‘หุ้นโลก-หุ้นไทย’ บนภาวะความกังวลต่อดอกเบี้ยขาขึ้น

ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทยต่างยังตกอยู่ในภาวะความกังวลต่อดอกเบี้ยขาขึ้นระลอกใหม่ โดย SET Index ปรับฐานไป -3.4% จากต้นปี (YTD) และปรับตัวลงจากจุดสูงสุดของปีราว -4.7% ถือเป็นบรรยากาศการลงทุนที่ต้องระมัดระวัง และตามมาด้วยคำถามว่า ‘ปัจจัยลบดังกล่าวมีโอกาสที่จะนำไปสู่วิกฤตครั้งใหม่หรือไม่’ และ ‘นักลงทุนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในภาวะเช่นนี้’


ตลาดการเงินเริ่มกลับมาให้น้ำหนักต่อโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งข้อมูลจาก FedWatch Tool ล่าสุด บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีโอกาสขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 5.25-5.50%

world-thai-stocks-worries-interest-01

สูงกว่ามุมมองเดิม ณ ต้นปีที่ให้น้ำหนักที่ 5.00-5.25% และสูงกว่า Dot Plot จากการประชุม FOMC เดือนธันวาคม ที่ 5.1% อย่างมีนัยสำคัญ มีสาเหตุมาจากทั้ง


1. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยุโรป ที่แม้จะยังคงแนวโน้มขาลงต่อเนื่องในเดือนมกราคม

แต่ตัวเลขที่สูงกว่าคาดก็ถือเป็นสัญญาณเตือน และสะท้อนต่อความเสี่ยงว่าเงินเฟ้ออาจจะกลับมาเร่งตัวระลอกใหม่ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงไปในระยะยาวผสานกับ


2. การฟื้นตัวของภาคแรงงานสหรัฐฯ ที่เร็วเกินคาด จึงน่าจะสามารถรองรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้มากขึ้น

เงินเฟ้อที่ ‘ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว’ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการใช้มาตรการการเงินที่เข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา และมองได้ว่าปัจจุบัน Fed อยู่บนทางแยกที่เปิดโอกาสให้สามารถเลือกที่จะ

 

  • เร่งใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดรุนแรงที่เคยส่งสัญญาณผ่าน Dot Plot อย่างเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา เพื่อขจัดปัญหาเงินเฟ้อให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและยืดเยื้อน้อยที่สุด หรือ


  • เริ่มผ่อนนโยบาย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ยากจะคาดเดาได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ต้องรอบทสรุปการประชุมในเดือนมีนาคมว่า Fed จะเลือกเดินไปในทิศทางใด แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการตัดสินใจจะยังมีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และนำไปสู่ปลายทางในการยุติปัญหาเงินเฟ้อ พร้อมกับการประคองเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

หากมองในมุมของการลงทุน ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นนี้แม้จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย ที่ทำให้กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบและส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศที่กว้างมากขึ้น ก็ไม่น่าจะลดทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในระยะยาวแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณเชิงบวก ที่สะท้อนโอกาสการฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม ภายหลังการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของจีน และเริ่มเห็นกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่เข้าสู่จุดเร่งตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการที่ฟื้นตัวเด่น รวมทั้งการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตโควิด

 

นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากภาคการผลิตและการบริโภคการลงทุนจากภาครัฐเข้ามาช่วยเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่จะนำไปสู่การเดินหน้ามาตรการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ดังนั้นในจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนสูงและปรับฐานดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่กลับมาอีกครั้งสำหรับการเลือกหุ้นพื้นฐานดีเพื่อลงทุนระยะยาว


บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566


ที่มา : The Standard Wealth