รู้อย่างนี้...เปลี่ยนแอร์นานแล้ว

อากาศร้อนอย่างเมืองไทย เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มักจะมีติดที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือคอนโด ที่ชาวบ้านอย่างพวกเรา ขาดกันไม่ได้เลย ก็คือ เครื่องปรับอากาศ หรือที่เรียกติดปากกันว่า “แอร์” นั่นเอง ซึ่งจากบทความ 10 อันดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า “จอมกินไฟ” ของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุไว้ว่า เครื่องปรับอากาศ อยู่ในอันดับ 5 และ 6 (ชนิด Fixed Speed และชนิด Inverter ตามลำดับ) ซึ่งกินพลังงานไฟฟ้าได้สูงถึง 3,300 วัตต์เลยทีเดียว ยิ่งกินพลังงานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเมื่อใช้งานมากขึ้นตามไปด้วย

           

   สำหรับใครที่มีความจำเป็นต้องเปิดแอร์ไว้แทบจะทั้งวัน โดยเฉพาะแอร์เครื่องเก่าที่ใช้มานานหลายปี สภาพภายนอกอาจจะยังดูไม่แย่ ลมเย็นยังมีให้คลายร้อนได้ แต่หากลองสังเกตบิลค่าไฟแต่ละเดือนแล้วเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ใช้แอร์รุ่นใหม่ๆ ดู อาจจะเห็นได้ชัดว่ามันสูงขนาดไหน แม้ว่าเราจะเลือกใช้แอร์ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แต่เมื่อมันผ่านการใช้งานอย่างหนักมานาน ฉลากเบอร์ 5 ในยุคนั้น เมื่อนำมาเทียบกับฉลากในยุคปัจจุบัน เพื่อดูค่าไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี (มีระบุในฉลาก) มันอาจจะทำให้เราตกใจ เพราะแอร์ตัวเก่งกลายเป็นแอร์ที่ไม่ประหยัดไฟอีกต่อไปแล้วก็ได้ แถมบางทียังต้องเจอกับค่าซ่อมบำรุงแพงๆ แถมมาด้วย

             

change-air-conditoner-04

 เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ก็ไปเลือกแอร์รุ่นที่ถูกใจ ที่จะช่วยทำให้พวกเราสบายกระเป๋าสตางค์ในระยะยาวกันดีกว่า 

1. เลือกแอร์ที่มีขนาด BTU เหมาะสมกับขนาดห้อง จะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานได้มากที่สุด เพราะ BTU สูงๆ ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ถ้าห้องเล็ก ใช้ BTU มาก ก็จะเปลืองไฟ แต่ถ้าห้องใหญ่แต่ใช้ BTU น้อย ห้องก็จะไม่เย็น หรือเย็นช้า แอร์ต้องทำงานหนักเกินจำเป็น ดังนั้นต้องเลือกให้เหมาะสม สำหรับห้องที่โดนแดดเต็มๆ ก็ต้องทำใจ กับขนาด BTU ที่สูงกว่าห้องปกติที่ไม่ค่อยโดนแดด เนื่องจากแอร์จะต้องทำงานหนักกว่าในการลดอุณหภูมิภายในห้อง

 

ขนาด BTU

ขนาดของห้องปกติ

ขนาดของห้องที่โดนแดด

9,000

12-15 ตร.ม.

11-14 ตร.ม.

12,000

16-20 ตร.ม.

14-18 ตร.ม.

18,000

24-30 ตร.ม.

21-27 ตร.ม.

21,000

28-35 ตร.ม.

25-32 ตร.ม.

25,000

35-44 ตร.ม.

30-39 ตร.ม.

30,000

40-50 ตร.ม.

35-45 ตร.ม.

2. เลือกเทคโนโลยี Inverter (แอร์รุ่นใหม่ๆ จะใช้เทคโนโลยีนี้) เพราะจะช่วยทำให้ห้องเย็นเร็ว และยังช่วยรักษารอบของคอมเพรสเซอร์ให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่ตั้งไว้ ดังนั้นการควบคุมอุณหภูมิในห้องจะค่อนข้างแม่นยำ และที่สำคัญประหยัดพลังงานกว่าชนิด Fixed Speed

ขอบคุณภาพฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

3. เลือกฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ต้องเป็น เบอร์ 5 แบบ 3 ดาว (ฉลากแบบใหม่แบ่งระดับความประหยัดไฟของเบอร์ 5 ไว้ถึง 3 ระดับ) เวลาที่ซื้อแอร์ ลองเปรียบเทียบฉลากประหยัดไฟดู สังเกตง่ายๆ สำหรับแอร์ที่ BTU เท่ากัน ค่าไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี อันไหนถูกกว่า แสดงว่าช่วยประหยัดพลังงาน และประหยัดเงินได้มากกว่านั่นเอง

4. เลือกร้านที่มีการรับประกันทั้งตัวเครื่อง อะไหล่ และการติดตั้ง รวมถึงมีบริการหลังการขายที่ดี เพราะแอร์เครื่องหนึ่งนั้นราคาค่อนข้างสูง หากเกิดอะไรผิดปกติขึ้นมา จะได้มีช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนักหากยังอยู่ในระยะเวลารับประกัน ศูนย์บริการบางแห่ง ให้บริการติดตั้งฟรี แถมยังรับซื้อแอร์เครื่องเก่ากลับไป โดยให้เป็นส่วนลดเพิ่มเติม ทำให้เราไม่ต้องจ่ายค่าแอร์เต็มราคาด้วย

             การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำๆ นั้นไม่ได้ช่วยทำให้ห้องเย็นเร็วขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นและสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นแทน เพราะแอร์ยังต้องใช้เวลาในการทำความเย็นอยู่ดี ดังนั้นการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิพอเหมาะ แล้วเร่งความเร็วพัดลมแอร์ให้แรงขึ้น จะช่วยให้ห้องเย็นเร็ว แถมเจ้าของห้องก็ยังประหยัดค่าไฟได้ดีกว่าการลดอุณหภูมิด้วย นอกจากนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำ ก็คือ การล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะแผ่นกรองอากาศ และแผงระบายความร้อน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยยืดอายุการใช้งานของแอร์ตัวเก่งได้อีกด้วย เพราะฝุ่นละอองที่สะสมอยู่นั้น จะทำให้แอร์ต้องทำงานหนัก และกินไฟมากขึ้น

              ในช่วงนี้หลายคนอาจจะตกใจกับค่าไฟที่ส่งมาเรียกเก็บ จากการปรับค่า Ft เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแอร์แล้ว ก็รอดูค่าไฟฟ้าเดือนถัดไป ว่ามันจะลดลงได้แค่ไหน ใช้ไฟฟ้าเหมือนเดิม แต่จ่ายเงินลดลงได้ เพราะจำนวนวัตต์ที่ใช้ลดลง จะว่าไปก็เหมือนเป็นการลงทุนกับบ้านของตัวเอง แอร์รุ่นใหม่กินไฟน้อยลง การซื้อแอร์ใหม่จึงสามารถช่วยลดค่าไฟในระยะยาวได้นั่นเอง เห็นว่าคุ้มมาก ก็เลยอยากเอาประสบการณ์มาแบ่งปัน แล้วทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้อย่างนี้...เปลี่ยนแอร์นานแล้ว”

              สำหรับใครที่สนใจจะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ แล้วไม่อยากจ่ายเงินก้อนลองดูโปรโมชั่นของบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด ก็น่าจะเป็นทางออกที่ช่วยแบ่งเบาภาระได้ดีทีเดียว ถ้าสนใจสมัครบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด สามารถสมัครได้ง่ายๆ ผ่านทาง SCB EASY App หรือที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขา แล้วหน้าร้อนนี้ เราจะได้มีแอร์เย็นๆ ใช้ แบบไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพงๆ ด้วยกัน

              นอกจากนี้วิธีที่จะช่วยเรื่องค่าไฟฟ้าอีกทาง คือ การใช้พลังงานทางเลือก อย่างการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งถ้าสนใจจะติดตั้ง ก็ขอแนะนำให้หาข้อมูลมาศึกษาเพิ่มเติมก่อน และเมื่อตัดสินใจแน่นอนแล้วก็สามารถขอสินเชื่อเพื่อต่อเติมบ้านเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เช่นกัน