ก่อนอายุ 30 ปีควรมี...ติดตัว

หากถามคนอายุยังไม่ถึง 30 ปี ว่าควรมีอะไรบ้าง คำตอบของแต่ละคนคงมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น หน้าที่การงานมั่นคง รถยนต์ บ้าน แฟน รวมถึงการแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว และเมื่อพูดถึงทางด้านการเงิน พบว่าช่วงวัยนี้เริ่มก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น


ข้อมูลจากสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคนวัยเริ่มทำงานอายุ 25 – 30 ปี ก่อหนี้สินจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคหรือเป็นหนี้บัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้น และคนกลุ่มนี้ 1 ใน 5 มีหนี้เสีย ขณะที่คนช่วงอายุ 20 -30 ปี เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นและอยู่ในระดับสูง


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อายุน้อยแต่ถ้าให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินเป็นอันดับต้น ๆ จะช่วยลดปัญหาด้านการเงินและสามารถมองเห็นอนาคตตัวเองชัดเจนขึ้น เช่น วางแผนออมเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ลงทุน หรือวางแผนเพื่อการสร้างครอบครัว การศึกษาลูก รวมไปถึงวางแผนเพื่อเกษียณ ซึ่งเรื่องเงินก็เป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตได้ว่าจะไปในรูปแบบไหน ดังนั้น สิ่งที่ควรลงมือทำก่อนวัย 30 ปี มีดังนี้


เงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน

ลองนึกถึงว่าถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินทันทีแต่ไม่มีเงินเก็บอาจหาทางออกด้วยการกู้ยืม แต่ถ้ามีเงินเก็บสักก้อนก็สามารถนำออกมาใช้ในช่วงฉุกเฉินได้ ดังนั้น ก่อนวัย 30 ปี ควรเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย ๆ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เช่น แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่าย 8,000 บาท ควรมีเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน 24,000 – 48,000 บาท


เงินออม

ควรเริ่มเก็บออมกันตั้งแต่เข้าสู่วัยเริ่มต้นทำงาน ที่สำคัญการเก็บที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เพื่อดาวน์บ้าน ดาวน์รถ เพื่อการศึกษาต่อ เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับวัยก่อน 30 ปีควรมีเงินออมเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของตัวเอง เช่น ตอนนี้อายุ 25 ปี ตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินให้ได้ 400,000 บาทตอนอายุ 30 ปี

สมมติว่ามีเงินเดือน 18,000 บาท หากต้องการเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ (400,000 บาท) ต้องเก็บเดือนละ 6,667 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น


กองทุนรวม SSF และ RMF

ปัจจุบันหากมีรายได้ตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปีก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเมื่อรายได้เพิ่มสูงขึ้น ภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีก็สูงตามไปด้วย ดังนั้น วัยก่อน 30 ปีจึงควรแบ่งเงินไปซื้อกองทุนรวม เริ่มจากกองทุน SSF และ RMF


เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ฐานเงินเดือนไม่มากสามารถเริ่มต้นซื้อกองทุน SSF จำนวน 1 กองทุน และ RMF จำนวน 1 กองทุนเพราะซื้อขั้นต่ำได้ในจำนวนเงินที่ไม่สูงไปนัก และสามารถใช้วิธีหักจากบัญชีเงินเดือน หรือเรียกว่าการลงทุนแบบสม่ำเสมอ (DCA) ได้ ซึ่งนอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้วยังเป็นการลงทุนระยะยาวอีกด้วย ที่สำคัญสามารถลงทุนผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก ง่ายและปลอดภัย

หุ้น

ข้อดีของการลงทุนหุ้นในระยะยาว คือ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ (SET TRI) ตั้งแต่ต้นปี 2545 ถึงต้นเดือนมีนาคมปี 2564 คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 13% ทบต้นต่อปี (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)


โดยวัยก่อน 30 ปี สามารถแบ่งเงินไปซื้อหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ 1 – 2 ตัว ในลักษณะทยอยเป็นรายเดือน (DCA) และใช้เงินไม่มากในการเริ่มต้นลงทุน ที่สำคัญลงทุนผ่านแอปพลิเคชันได้ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็ว


ประกันสุขภาพ

คนอายุไม่เกิน 30 อาจแย้งว่าอายุมาก ๆ ถึงจะทำประกันให้กับตัวเอง แต่ความจริงแล้วควรเริ่มทำประกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ถ้าอายุก่อน 30 ปีควรทำประกันสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสุขภาพ การประสบอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต เพราะเป็นช่วงวัยที่แห่งการสร้างอนาคตและกำลังเต็มที่กับการใช้ชีวิต ดังนั้น การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุเป็นเรื่องสำคัญต้องป้องกันไว้


โดยวัยนี้ควรเลือกทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองยาวๆ ไว้ก่อน 1 ฉบับ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นเมื่อไหร่ การซื้อประกันสุขภาพฉบับใหม่ๆ ในอนาคตอาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่หากผู้ทำประกันมีประวัติการรักษาพยาบาลกับโรคบางอย่าง และควรดูค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม ศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง และเงื่อนไขการรับประกันให้เข้าใจทุกครั้ง


หนี้สิน

การเป็นหนี้สิน ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นเรื่องเสียหาย ถ้ารู้จักเป็นหนี้ให้ถูกวิธีก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอนาคตได้ โดยตามหลักการวางแผนการเงินเบื้องต้น อย่าเป็นหนี้เกินตัวและควรมีหนี้สินรวมทั้งหนี้ผ่อนไม่เกิน 40% ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ควรมีหนี้ที่ต้องไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือน


เนื่องจากวัยก่อน 30 ปี อาจมีเงินเดือนไม่สูงมากนัก หากต้องการกู้ก็ต้องถามตัวเองให้รอบคอบก่อนว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ และหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรก่อหนี้โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภค เพราะจะมีภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาทางการเงินในระยะยาวได้


หากรู้จักบริหารเงินกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ ทั้งในเรื่องการจัดสรรปันส่วนเงินเพื่อใช้ชีวิต การวางแผนออมเงิน การเป็นหนี้อย่างเหมาะสม รวมทั้งคอยตรวจสอบสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้เงินอยู่เสมอ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเงินและพร้อมจะลงทุนสานฝันในชีวิตได้เร็วกว่าคนอื่น