น้องมีบุญชวน ตามรอยบุญ สายภาคกลาง

เช้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ต้นข้าวในนาตั้งท้อง นาข้าวที่เคยเขียวขจีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง รวงข้าวพลิ้วไหวโอนเอนตามสายลมที่เรียกว่า “ลมข้าวเบา” ลมเย็นสบายที่พัดจากภาคเหนือลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และเป็นช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลออกพรรษา น้องมีบุญจึงอยากชวนเพื่อนๆ ไปทำบุญรับวันออกพรรษาวัดในภาคกลางกันค่ะ

central-region-temple-01

วัดตะโก

วัดตะโก

วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2345 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2541  โดยวัดแห่งนี้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา มีผู้คนมากมายหลั่งไหลมาสักการะโลงแก้วที่บรรจุสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อรวย เกจิอาจารย์ชื่อดัง โดยตั้งอยู่ชั้นล่างของพระมหาธาตุเจดีย์มงคลสิทธาจารย์ที่ออกแบบโดย คุณวนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, คุณตะวัน วีระกุล, คุณบัญชา ชุ่มเกสร และคุณองอาจ หุดากร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ส่วนบนชั้น 2 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย

ที่อยู่        31 หมู่ที่ 2 ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13140

https://goo.gl/maps/Dpvd1jMzLVicfDtH9

วัดนิเวศธรรมประวัติ

พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย หลายท่านคงคุ้นตากับภาพวัดที่นั่งกระเช้าข้ามไปพบกับพระอุโบสถเก่าแก่หน้าตาไม่เหมือนวัดอื่นใด เพราะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิก ซึ่งเหมือนกับโบสถ์ของศาสนาคริสต์ โดยที่นี่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2421 เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศล ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน

ภายในพระอุโบสถแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานที่ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ที่ผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยม และแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน บริเวณฐานชุกชีมีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนแบบโบสถ์ ส่วนฝาผนังที่ด้านหน้าของพระประธานเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีแบบยุโรปเช่นกัน

บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ เช่น หอพระคันธารราษฎร์ ภายในประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ ปางขอฝน, หอพระพุทธศิลา ภายในประดิษฐานพระพุทธศิลา ปางนาคปรก สมัยลพบุรี, พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปทรงม้า, สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์ สวนหินสำหรับประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 และราชสกุลดิศกุล และต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้หน้าพระอุโบสถ

ที่อยู่        ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13160

https://goo.gl/maps/h3Pp2J4Xx8YVxoxk9

วัดมเหยงคณ์

วัดมเหยงคณ์ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2484 มีอีกชื่อเรียกหนึ่ง คือ วัดมหิยงคณ์ ที่หมายถึงภูเขา และคำว่า “มเหยงคณ์” ยังมาจากชื่อของ “มหิยังคณ์เจดีย์” พระธาตุที่มีความสำคัญของศรีลังกา

วัดแห่งนี้สร้างด้วยจิตศรัทธาของพระนางกัลยาณี พระมเหสีของเจ้าสามพระยา หรือพระสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงสร้างวัดกุฎีดาว ก่อนจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาราว 40 ปี แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า ปีศักราชที่ 800 มะเมียศก หรือ ปีพ.ศ.1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ วัดก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตลอดหลายร้อยปี แต่ก็กลายเป็นวัดร้างในกาลต่อมา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ และจวบจนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 ได้ถูกทำลาย และทิ้งร้างอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปีพ.ศ.2527 พระภาวนาเขมคุณ หรือหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นที่วัดมเหยงคณ์ ใช้อบรมวิปัสสนาให้กับบุคคลทั่วไป

พระอุโบสถที่จัดเป็นโบราณสถานนั้น เป็นรูปแบบลังกาเหนือเหมือนเจดีย์ช้างล้อมที่สุโขทัย ตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น กว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร มีประตูเข้าด้านตะวันออก 3 ช่อง ด้านตะวันตก 2 ช่อง มีเจดีย์ฐานช้างล้อมอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันตก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อหินทรายศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระประธาน

ที่อยู่        ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

https://goo.gl/maps/CcYjA64tJ4m5KjiAA

วัดสะแก

วัดเก่าแก่ที่เดิมตั้งอยู่ที่วัดคลังทอง หรือวัดโกโรโกโส สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยกรมการศาสนาได้ระบุว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2325 และมีการย้ายข้ามฝั่งจากวัดคลังทองมาฝั่งตำบลธนู ซึ่งเป็นพื้นที่วัดเนินสูง เนื่องจากในช่วงหน้าน้ำ วัดคลังทองจะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ภายในบริเวณวัดมีพื้นที่ 13 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่น ต้นตะเคียน ต้นมะขวิด ต้นจัน ด้านหลังศาลาใหญ่มีสระน้ำที่รายล้อมไปด้วยต้นสะแก ต้นงิ้ว ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ต้นแสมสาร สันนิษฐานว่าสระน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นจากการขุดดินมาถมเพื่อสร้างอุโบสถ ต่อมาเรือหลวงจบกระบวนยุทธได้มาทำการขุดลอกคลอง ทางวัดจึงได้ถมดินกลบสระน้ำจนเต็มและนำต้นไม้ออก

ต่อมาในปีพ.ศ.2522 หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ได้มอบหมายให้ผู้ใหญ่เชิด หัสถีรักษ์ ทำการซื้อที่ดินของนางมา ตรีวิทย์ และนายสังเวียน พงษ์ดนตรีเพิ่มอีก 2 ไร่ และถมที่ดินด้านทิศตะวันออกของวัดซึ่งไม่ได้ใช้การใดๆ อีกประมาณ 1 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่วัด

สำหรับสถานที่สำคัญของวัด ได้แก่ อุโบสถกว้าง 15 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารพิชัยปูนปั้นลงรักปิดทอง ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน, วิหารพระศรีอริยเมตไตรย ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยทรงเครื่องประดับด้วยพลอยลงรักปิดทอง สร้างเมื่อ พ.ศ.2540 วิหารหลวงปู่ดู่ สร้างราว พ.ศ.2539 เพื่อแสดงอัฐบริขารหลวงปู่ดู่ และกุฏิ

ที่อยู่        ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

https://goo.gl/maps/YuRGweSc7yt5Zfhx7

วัดพระบาทน้ำพุ

วัดแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่เป็นที่พักพิง เป็นที่พักฟื้นให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยท่านเจ้าอาวาส พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการมีสองส่วน ส่วนแรกคือรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเอดส์จากทั่วประเทศ ส่วนที่สองคือ การรับอุปการะดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบโรคเอดส์จากพ่อแม่ ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ในการดูแลของวัดประมาณ 2,000 คน ทางวัดมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 4 ล้านบาท เป็นค่ายา ค่าอาหาร ค่าบริหารจัดการต่างๆ รวมไปถึงค่าเผาศพ ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเดือนละ 100,000 บาท และเงินสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา และยาบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

สำหรับสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดได้แก่ รอยพระพุทธบาทที่อยู่ภายในมณฑป ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาคารสำนักงานของมูลนิธิธรรมรักษ์ อุโบสถที่มีพระประธาน กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร พร้อมด้วยพระอัครสาวก ภายในถ้ำบนเขาในบริเวณวัดประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยา และพระโพธิสัตว์ 9 องค์ ส่วนบนยอดเขานั้น ประดิษฐานหลวงพ่อขาว ที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2523 โดยพระอุทัย อโนโม

ที่อยู่        ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

https://goo.gl/maps/YuRGweSc7yt5Zfhx7

วัดบางพระ

วัดปากคลองบางพระ คือ ชื่อเดิมของวัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือราวปี พ.ศ.2220 แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เมื่อกรมศิลปากรได้พิจารณาจากดินเผาของพระอุโบสถ พบว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง และพระปฏิมากรหินทรายแดง ซึ่งเป็นพระประธานนั้น สร้างอยู่ในสมัยอโยธยาสุพรรณภูมิ (อู่ทอง)

ในบริเวณวัดมีพระอุโบสถหลังเดิม กว้าง 4 วา ยาว 8 วา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมากรหินทรายแดง ปางมารวิชัยที่ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อสิทธิมงคล ที่ด้านหน้าของพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 26 นิ้ว ที่ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวพระพุทธศาสนา เป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับอดีตขององค์พระพุทธเจ้า เคยได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยการเขียนทับ และแก้ไขบางส่วน พื้นหลังใช้สีอ่อน และดอกไม้ร่วงเป็นคติของอยุธยา ภาพจิตรกรรมนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ภาพมารผจญ เป็นภาพที่พระพุทธเจ้าทรงจีวรแดง ประทับบนดอกบัวแก้ว และมีแม่ธรณีบีบมวยผมนับเป็นศิลปะแบบเก่า เป็นภาพในช่วงอยุธยาตอนกลาง มีการใช้สีเพียง 4 สี คือ ขาว ดำ แดง และเขียวใบแค

ต่อมาในปี พ.ศ.2470 มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ในละแวกคุ้งน้ำนครชัยศรี เป็นช่วงรุ่งเรืองของวัด และได้รับการดูแลพัฒนาสืบต่อเรื่อยมา

ยุครุ่งเรืองของวัด คือยุคของเจ้าอธิการหิ่มอินทโชโต ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ ยุคนี้มีการสร้างพระพุทธบาทจำลอง และได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในละแวกคุ้งน้ำนครชัยศรี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2470 และเมื่อหลวง หลวงพ่อเปิ่น เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ โดยได้บูรณะอุโบสถหลังใหม่ทำเป็นคอนกรีต ทั้งยังก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย ต่อมา หลวงพ่อสำอาง ปภสฺโร ทำนุบำรุงพัฒนาวัดเรื่อยมา วัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระบรมสารีริกธาตุ(จากประเทศศรีลังกา) รอยพระพุทธบาทจำลอง หลวงพ่อโต(พระประธานในอุโบสถหลังใหม่) รูปหล่อสิทธิมงคล(พระประธานในอุโบสถหลังเก่า) รูปหล่อเหมือนหลวงปู่หิ่ม หลวงปู่ทองอยู่ หลวงปู่เปลี่ยน สังขารพระอุดมประชานาถ(หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) นอกจากนี้วัดยังมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์

ที่อยู่        1 หมู่ที่ 3 ทางหลวงชนบท นฐ.4014 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

https://goo.gl/maps/13NsS4qCi52HN1CZA

วัดพะเนียงแตก

เดิมมีชื่อว่าวัดปทุมคงคา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2334 สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่หลวงพ่อทาตั้ง เนื่องจากหลวงพ่อทาเป็นผู้สร้างพระอุโบสถหลังเก่า ส่วนชื่อ “พะเนียงแตก” นั้น มาจากหลวงพ่อทาชอบเล่นพลุไฟพะเนียง วันหนึ่งในเทศกาลประจำปี ท่านเอามือไปปิดปากพลุไม่ให้หลุดออกมาจากทางปาก ทำให้พลุนั้นระเบิดออกทางด้านข้าง แต่ท่านก็ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ โดยสาเหตุที่ท่านทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้เหล่านักเลงเกรงขาม เพื่อจะได้อบรมให้เป็นคนดี ซึ่งผลก็เป็นเช่นที่ท่านคิดไว้ เทศกาลประจำปีของวัดในปีต่อๆ มาจึงไม่ต้องพึ่งพาตำรวจอีกเลย เพราะไม่มีนักเลงมาหาเรื่อง หรือก่อเหตุอาละวาดใดๆ อีก ชาวบ้านจึงพากันเรียกท่านว่า “หลวงพ่อพะเนียงแตก” และเรียกชื่อวัดว่า “วัดพะเนียงแตก”

ที่อยู่       94 หมู่ 4 ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

https://goo.gl/maps/oDRr72Ht8YmdJgHb8

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุพรรณบุรี อายุ 1,200 ปี ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ช่วงหลังปี พ.ศ.1724 จึงนับว่าเป็นวัดที่สร้างมาอย่างยาวนาน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ โดยที่นี่เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ประทับนั่งห้อยพระบาท สูงถึง 23.46 เมตร สร้างด้วยศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ ภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน 36 องค์

นอกจากนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน โดยในตอนหนึ่งมีการกล่าวไว้ว่า เมื่อพลายแก้วยังเป็นเด็กได้มาอาศัยบวชเณรที่วัดแห่งนี้ รอบวิหารจึงมีภาพเขียนเรื่องราวขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย รวมไปถึงอนุสาวรีย์นางพิมพิลาไลย ขุนช้าง และเรือนขุนช้างซึ่งเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่ แต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนให้ได้ชมกัน


ที่ตั้ง      ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

https://goo.gl/maps/mxGJgtjNFvVTrnev8

วัดไผ่โรงวัว

วัดนี้มีอีกชื่อหนึ่ง คือ วัดโพธาราม เป็นวัดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยพื้นที่เดิมของวัดแห่งนี้เป็นป่าไผ่ที่ชาวบ้านมักนำวัวมาผูกไว้ระหว่างทำนา จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดไผ่โรงวัว นั่นเอง โดยในปี พ.ศ.2469 ได้เริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมาชาวบ้านไปนิมนต์หลวงพ่อขอม จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ใน อ.เมือง มาเป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นวัดมีชื่อเป็นทางการว่า วัดโพธาราม แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกว่า วัดไผ่โรงวัว จนในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2533 จึงทำการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดไผ่โรงวัว

ในช่วงปี พ.ศ.2502 หลวงพ่อขอมได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” พระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512 ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ได้เริ่มดำเนินการสร้าง "พระกกุสันโธ"  พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย สูง 28 วา 2 ศอก หน้าตักกว้าง 20 วา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณนั้นจะสามารถมองเห็นได้แต่ไกล

ภายในบริเวณวัด เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปต่างๆ รูปหล่อพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์ พระวิหารร้อยยอด สังเวชนียสถาน 4 ตำบลจำลอง เมืองสวรรค์เมืองนรกจำลอง ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

ที่อยู่        ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

https://goo.gl/maps/KLcH728M4nuodHqZ6

น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถาน สร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation.html

ทำบุญสุขใจ ผ่าน SCB EASY App โดยตรง เลือกวัดที่ต้องการทำบุญ ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/easy-donation.html