น้องมีบุญชวนทำบุญ เสริมพลังบุญ สุขใจ รับครึ่งปีหลัง

เราได้ผ่านครึ่งปีแรกของปี 2566 ไปแล้ว หลายท่านอาจจะรู้สึกมีความสุข สนุกกับสิ่งรอบกาย มีสุขภาพที่ดี แต่ก็อาจมีบางท่านที่รู้สึกเหนื่อยกับสิ่งต่างๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้รู้สึกพอใจนัก วันนี้น้องมีบุญจึงอยากชวนทำบุญ เสริมความสุขใจให้กับครึ่งปีหลัง รวมถึงเพื่อเป็นการทำบุญในวันอาสาฬหบูชา และช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ด้วยค่ะ

half-year-donation-01

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรมหาวิหาร

ถนนเฟื่องนคร ย่านบำรุงเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ.2512 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ

ความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาลแล้ว ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก

พระพุทธอังคีรส ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทรงผ้ากลีบ ศิลปะรัตนโกสินทร์ เป็นพระกะไหล่ทองคำทั้งองค์ หนักรวม 180 บาท หน้าตักกว้าง 2 ศอกคืบ (หรือ 60 นิ้ว) สร้างจำลองจากเหตุการณ์พุทธประวัติคราวเมื่อพระพุทธองค์ทรงสมาธิหลังกำจัดพญามารไปแล้ว ทรงอยู่ในอิริยาบถนี้กระทั่งตรัสรู้ พระพุทธอังคีรสจึงเป็นพระที่ให้คุณในด้านของความสงบสุข ความรุ่งเรือง และเป็นพระที่นิยมกราบไหว้ขอพรก่อนเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

ที่ตั้ง 2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

        https://goo.gl/maps/2cFAUpTNSpgDdeST8

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร คนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน และพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส ทรงโปรดให้สร้างพระวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลก่อนจะแล้วเสร็จ (จำหลัก คือ การแกะสลักภาพให้เป็นลวดลาย) จนในที่สุด วัดก็สร้างเสร็จใน ปีพ.ศ.2390 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

ที่ตั้ง 146 ถนนบำรุงเมือง แขวง วัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

        https://goo.gl/maps/Uw2QtzkPeSFaq7Js9

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

หากเอ่ยถึงวัดโพธิ์ ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี ด้วยเป็นวัดที่มีประวัติ ความเป็นมายาวนาน มีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทย เป็นวัดที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เพราะเป็นที่รวมหลักจารึกศาสตร์หลายแขนง ถึง 1,440 ชิ้นจนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกประจำปีพ.ศ.2554 จากยูเนสโกอีกด้วย

เดิมที วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น มีชื่อว่า วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปีพ.ศ.2231-2246 ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ ทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ของเดิมจนแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2344 และพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” อันหมายถึง ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีกด้วย

และพระพุทธไสยาสน์ที่วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทซ้าย และขวาซ้อนเสมอกัน พระบาทประดับมุก 108 ประการ ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง

ที่ตั้ง 2 ถนน สนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

        https://goo.gl/maps/CKV4hwkVYu2bEJgN6

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของวัดมากมาย หนึ่งในนั้นคือ วัดระฆังโฆษิตาราม เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา มาในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัดได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับรัชกาลที่ 1 และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”

นอกจากนี้ที่วัดระฆังฯ มีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามเพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก

พระประธานยิ้มรับฟ้า ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท เป็นพระประธานและปูชนียวัตถุสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก

รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปเคารพท่านที่เป็นที่แพร่หลายคือรูปหล่อที่สร้างขึ้นและประดิษฐานอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2444 มีขนาดหน้าตัก 48 เซนติเมตร ลักษณะนั่งสมาธิ ปัจจุบันมีผู้คนเคารพนับถือมากราบไหว้สักการะจำนวนมาก

ที่ตั้ง 250 ถ. อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700

        https://goo.gl/maps/urnmyjpunmzJEQ7w9

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “วัดแจ้ง” สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” นับเป็นวัดคู่บ้านเมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระราชอิสริยยศรัชกาลที่ 2 ในขณะนั้น) ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันบูรณะสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเต็มว่า “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร”

ที่ตั้ง 158 ถนน วังเดิม แขวง วัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

        https://goo.gl/maps/Lmu9ifFQGrcjzwJg9

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

วัดราษฎร์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด โดยเรียกว่า “วัดท้ายตลาด” เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ต่อจากตลาดธนบุรี โดยในสมัยธนบุรี หลังจากการสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าพระราชวังมีความคับแคบ เนื่องจากถูกขนาบด้วยวัด จึงรวมเขตพื้นที่ของวัด 2 แห่งคือ วัดท้ายตลาด และวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี ด้วยเหตุนี้ ทั้ง วัดจึงนับเป็นพระอารามในเขตพระราชวังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ วัดแห่งนี้จึงได้รับการยกขึ้นเป็นเป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้ ยังทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสีสร้างพระอุโบสถขนาดกลางทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความวิจิตรงดงาม เมื่อสร้าง และบูรณะเสนาสนะเสร็จ ทรงโปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้ง ทรงตั้งพระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเทพโมลี พร้อมคณะพระอันดับมาครองวัดท้ายตลาด เป็นปฐมเจ้าอาวาสในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระพุทธโฆษาจารย์ และทรงตั้งให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระโพธิวงศาจารย์

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "‌วัดพุทไธสวรรย์" ด้วยทรงเจริญศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เนื่องจากสมัยนั้นวัดเป็นเหมือนสถานศึกษา และทรงโปรดให้พระราชโอรสหลายพระองค์เสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จรูปนี้ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามให้ดียิ่งขึ้น และทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง" โดยเรียกสั้นๆ ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธาราม" และได้กลายเป็น “วัดโมลีโลกยาราม” ในเวลาต่อมา และสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ และมรณภาพในรัชกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ขึ้น นับได้ว่า วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง

ที่ตั้ง แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

        https://goo.gl/maps/n9WpsafM4g7xqite9

วัดยานนาวา

วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านเมืองมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า “วัดคอกควาย” ต่อมาได้รับการยกสถานะวัดเป็นพระอารามหลวง ในสมัยกรุงธนบุรี และเมื่อถึงสมัยพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระอุโบสถ พระราชทานวิสุงคามสีมา และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดยานนาวาซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ไว้ พร้อมทั้งทรงให้สร้างพระเจดีย์ มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริง ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย จนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2387 และพระราชทานนามว่า “วัดญาณนาวาราม” ซึ่งในตอนนั้น ทรงมีพระราชดำรัสว่า “คนภายหน้าอยากจะเห็นว่า เรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู” เรือสำเภานี้จึงเปรียบได้ดังอนุสรณ์สำหรับคนรุ่นหลังนั่นเอง เพราะในยุคนั้น การเดินทางเพื่อค้าขายมักใช้เรือสำเภาเพื่อการเดินทาง ขนส่งสินค้า แต่เรือกำปั่นของฝรั่งก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงทรงพยากรณ์ว่าในไม้ช้า เรือสำเภาก็จะสูญหายไปในที่สุด

พระอุโบสถรูปเรือสำเภานี้ สร้างเทียบเท่ากับขนาดจริง คือ ความยาวด้านบนตั้งแต่หงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี 21 วา 2 ศอก ส่วนความยาวด้านล่าง วัดแต่พื้นดินตลอดลำ 17 วา 1 ศอกเศษ ส่วนกว้างตอนกลางลำ 4 วา 3 ศอก ส่วนสูงตอนกลางลำ 2 วา 3 ศอก มีพระเจดีย์อยู่ในลำสำเภา 2 องค์ องค์ใหญ่ฐานกว้าง 3 วา 1 ศอกเศษ สูงจากพื้นถึงยอด 6 วา (1 วา เท่ากับ 2 เมตร และ 1 ศอก เท่ากับ 50 เซนติเมตร) พระอุโบสถนี้จัดเป็นงานศิลปกรรมที่สวยสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ หน้าบันที่มีช่วงหลวงทำเป็นลายเทพพนม ประดับด้วยลวดลายสัตว์หิมพานต์

คนที่ทำการค้าขาย มักชอบมาสักการะทำบุญที่นี่เพราะเชื่อว่าหากใครได้ไหว้บูชา จะทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมา

ที่อยู่ 40 ถนนเจริญกรุง แขวง ยานนาวา เขต สาทร กรุงเทพมหานคร 10120

        https://goo.gl/maps/C3QCNdbj46UHFy4P7

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

วัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง รายล้อมไปด้วยศูนย์การค้ามากมาย วัดแห่งนี้เป็นความสงบร่มรื่นที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชประสงค์จะให้ทำเป็นรมณียสถาน มีการสร้างสระปทุม และวังสระปทุม เพื่อสำราญพระราชหฤทัยในยามว่างจากพระราชกิจ เมื่อการสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2396 ช่วงปลายปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าควรจะสร้างวัดขึ้นสักหนึ่งวัดที่ฝั่งตะวันตกของสระนอก เพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กลอง พระยาสามภาพพ่ายเป็นนายงานควบคุมการก่อสร้างวัด และพระองค์ทรงพระราชทานนามไว้ก่อนว่า “วัดปทุมวนาราม” แต่คนส่วนมากมักเรียกว่า “วัดสระปทุม” หรือ “วัดสระ” สันนิษฐานว่าสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2400 แล้วจึงนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจาก “วัดบวรนิเวศวิหาร” ไปเป็นเจ้าอธิการ และได้แต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระครูปทุมธรรมธาดา” ครั้น ณ เดือน 1 ขึ้น 15 ค่ำ เวลาเช้า ตรงกับวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ และมีเรือข้าราชการเป็นจำนวนมากแห่ขึ้นไปรับ “พระแสน องค์หนึ่ง” “พระไส องค์หนึ่ง” ลงมาจากวัดเขมาภิรตารามไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา เมื่อสร้างวัดเสร็จจะมีงานฉลองวัดเสมอ แต่ในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเกี่ยวกับการบ้านเมืองหลายด้านด้วยกัน จึงมิได้จัดงานฉลองขึ้น จนเวลาล่วงเลยมาถึงปีพ.ศ.2410 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2410 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปทุมวนาราม และสระปทุม

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระสายน์ หรือพระไส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีความเชื่อว่าหากเกิดฝนแล้ง ให้อัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้ง เพื่อขอฝน ฝนก็จะตก

ภายในวัด ยังมีพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดล ส่วนพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระแสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แบบศิลปะล้านช้างเวียงจันทน์ และพระเสริม ที่เป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับพระสุกและพระใส ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมืองกองทัพเดินทางกลับก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเวียงจันทน์ด้วย แต่ในระหว่างการเดินทางเกิดพายุ จนทำให้พระสุกหล่นจากแท่นประดิษฐานจมลงใต้แม่น้ำ ต่อมาจึงเรียกบริเวณนั้นว่า เวินพระสุก ส่วนพระเสริม และพระใสได้อัญเชิญมาถึงฝั่งไทย แต่เมื่อจะอัญเชิญต่อมายังกรุงเทพฯ เกวียนที่ประดิษฐานพระใสก็เกิดหักอยู่ที่หน้าวัดโพธิ์ชัย จึงต้องอัญเชิญพระใสประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระประจำเมืองหนองคาย และพระเสริมที่อัญเชิญมาถึงกรุงเทพฯ ได้สำเร็จก็ประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนาราม

และหากมีโอกาสเดินทางไปที่วัด อย่าลืมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัยที่แฝงไปด้วยภาพความเป็นอยู่ การแต่งกาย การใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 4 อีกด้วย

ที่ตั้ง 969 ถนน พระรามที่ 1 แขวง ปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

        https://goo.gl/maps/FoDAR8rNYGssmzpn6

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

วัดพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาน้ำเน่าเสีย จึงใช้วิธีเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาชุมชนบริเวณดังกล่าว และสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ในปีพ.ศ.2533 นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8-2-54 ไร่ เพื่อสร้างวัด

ในการสร้างวัดแห่งนี้ เน้นความเรียบง่าย และประหยัดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชม โดยใช้งบประมาณในการสร้างพระอุโบสถไม่เกิน 3 ล้านบาท ลดขนาดของพระอุโบสถจากเดิมที่จุคนได้ 100 คน เหลือ 30-40 คน เน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ พลอากาสตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม และศิลปินแห่งชาติ จึงได้น้อมเอากระแสพระราชดำรัส ใช้ศิลปกรรมผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมจากวัดต่างๆ เช่น รูปทรงเสาพระอุโบสถ จากพระอุโบสถวัดราชาธิวาส, มุขประเจิด จากพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์, และการผูกลายปูนปั้นประดับหน้าบัน จากพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยโครงสร้างพระอุโบสถเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทอง เฉพาะที่ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ช่อฟ้าใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้น ไม่ปิดทอง ประดับกระจกผนัง และเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้แบบเรียบ ฝังไฟเป็นระยะ โคมไฟในแนวกลาง เดิมออกแบบเป็นโคมหวด หรืออัจกลับแบบเรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชา ประดับไว้แทนรวม 4 ช่อ พื้นพระอุโบสถ เดิมออกแบบเพียงปูนขัดมัน แต่มีผู้ศรัทธา บริจาคทุนทรัพย์ให้ปูหินแกรนิตตลอดถึงพื้นโถงและบันไดหน้าหลัง พื้นกำแพงแก้วปูหินทรายสีเหลือง และสีแดงน้ำตาล ลูกนิมิต ทำเป็น 2 แบบ ที่มุมทั้ง 4 เป็นหลักเสมาหินทรายสีเขียวจำหลักเป็นรูปเสา หัวเสาประดับลายดอกบัว ติดไว้ที่กึ่งกลางบันไดอีก 2 จุด ที่กึ่งกลางด้านซ้ายและขวาของพระอุโบสถ ติดแผ่นเสมาหินแกรนิตแบบเดียวกันไว้บนแท่นสูงจากระดับพื้นกำแพงแก้วเล็กน้อย กำแพงแก้วก่ออิฐฉาบปูนเป็นช่วงสั้นๆ เฉพาะ 2 ข้าง บันไดทั้ง 4 ด้าน และที่มุมทั้ง 4 โดยปลูกดอกไม้เป็นแนวเชื่อม และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ที่ตั้ง 999 ซอย 19 ถนน พระราม 9 แขวง บางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

        https://goo.gl/maps/c4vpwQB3Jz6uju7c6

วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร

วัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 โดยชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดธรรมมงคล” ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าสะแก โดยพระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์) ใช้ป็นจุดพักระหว่างการธุดงค์เข้าสู่กรุงเทพฯ นายเถา และนางบุญมา อยู่ประเทศ เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงทำการถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 32 ไร่ มีพระ เณร จำพรรษาประมาณ 300 กว่ารูป

ภายในวัด เป็นที่ตั้งศาสนสถาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ที่ชั้นบนสุดบรรจุพระเกศา พระอุรังคธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับมาจากประเทศบังกลาเทศ ฐานเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยม สูงถึง 94.78 เมตร มี 14 ชั้น ประกอบไปด้วย ห้องแสดงพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ส่วนฐานเจดีย์เป็นโรงเรียนครูสอนสมาธิ (สถาบันพลังจิตตานุภาพ) ประกอบด้วย ห้องเรียนขนาดใหญ่ รองรับนักศึกษาครั้งละ ประมาณ 500 คน มีห้องเดินจงกรม ห้องนั่งสมาธิ ถ้ำวิปัสสนา ห้องอาหาร และห้องประชุม

พระหยกเขียว ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาหลังคาโดมแก้ว พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีนามว่า "พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย" หยกชิ้นใหญ่นี้ค้นพบที่ใต้ทะเลสาบน้ำแข็ง ประเทศแคนาดา

ถ้ำวิปัสสนา ขนาด 4 ไร่ จำลองบรรยากาศการปฏิบัติธรรมในป่า-ถ้ำไว้ ภายในล้อมรอบด้วย สวนดอกไม้ ป่า สระน้ำ และเนินเขา สามารถเข้าไปนั่งสมาธิ และฟังธรรมได้ โดยจุคนได้กว่า 200 คน

ภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เพื่อรองรับทั้งพระ เณร ฆราวาส ที่ต้องการฝึกปฏิบัติ ศึกษาพระพุทธศาสนา หรือการฝึกสมาธิอีกด้วย

ที่ตั้ง 132 ซอย ปุณณวิถี 20 แขวง บางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10260

        https://goo.gl/maps/cBAH7VevuM8t3anTA

น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถาน สร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

 

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation.html

ทำบุญสุขใจ ผ่าน SCB EASY App โดยตรง เลือกวัดที่ต้องการทำบุญ ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/easy-donation.html