ทำไมมนุษย์ถึงต้องนำ AI มาช่วยในการลงทุน

Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ คือ โปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มากไปกว่านั้นยังสามารถดัดแปลงการประมวลผล ประยุกต์ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น Chatbot ต่างๆ ที่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้


AI อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากงานประเภทใดก็ตามที่มีการทำงานเป็นรูปแบบ ก็สามารถถูกปัญญาประดิษฐ์แทนที่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ งานบัญชี การเงิน การลงทุน และสินเชื่อ แม้แต่งานที่ซับซ้อน ต้องใช้การคิด วิเคราะห์ ก็สามารถถูกแทนที่ได้เช่นกัน สำหรับวงการเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ก็มีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการกู้ยืมเงิน ธุรกิจประกัน การเรียกเก็บหนี้ และการลงทุน ดังนั้นหากเรารู้จักนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และมีการปรับตัว พัฒนาความรู้และทักษะของตนเองอยู่เสมอ ก็จะได้รับประโยชน์และสร้างรายได้จาก AI ได้อย่างมากมาย

ai2

AI กับการลงทุน

เราอาจจะรู้สึกคุ้นชินกับการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ แล้ว โดยเฉพาะในธุรกิจการให้บริการคำแนะนำการลงทุน เช่น Robo Advisor ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ที่ให้บริการแนะนำการลงทุนแบบออนไลน์แก่นักลงทุนทั่วไป การแนะนำการลงทุนเป็นบริการในหมวดบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งรวมการจัดการการลงทุน (Investment Management) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) และการวางแผนทางการเงิน (Financial Planning) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ง่ายขึ้น และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ด้วย


แนวคิดในการนำ AI มาใช้ในการลงทุน เกิดจากจุดอ่อนที่ว่า “มนุษย์มีจิตใจ” ส่งผลให้การวิเคราะห์และตัดสินใจนั้นมีอคติ อ่อนไหวง่าย ทำให้มีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล นอกจากนี้มนุษย์โดยมากไม่ชอบทำงานที่ต้องใช้เวลา และทำแบบเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ที่สำคัญมนุษย์ไม่ได้มีหน้าที่ลงทุนเพียงอย่างเดียว ยังมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างอื่นอีกมากมาย ทำให้ถูกดึงสมาธิหรือโฟกัสออกไปได้ง่าย ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการลงทุนได้เสมอ (การไม่ตัดสินใจลงมือทำก็นับว่าเป็นข้อผิดพลาดเช่นกัน)


ในปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งได้นำเอาเทคโนโลยี AI มาพัฒนาเป็นระบบการลงทุนอัตโนมัติ (Algorithmic Trading) และนำเสนอเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งการพัฒนา AI ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ มุ่งเป้าการพัฒนาไปเพื่อให้ AI สามารถลงทุนแทนมนุษย์และครอบคลุมในหลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยที่เกิดขึ้นในตลาด การคัดเลือกสินทรัพย์ การให้น้ำหนักการลงทุน การตัดสินใจลงทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ การบริหารเงินทุนตามระดับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม อันจะทำให้การลงทุนของ AI สามารถตัดสินใจลงทุนแทนมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและปราศจากอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของ AI ในการลงทุน คือ AI ไม่สามารถให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงได้ เช่น การให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องภาษี หรือคำแนะนำในการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงิน เช่น ควรชำระหนี้หรือเก็บออมเงินก่อน  นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรคำนึงอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบ AI คือ เรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) และความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยี (Technology Risk Management) เนื่องจากเคยเกิดกรณีความปั่นป่วนต่อตลาดทุนอังกฤษที่หุ่นยนต์ได้เทขายหุ้นที่มากผิดปกติหลังเกิด Brexit (การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร) จนทำให้ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วนไปทั้งโลก โดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น เนื่องจากตลาดหุ้นในระยะสั้นมีการปรับตัวแบบไร้รูปแบบตามข้อมูลต่างๆ  ทั้งที่คาดการณ์ได้ เช่น ยอดขาย ผลกำไรสุทธิ การเติบโตของเศรษฐกิจ และคาดการณ์ไม่ได้ เช่น การเมือง การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ ด้วยปัจจัยที่ไม่เป็นแบบแผนเหล่านี้ ส่งผลให้ AI ไม่สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องครบถ้วน AI จึงอาจจะมีข้อจำกัดสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น ต่างไปจากในอุตสาหกรรมอื่น เช่น การแพทย์ การค้าปลีก หรือการขนส่งที่มีรูปแบบของการเกิดเหตุการณ์ที่มีความเป็นแบบแผนมากกว่า ทำให้ AI สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำมากกว่า


สำหรับทางเลือกการลงทุนใน AI นอกจากลงทุนผ่าน Robo Advisor หรือ Robo Trading ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ใช้ AI ในการช่วยวิเคราะห์การลงทุน โดยจะคัดเลือกหุ้นผ่านการให้คะแนนปัจจัยการลงทุนต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผลต่อราคาหุ้น เช่น การประเมินมูลค่า(Valuation) การเติบโต (Growth) การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Quality) สภาวะการลงทุน (Sentiment) และความเสี่ยงต่างๆ (Risks) เพื่อมุ่งหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดในระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในแต่ละปัจจัยเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ได้สัดส่วนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ต้องการ


แต่ไม่ว่าคุณจะลงทุนในรูปแบบไหน ก่อนการลงทุนอย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘วัตถุประสงค์ในการลงทุนของคุณคืออะไร?’ หากการลงทุนของคุณในปัจจุบันมีจุดบอดที่ควรได้รับการแก้ไข การลงทุนผ่าน AI ก็อาจเป็นตัวช่วยที่ดีของคุณได้ เช่น การมอนิเตอร์สภาพตลาด การวิเคราะห์และมองหาหุ้นที่ควรเข้าซื้อ หรือการดำเนินการส่งคำสั่งซื้อและขายแทน ทำให้ไม่ต้องตัดสินใจลงทุนด้วยอารมณ์​ และไม่ต้องคอยเฝ้าหน้าจออยู่ตลอดเวลา แต่หากปัจจุบันการลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพที่ดีอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนผ่านหุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม AI ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรศึกษาเอาไว้ เพราะในยุคที่ทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ ระบบอัตโนมัติต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่การลงทุน เราเองก็คงต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นให้มากที่สุด

 

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร