ้านสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130

https://goo.gl/maps/hoKroygAHpCXAg9F9

สามารถสแกน QR Code ทำบุญกับวัดต่างๆ ในเมืองปทุมได้ง่ายๆ เพียงทำตามขั้นตอนเหล่านี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรงแล้ว

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

และหากอยากทำบุญสุขใจกับวัดอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปเลือกวัดที่ต้องการจะทำบุญเพิ่มเติม ได้ที่ >> https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation.html