บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโอกาสอาหารเส้นของไทยในเวียดนาม

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นหนึ่งในอาหารยังชีพที่ใครๆ ก็ต้องมีติดบ้าน บทบาทของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสัญลักษณ์ของความเร่งรีบ และการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สำหรับคนเวียดนามแล้วปัจจัยที่ทำให้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตคนเวียดนามเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากมาย คนเวียดนามมีรายได้สูงขึ้น นิยมทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศของมื้ออาหาร หรือใช้ร้านอาหารเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ แต่เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ร้านอาหารเป็นกิจการอันดับต้นๆ ที่ถูกสั่งปิด เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้คนก็ไม่สามารถทานอาหารได้เหมือนเมื่อก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมชงรสชาติต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อวิถีคนเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะรสชาติที่มาจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น อำนวยความสะดวกเมื่อยามที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน โดยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามในการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น รับประทานเมื่อยามเร่งด่วน รับประทานเพื่อยังชีพในชีวิตประจำวัน รับประทานเพื่อตามกระแสนิยม ลดความซับซ้อนในการประกอบอาหาร เป็นต้น ซึ่งราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่อนข้างมีความแตกต่าง ตั้งแต่ 4,500 ถึง 29,000 ด่อง/ซอง (6-39 บาท/ซอง)

วันนี้ชวนมาทำความรู้จัก 3 ยักษ์ใหญ่ แห่งวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ครองใจตลาดคนเวียดนาม


สำหรับเจ้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเวียดนามได้แก่ Hao Hao จากบริษัท Acecook สัญชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาตีตลาดในเวียดนามได้สำเร็จ เดิมเคยผิดหวังในตลาดเวียดนามเนื่องจากสินค้ามีราคาแพง ต่อมาได้ปรับลดราคาลง ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีคุณภาพดีกว่าแบรนด์ท้องถิ่นที่ราคาถูกกว่า จนกลายเป็นบะหมี่ประจำชาติของเวียดนาม โดยครองส่วนแบ่งการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ


รองลงมาคือ Omachi และ Kokomi จากบริษัท Masan Consumer ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสินค้าบริโภคของเวียดนาม ที่เริ่มจากการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้กับคนเวียดนามในรัสเซีย และขยายผลิตภัณฑ์เป็นซอสถั่วเหลือง ซอสพริก และน้ำปลา และปัจจุบันได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม CrownX โดยร่วมมือกับ Alibaba และ Vingroup ก้าวสู่วงการ Online super market ใน Lazada ของเวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ Online to Offline (O2O) ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือคัดสรรสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีให้กับผู้บริโภค และ ผลสำรวจจากบริษัท Kantar Worldpanel ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า คนเวียดนาม 98% ต้องใช้สินค้าจากบริษัท MASAN Group อย่างน้อยหนึ่งอย่าง


สำหรับอันดับสาม ได้แก่ Mi Gau Do จากบริษัท Asia Food บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติเวียดนามแท้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านอาหารสำเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศ มีประวัติยาวนานกว่า 32 ปี มีโรงงานผลิตในประเทศทั้งหมด 4 แห่ง สินค้าของบริษัทถูกวางขายในร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ และปัจจุบันได้ขยายตลาดไปยังนานาประเทศ อาทิ กัมพูชา ลาว ไต้หวัน เกาหลี สหรัฐอเมริกา ฮังการี สโลวาเกีย รัสเซีย และยูเครน และได้ครองตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา (ส่วนแบ่งการตลาดมากว่า 50%)

นับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบไทยในการขยายตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปยังเวียดนาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ปรับสูตรเป็นมิตรต่อสุขภาพโดยเฉพาะ เช่น ปราศจากวัตถุกันเสีย และผงชูรส เป็นต้น อีกทั้งรสชาติอาหารไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ดังนั้นโอกาสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติไทยๆ ก็สามารถเข้าไปทำการตลาดในเวียดนามได้ง่าย ตอบสนองความต้องการ หลังจากพฤติกรรมการบริโภคของคนเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ เวียดนาม https://www.scb.co.th/vn/corporate-banking.html


แหล่งอ้างอิง

1. DITP. “ การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเวียดนามเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี https://ditp.go.th/contents_attach/793187/793187.pdf (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

2. Amarin. “ เวียดนาม บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก แซงแชมป์เก่าเกาหลีใต้ https://www.amarintv.com/spotlight/business-marketing/detail/28646 (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

3. DITP. “ ชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน https://ditp.go.th/contents_attach/859325/859325.pdf (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

4. ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. “ การแข่งขันในยุทธจักรบะหมี่สำเร็จรูปใน AEC https://www.boi.go.th/upload/content/noodle_aec_krungthep_0513_24515.pdf (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

5. ทันหุ้น. “ MSN ลงทุน AI ปูทางสู่ Consumer Tech ”. https://thunhoon.com/article/256645 (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

6. Brand Buffet. “ Alibaba ทุ่ม 400 ล้านเหรียญ ถือหุ้นค้าปลีกใหญ่ในเวียดนาม ต่อจิ๊กซอว์ออฟไลน์ พร้อมรุกสู่โมเดล O2O https://www.brandbuffet.in.th/2021/05/alibaba-invest-in-vietnam-retail-giant/ (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

7. VVI Group. “ Xin Chào! หุ้น MSN ”. https://www.vietnamvi.com/2022/02/26/xinchao-msn/ (ค้นหาเมื่อ 24/1/66)

8. Asia Food. https://www.asiafoods.vn/Trang-Chu (Accessed 24/1/23)