Digital Bank & Virtual Bank ความเหมือนที่แตกต่าง

เมื่อ Digital Disruption และ Financial Technology เข้ามาเร่งสปีดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายประเทศอนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบที่เป็น Digital-Only Bank หรือ Virtual Bank ขึ้น ซึ่งต่างจาก Digital Bank ในปัจจุบันที่เราคุ้นเคย เพราะ Virtual Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขาให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการ ทุกกระบวนการให้บริการจะทำผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น โดยผู้กำกับดูแลจะกำหนดให้ Virtual Bank มีลักษณะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์และบริบทของแต่ละประเทศ


สำหรับประเทศไทยเรา ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมอง Virtual Bank เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ผลกระทบ และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพราะยังมีผู้ใช้บริการรายย่อย ตลอดจนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่ม ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินที่เหมาะสม จึงต้องเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการบริหารความเสี่ยงควบคู่กันไป

2157875559

หนึ่งในแนวนโยบายสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่สอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลที่หลากหลาย และบริการดิจิทัล เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเป็น Virtual Bank ที่เข้ามาพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไป (Responsible Innovation) โดยมีสาระสำคัญของการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งและกำกับดูแล Virtual Bank ดังนี้


1. ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้


2. ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย


3. ให้ Virtual Bank ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (Risk Culture)


4. ให้ Virtual Bank ดำเนินกิจการในช่วงแรก (phasing) ตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ

ในฝั่งของธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีการปรับตัวสู่การเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ เพื่อให้เท่าทันกับการมาของ Virtual Bank ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างระบบงานเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินดิจิทัล การนำเทคโนโลยี และ AI เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร การมีพันธมิตรด้านการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โดยมียุทธศาสตร์ ในการเป็น “ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง” ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั้งทางออนไลน์ สาขา และจุดบริการ Self Service ต่างๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่ทำให้ธนาคารรู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล และรู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก