ลงทุนแบบไหน ให้ ‘ทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย’

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ในโอกาสเทศกาลตรุษจีนนี้ SCB CIO ขออวยพรให้ปีนี้เป็นปีกระต่ายที่ใจดีกับผู้ลงทุน เฮงๆ รวยๆ พอร์ตลงทุนให้ผลตอบแทนเป็นบวกกันทุกท่าน โดย SCB CIO จะคอยวิเคราะห์และอัปเดตคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ท่านสม่ำเสมอ เพื่อให้เส้นทางการลงทุนในปีนี้ ‘ทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย’


ย้อนกลับไปในปี 2565 หากให้สรุปนิยามสั้นๆ ว่านักลงทุนผ่านเรื่องราวอะไรกันมาบ้าง ก็ต้องบอกว่า เป็นปีที่ ‘ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย’ ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงพร้อมกันครั้งแรกในรอบหลายสิบปี แต่ปี 2566 ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป จากร้ายจะกลายเป็นดี ‘ทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย’ เพราะมีปัจจัยบวกมารออยู่มากกว่าปัจจัยลบ


ปัจจัยบวกได้แก่ เงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลงแล้ว เพียงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเงินเฟ้อที่แต่ละประเทศต้องการ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% แต่คาดว่าในปี 2566 เงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็คงจะไม่ได้ปรับลดลงไปอยู่ในกรอบ 2%


ต่อมาคือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเปรียบเสมือนยาแรงที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ก็พบว่าธนาคารกลางหลักต่างๆ ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลง แต่อัตราดอกเบี้ยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นบรรยากาศที่เป็นใจสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้มองเห็นแสงสว่างของการลงทุนชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันปัจจัยนี้จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยแข็งค่ากลับมาอ่อนค่าลง


ตรงกันข้ามกับค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งค่าเงินบาทของไทย ที่อาจจะกลับมาแข็งค่า โดย SCB CIO เพิ่งปรับประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปลายปีที่ 2565 ประเมินไว้ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


อีกปัจจัยที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ การที่จีนยกเลิกนโยบาย Zero-COVID และเปิดประเทศเร็วกว่าคาด จากที่ปลายปี SCB CIO มองไว้ว่ากว่าจีนจะยกเลิกนโยบายนี้ก็คงเป็นช่วงกลางปี แต่กลายเป็นว่าจีนเซอร์ไพรส์ยกเลิกนโยบายและเปิดประเทศเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งผลดีจากเรื่องนี้ก็กำลังทยอยปรากฏให้นักลงทุนเห็น โดยเฉพาะผลดีที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาจีน รวมถึงไทยด้วย


ทั้งนี้ SCB CIO เชื่อว่าหลังจากนี้จะได้เห็นทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค และสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมอีก เนื่องจากจีนยังเหลือเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ เช่น อาจเห็นธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีกับตลาดหุ้นจีน


สำหรับปัจจัยบวกถัดมาเกิดขึ้นจาก 3 เทรนด์สำคัญ คือ Supply Chain Relocation หรือการที่ประเทศต่างๆ กำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานใหม่ หลังจากสหรัฐฯ และจีนมีความขัดแย้งกัน รวมถึงการที่นักลงทุนสนใจการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินการภายใต้กรอบ ESG ได้รับความสนใจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านนวัตกรรมดิจิทัล เช่น กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมในหลายประเทศ


ส่วนปัจจัยลบนั้นเป็นประเด็นที่นักลงทุนรับรู้มาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับความขัดแย้งของสหรัฐฯ-จีน และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่ง SCB CIO คาดว่าอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างยุโรปและสหรัฐฯ แต่จะไม่รุนแรงนัก

773931007

จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ SCB CIO มองว่า หากจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนออกมาทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย พอร์ตโดยรวมดูดีขึ้นจากปี 2565 สำหรับพอร์ตที่รับความเสี่ยงได้ระดับกลางๆ ควรจะลงทุนในหุ้น 40%, ตราสารหนี้ 40%, สินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) 10% และหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note) 10%


สำหรับการลงทุนในหุ้น 40% SCB CIO แนะนำว่า ควรเน้นคัดเลือกหุ้นในตลาดเกิดใหม่เข้ามาอยู่ในพอร์ตมากขึ้น เช่น หุ้นจีน A-Share, H-Share รวมถึงหุ้นไทยและหุ้นอินโดนีเซีย ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่แนะนำสัดส่วนถึง 40% เป็นเพราะปีนี้โอกาสการลงทุนอยู่ในตราสารหนี้มากขึ้น


ในอดีตเราอาจเคยเจอคำว่า Search for Yield ที่ต้องไปตามล่าหาสินทรัพย์ลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ แต่วันนี้ผลตอบแทน หรือ Yield ของตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นมา ไม่ต้องออกไปตามล่าแล้ว


ฉะนั้นหาก ลงทุนตราสารหนี้มากขึ้น เน้นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) และมีอายุคงเหลือ (Duration) ยาวขึ้น ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงระดับหนึ่ง จะช่วยสร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ตได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงโดยรวมให้พอร์ตลงทุน ทำให้พอร์ตผันผวนน้อยลง ต่างจากวันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่การลงทุนในตราสารหนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตโดยรวมได้มากนัก


ส่วนการลงทุนใน Private Asset 10% จะช่วยให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงได้ดีขึ้นอีก และการลงทุนใน Structured Note อีก 10% จะช่วยเติมกระแสเงินสดให้พอร์ตได้มากขึ้น


อีกประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ลงทุนปีนี้แล้วผลตอบแทนออกมาทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย ก็คือ หากมีการลงทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
เพราะหากเงินบาทมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้น เวลาที่ลงทุนไปแล้วจะขายคืนสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะได้รับผลตอบแทนกลับมาเมื่อเป็นสกุลเงินบาทน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า

สำหรับ ผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ SCB CIO มองว่าน่าสนใจสำหรับนักลงทุนในปี 2566 ได้แก่ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้น อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ และจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินบาท (Quanto KIKO) ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าแรกที่นำเสนอ เพื่อให้ลูกค้าสามารถไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วยเงินบาทได้เลย


นอกจากนี้ยังมี สินทรัพย์ที่สอดคล้องกับแนวทาง ESG ซึ่งเป็นเทรนด์โลก กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่กำหนดอายุโครงการ (เทอมฟันด์) ซึ่งมีผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เนื่องจากธนาคารยังมีสินเชื่อเพื่อการลงทุน เป็นกำลังเสริมให้ลูกค้านำสินทรัพย์การเงินมาเป็นหลักประกัน (Lombard Loan) หรือนำที่ดิน สิ่งปลูกสร้างมาจดจำนอง (Property Backed Loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นำเงินไปลงทุนหาผลตอบแทนเพิ่มเติมได้อีกด้วย


โดยรวมแล้วพอร์ตลงทุนของท่านจะ ‘ทรงไม่แบด แซดไม่บ่อย’ ถ้าท่านลงทุนโดยพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโลกการลงทุนอย่างรอบด้าน ปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนโดยเติมสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์เข้าไป และมีสินทรัพย์ที่หลากหลายอยู่ในพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวน รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้


ข้อมูลณ วันที่ 25 มกราคม 2566


บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ที่มา : The Standard Wealth