แนะแนวก่อการดี 7 วิถีการเก็บเงินสไตล์ขี้เกียจ

การเก็บเงินที่ว่ายากแล้ว แต่จะทำให้เงินงอกเงยอย่างไรนี่สิ เป็นเรื่องยากกว่า แถมคนที่ไม่กล้าเสี่ยงอาจรู้สึกเกร็งๆ เมื่อได้รับการเตือนเสมอว่าก่อนลงทุนต้องศึกษาให้ดี ในความเป็นจริงใครๆ ก็อยากลงทุนเพื่อผลตอบแทน แต่ไม่อยากหัวหมุนติดตามข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงชนิดรายวินาที หากคุณเข้าข่ายนักออมผู้ไม่อยากยุ่งยาก ลองมาดูวิธีดูแลเงินแบบคนขี้เกียจแบบนี้กัน


1.ดักเงินออมทุกช่องทาง


วิธีขั้นพื้นฐานแบบ back to basic ที่เห็นผลกันมาแล้ว กับการแอบหยอดธนบัตรหรือเศษเหรียญตามจุดต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บนรถ โต๊ะทำงาน รวมถึงกลับมาบ้านให้เลือกหยิบธนบัตรสีต่างๆ ออกมาใส่ในกระปุกที่แยกสีไว้ โดยให้ใส่ทุกวัน แต่จะเป็นสีไหนก็ได้ ผ่านไป 1 ปีก็ค่อยนำกับดักเก็บเงินมานับรวมกัน อย่างน้อยอาจเห็นตัวเลขหลักหมื่นโผล่มาให้ชื่นใจ


2. Mobile Banking ช่วยได้


ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ให้รีบโอนเงินผ่าน Moblie Banking ไปนอนซุกในบัญชีเงินออมหรือเงินเก็บทันที โดยเฉพาะวันที่มีรายรับประจำหรือค่าจ้างเข้ามา ก่อนจะพลั้งมือไปใช้จ่ายอย่างอื่น พยายามแบ่งสัดส่วนให้แน่ชัดโอนเข้าเป็นเงินเก็บทันที ก็จะช่วยให้มีเงินออมมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ


3. ให้ธนาคารช่วยตัดบัญชีฝากประจำทุกเดือน


หรือถ้ากลัวใจตัวเองไม่นิ่งพอ ให้ติดต่อธนาคารช่วยตัดเงินเข้าบัญชีฝากประจำทุกเดือน แม้ดอกเบี้ยจะสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ไม่มาก แต่ถือเป็นการฝึกวินัยการเก็บเงินได้ไม่น้อย เพราะไม่ต้องมากังวลว่าจะลืมโอนเงินเขาบัญชีเมื่อถึงกำหนดฝากทุกครั้ง ส่วนใหญ่มีข้อกำหนดต้องฝากเงินในบัญชีไว้ประมาณ  24-36 เดือน ในระยะยาวจะทำให้คุณมีเงินเก็บที่อุ่นใจได้ก้อนหนึ่ง


4. ใช้ตัวช่วยหาข้อมูลเลือกการลงทุน


เมื่อตลาดทุนไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเหมือนสมัยก่อน แต่ไม่รู้จะเลือกหุ้นหรือกองทุนอะไร ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของหน่วยงานกลางอย่าง เช่น  www.morningstarthailand.com ที่จัดประเภทกองทุนดีเด่นน่าลงทุนตามระดับดาว ถือว่าพอได้ช่วยสแกนหากองทุนที่มีมากกว่า 1,000 กองได้ดี หรือเลือกหุ้นตามลิสต์ดัชนีที่ตลาดหลักทรัพย์จัดหมวดหมู่ไว้ เช่น ดัชนีรวมหุ้นที่จ่ายปันผลต่อเนื่อง ดัชนีรวมหุ้นความยั่งยืนที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี หรือใครที่ใช้แอป SCB EASY ก็ยิ่งง่าย เพราะจะมีผู้เชี่ยวชาญและ AI แนะนำกองทุนที่คัดสรรมาแล้วว่าน่าสนใจและเหมาะกับแต่ละคนไว้ให้เลือกลงทุนแบบเนื้อๆ เน้นๆ ด้วย ฟีเจอร์ WEALTH4U

lazy-style-investment-01

5. เลือกออมหุ้นและกองทุนแบบ DCA


การลงทุนแบบถั่วเฉลี่ย (DCA) ที่ใช้ได้ทั้งกับการออมหุ้นและกองทุนรวมเป็นประจำทุกเดือน โดยให้โบรกเกอร์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ตัดบัญชีทุกเดือนเพื่อโอนเข้าไปสะสมหุ้นหรือกองทุนที่เลือกไว้ แต่ละโบรกเกอร์และ บลจ.มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ส่วนการเลือกหุ้น จำนวนเงิน และรอบการตัดผู้ลงทุนก็สามารถเป็นผู้เลือกให้สอดคล้องกับสภาพคล่องได้ หรือจะตั้งระบบการหัก DCA โดยอัตโนมัติจากโปรแกรมการซื้อหุ้นเองได้เลย ทำได้ทางแอป SCB EASY ดูขั้นตอนการทำรายการที่นี่


6. ใช้ AI ขจัดความกล้าๆ กลัวๆ ของตัวเอง


โลกการลงทุนในปัจจุบัน มีหุนยนต์หรือ AI โบรกเกอร์ ที่ บลจ.หลายแห่งนำมาใช้มากขึ้น เพื่อช่วยให้นักลงทุนตัดอารมณ์ความต้องการหรือความกลัวที่เกิดจากการลงทุนไปให้หมด เพราะ AI นั้นไม่มีความลังเลเพราะความโลภ แต่จะทำตามโจทย์หรือเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้เป๊ะ เช่น ถ้าได้กำไรกี่เปอร์เซนต์ตามที่ตั้งไว้ก็จะขายออกทันที หรือจะขายทิ้งทันทีเมื่อถึงระดับขาดทุนตามที่ตั้งโจทย์ไว้เพื่อยั้งการขาดทุนถลำลึกไปอีก


7. เจ้าหน้าที่ประจำสาขาคือคำตอบ


ถ้าไม่อยากอ่านหรือศึกษาข้อมูลมากเพียงไปธนาคารหรือสาขาของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ให้รายละเอียดที่อยากออมหรือลงทุนว่า มีความชอบในด้านไหน ซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อหุ้นกู้ ฯลฯ ต้องทำอย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้แต่ละธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนคอยให้บริการอยู่เสมอ


ไหนๆ จะขี้เกียจลงทุนแล้ว แต่อยู่เฉยๆ ก็อาจจะพลาดโอกาสงามที่ทำให้เงินของเรางอกเงย หากรู้จักก่อการดีด้วยการออมหรือลงทุนแบบสไตล์ขี้เกียจเหล่านี้ นอกจากไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ยังจะไม่ทำให้เราตกขบวนการลงทุนอีกต่อไป


ที่มา
https://www.finspace.co/5-step-to-easy-saving-money/
https://wealthmeup.com/investforlazypeople/