ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
จะเป็นหนี้ทั้งทีต้องคิดอะไรบ้าง
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เราๆ มักจะคุ้นชินกับคำว่าการมีหนี้เป็นของตัวเองเมื่อถึงเวลา หรือได้เริ่มต้นเป็นหนี้ก้อนแรกในชีวิต ซึ่งมักจะเริ่มจากหนี้จากการกู้ซื้อรถยนต์ หรือการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวหรือคอนโดมิเนียม แต่ถ้าเป็นหนี้ส่วนตัวประเภทอื่นๆ อาจจะนึกถึงหนี้จากการใช้สอยประจำวัน ประเภทหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนั้น หากเป็นเจ้าของธุรกิจก็อาจจะมีหนี้ของบริษัทจากการกู้ยืมเงินทุนมาหมุนเวียนในกิจการของบริษัท แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาโฟกัสกันที่หนี้ส่วนตัวของบุคคลธรรมดาที่ก่อหนี้ในนามตัวเอง เช่น หนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์
ฉะนั้นก่อนเริ่มคิดเป็นหนี้ เราควรนึกถึงอะไรบ้าง?
อย่างแรกต้องนึกก่อนว่าหนี้ที่เราจะก่อขึ้นเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย หนี้ดีคืออะไร ง่ายๆ เลยก็คือหนี้ประเภทที่เมื่อก่อให้เกิดหนี้ขึ้นมาแล้ว ทำให้เราได้ทรัพย์สินหรือได้สิ่งของอะไรมาที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตมากกว่าภาระ
เช่น การกู้ซื้อรถยนต์เพื่อขับไปทำงาน หรือเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดรายได้กับเราในอนาคตที่เรียกว่า Passive Income เช่น การกู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งในอนาคตจะเป็นทรัพย์สินที่มูลค่าสูงขึ้นได้
สิ่งสำคัญอย่างที่สองคือความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ตรงนี้ดูได้จากรายได้ประจำที่เรามีอยู่ เราต้องนำมากางดูก่อนว่าเรามีรายได้เท่าไรต่อเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายประจำ ค่ากินต่างๆ ภาษีต่างๆ เราเหลือเงินต่อเดือนที่สามารถจ่ายหนี้ก้อนนี้ได้มากแค่ไหน ซึ่งปกติคนเราไม่ควรมีหนี้เกินกว่า 40% ของรายได้ในแต่ละเดือน
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือความจำเป็นในการมีหนี้ เราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีหนี้ก้อนนี้ โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากความอยากได้ของฟุ่มเฟือยหรือความจำเป็นจริงๆ หรือเป็นทางเลือกในการลงทุน เช่น เรามีรายได้ต่อเดือนจำนวนหนึ่ง แต่อยากได้รถสปอร์ตแบรนด์หรูที่ราคาแพงเกินตัว อยากได้บ้านราคาหลายสิบล้าน หรืออยากได้บ้านพักตากอากาศริมทะเล แบบนี้ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น
ในทางกลับกัน หนี้ดีในหลายสถานการณ์สามารถส่งผลดีให้กับเราได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังไม่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ครอบครัวเราต้องไปเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยในราคาเดือนละ 20,000 บาท ถ้าเราคิดจะมีหนี้สินเชื่อบ้านผ่อนเดือนละ 20,000 บาท กู้ยืมธนาคารเป็นหนี้ 2,500,000 บาท ไป 20 ปี หลังจาก 20 ปีผ่านไป เราจะได้บ้านมาเป็นทรัพย์สินของเรา ตรงนี้ถือว่าดีกว่าการจ่ายค่าเช่าซึ่งเสียเปล่าไปเลยและไม่ได้อะไรกลับมา นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย หากเรารอไปอีก 5-10 ปี เราอาจจะพลาดโอกาสซื้อบ้านในราคาที่ต่ำก็เป็นได้
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หากเรามีเงินเก็บจำนวนหนึ่งแล้วหรือมีรายได้เสริมจำนวนแน่นอน ที่คิดว่าอยากหาช่องทางการลงทุนเพิ่มในหมวดใหม่ ก็อาจแบ่งเงินตรงนั้นไปซื้อคอนโดให้เช่า เงินกู้ที่ต้องผ่อนกับธนาคารถือเป็นหนี้ดีอีกก้อนหนึ่งได้ ถ้าเราศึกษามาแล้วว่าคอนโดแห่งนั้นมีศักยภาพที่จะหาผู้เช่ามาชำระหนี้ค่าผ่อนคอนโดในแต่ละเดือนได้ เพราะสุดท้ายเราก็จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกอย่างนึง ซึ่งตรงนี้บางคนก็อาจจะมองว่า ถ้าไม่มีเงินก้อนที่เป็นเงินเย็นที่เป็นเงินสดก็ไม่ควรจะสร้างหนี้เพิ่ม จุดนี้ก็อาจจะต้องมานั่งพิจารณารายบุคคลถึงความสามารถในการชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่น่าจะได้เข้ามาว่าพอดีกันหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเงินจำนวนนี้ไว้ในธนาคารจนกว่าจะได้เงินก้อนไปลงทุนซื้อ ทุกอย่างต้องนำมาพิจารณาร่วมกันหมด
สำหรับหนี้เสียซึ่งเป็นหนี้ประเภทที่ไม่ดี ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือหนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้ประเภทบัตรเครดิตที่จ่ายไม่เต็มจำนวนที่มีดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก หนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการอยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่เรียกว่าใช้เงินเกินตัว อันนี้เป็นหนี้ที่ไม่ควรข้องเกี่ยว หรือหากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นที่ต้องไปใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีเงินเข้ามาเมื่อไรต้องนำไปปิดทันที เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียแบบต่อเนื่อง
หนี้ดีอีกประเภทหนึ่งที่น่าพูดถึง ยกตัวอย่างสมมติว่าเรามีที่ดินที่ได้มาจากมรดก แต่อยากมาจัดการให้เป็นทางที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น หรือเป็นการลงทุนในอีกแขนงหนึ่ง บวกกับใจที่อยากทำธุรกิจของตนเอง ตรงนี้การนำที่ดินไปปลูกสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า โดยการกู้เงินจากธนาคารมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นเงินค่าก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นหนี้ดีที่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต หรืออีกกรณีหนึ่งหากว่าเราไม่ได้มีความอยากทำธุรกิจ แต่อยากนำที่ดินที่มีอยู่ในชื่อตัวเองมาลงทุนอะไรสักอย่างเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ตอนนี้ในตลาดการเงินมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินน่าสนใจที่เรียกว่า ‘Property Backed Loan’ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ากลุ่ม Wealth ที่เราสามารถนำที่ดินมีค่าที่เราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับธนาคาร ซึ่งเงินกู้ก้อนนั้นเราจะนำไปเป็นทุนเพื่อการลงทุนต่อในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น กองทุนหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ วิธีนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการต่อยอดการนำทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมมาแปลงเป็นดอกผลที่งอกเงยจากการลงทุนในอีกประเภท และสามารถเป็นตัวช่วยในการบริหารภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้
ตามรายละเอียดทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าหนี้มีทั้งแบบที่ดีและก่อประโยชน์ให้ผู้กู้ได้ และหนี้เสียที่ควรหลีกเลี่ยง ผู้ที่คิดจะกู้เงินจึงควรพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการกู้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองให้ถี่ถ้วนก่อนคิดจะกู้เงิน
ความเห็นจากบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่อย่างใด
ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2565
บทความโดย ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning And Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์
ที่มา :
The Standard Wealth