รู้ก่อนรุก สปป.ลาว "แลนด์ลิงค์" เชื่อมการค้าโลก

สปป.ลาว ได้ชื่อว่าเป็น “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน”  ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก โดย สปป.ลาว ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจสู่กลไกตลาดตามนโยบาย “จินตนาการใหม่” (New Economic Mechanism) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เน้นการค้าเสรี เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงประเทศต่างๆ เนื่องจาก สปป.ลาวมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เป็นประตูสู่ประเทศจีน และสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับประเทศที่อยู่รอบๆ อย่างเมียนมาร์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา ได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้แม้ว่า สปป.ลาว จะไม่มีทางออกทะเล แต่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศรอบข้าง


คุณลัญชนา ทัตตานนท์ ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ สายงานธุรกิจต่างประเทศ SCB, คุณกนก สกุลคู ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครเวียงจันทน์ สปป.ลาว และคุณชนม์ชนก อัครกิจเกษม ที่ปรึกษาสปป.ลาว บริษัท LS Horizon Limited
พูดคุยถึงโอกาสการค้าการลงทุนใน สปป.ลาว


ทิศทางการลงทุนและความท้าทายใน สปป.ลาว


คุณลัญชนากล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ทำให้ สปป.ลาวมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนไทย


1) จุดเชื่อมต่อพรมแดน : เห็นได้ชัดจากการที่ สปป.ลาวมีจุดเชื่อมต่อกับไทยมากถึง 15 จุด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมองเห็นความสำคัญของการค้าและการเดินทางระหว่างผู้คน โดยเฉพาะการข้ามแดนผ่านสะพานมิตรภาพ ที่ปัจจุบันมีถึง 4 แห่งที่เชื่อมต่อเมืองสำคัญของทั้งสองประเทศ เช่นเวียงจันทน์ - หนองคาย สะหวันนะเขต-มุกดาหาร เป็นต้น


2) สปป. ลาว เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทยรายสำคัญ ด้วยพรมแดนที่ติดต่อกัน ทำให้ขนส่งเคลื่อนย้ายง่าย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เป็นนักลงทุนที่สำคัญอันดับสอง รองจากจีน


3) ค่าจ้างแรงงาน : อัตราแรงงานขั้นต่ำในสปป. ลาวอยู่ที่ 1.2 ล้านกีบต่อเดือน (3,500 บาท) ซึ่งอยู่ในอัตราต่ำ เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนที่อยากเข้าไปเปิดโรงงาน อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้าวผันผวน เช่นปี 2020 ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD เท่ากับ 8,000 กีบ ปัจจุบัน 1 USD = 9,400-9,200 กีบ

แม้ สปป.ลาว มีประชากรเพียง 7 ล้านคน  แต่นักลงทุนไทยก็เข้าไปใน สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนการผลิตพลังงาน เช่นซื้อเขื่อน สร้างเขื่อน รวมถึงพลังงานทางเลือกที่ส่งขายให้เวียดนาม ดังนั้น เมื่อมีการลงทุน ก็ย่อมมีซัพพลายเชนตามไป เช่น บริษัทก่อสร้าง ร้านสะดวกซื้อ ทั้งเข้าไปซื้อกิจการของลาว และแบรนด์ไทยเข้าไปโดยตรง นอกจากนี้ยังมีโอกาสในธุรกิจเฮลท์แคร์ที่โรงพยาบาลไทยให้ความสนใจไปเปิดที่ สปป.ลาว เนื่องจากเห็นพฤติกรรมของคน สปป.ลาวที่ข้ามมารับการรักษาในโรงพยาบาลฝั่งไทย รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรกรรม พวกเนื้อสัตว์ ไก่ หมู ก็มีบริษัทขนาดใหญ่ทำธุรกิจเกษตรที่ สปป.ลาว  ธุรกิจรถเช่าก็ได้รับผลบวกจากที่มีบริษัทใหญ่เข้าไป คุณลัญชนามองว่าถ้ามองโอกาสได้ถูกต้องจะไม่ผิดหวังกับการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว


ความท้าทายสำหรับนักลงทุน คือเรื่องการหา Foreign Currency ค่อนข้างยาก เพราะ สปป.ลาวเป็นประเทศผู้นำเข้าจึงต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก และใช้เวลาในการหา อย่างไรก็ดี SCB สาขาเวียงจันทน์ ให้การสนับสนุนลูกค้าจัดการบริหารความท้าทายในส่วนนี้


ธุรกิจอะไรน่าลงทุนใน สปป.ลาว


ในมุมมองของคุณกนกเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนลาว พบว่าชาวลาวชอบใช้สินค้าของไทย และข้ามมาซื้อสินค้าจับจ่ายใช้สอยในไทย ธุรกิจไทยที่เข้าไปเปิดใน สปป.ลาว ได้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น กาแฟ Amazon MK ชายสี่หมี่เกี้ยว รวมถึง ธุรกิจออนไลน์ เพราะมีพรมแดนติดกัน ขนส่งสินค้าได้ง่าย ในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าในมินิมาร์ท 80-90% เป็นสินค้าไทยทั้งหมด แล้วมีบริการแอปเดลิเวอรี่อย่าง Food Panda ด้วย


ในมุมกฎหมาย นักลงทุนเริ่มต้นยังไง


ในฐานะตัวแทนบริษัท LS Horizon Limited ที่มีประสบการณ์ใน สปป.ลาวกว่า 11 ปี คุณชนม์ชนกแนะนำว่าสิ่งแรกที่นักลงทุนต้องทำคือศึกษาว่าธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนได้รับอนุญาตทางกฎหมายหรือยัง และอนุญาตให้ชาวต่างชาติทำได้หรือไม่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ตามกฎหมาย สปป.ลาว แบ่งการทำธุรกิจแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจที่สงวนสำหรับชาวลาวเท่านั้น ชาวต่างชาติลงทุนไม่ได้ เช่น ธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ท ตั้งแต่ 3 ดาวลงมา ธุรกิจเสริมสวย ซักอบรีด ฯลฯ  2) ธุรกิจสัมปทาน   3) กิจการทั่วไป แบ่งเป็นกิจการที่อยู่ในบัญชีควบคุมและ กิจการอยู่นอกบัญชีควบคุม)


ในส่วนธุรกิจที่อนุญาตชาวต่างชาติทำได้  มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้


· กิจการทั่วไปที่กำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการลงทุนและทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ เช่นธุรกิจส่งออก-นำเข้า ค้าปลีก-ค้าส่ง โดยชาวต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้ 100% แต่ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านกีบ (66 ล้านบาท) ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ชาวต่างชาติถือครองหุ้นได้ไม่เกิน 49%


·  ธุรกิจที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำได้เลย โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนการลงทุน หรือทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แต่อย่างน้อยทุนจดทะเบียนควรสมเหตุผลกับธุรกิจหรือโครงการ และนักลงทุนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของสปป.ลาว


คุณชนม์ชนกเน้นย้ำว่าข้อมูลด้านกฎระเบียบเหล่านี้เป็นข้อควรทราบเบื้องต้นของนักลงทุนที่จะไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว

สิทธิพิเศษให้นักลงทุนใน สปป.ลาว


หากการลงทุนเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายส่งเสริมการลงทุนกำหนดก็จะได้รับสิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุน ได้แก่


1) การส่งเสริมการลงทุนภายใน 12 เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับสิทธิผ่อนผันอากรกำไร นำเข้าส่งออก โดยอัตราแตกต่างไปตามเขต

2) การส่งเสริมการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ : ธุรกิจมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เช่นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมพัฒนาชนบท นำความเจริญไปสู่ชุมชน

3) ที่ตั้ง ยิ่งธุรกิจอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ ธุรกิจก็จะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่


สิทธิพิเศษที่จะได้รับ เช่น การลดหย่อนอากรกำไร ภาษีนิติบุคคล จากปกติร้อยละ 20 จะได้สิทธิลดหย่อนอากรกำไร ตั้งแต่ 4-10 ปี ยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น


รู้จักเขตพื้นที่ สปป.ลาว ที่ไหนน่าลงทุน


คุณกนกกล่าวว่าพื้นที่ สปป.ลาวแบ่งออกเป็น 4 แขวง ได้แก่


· แขวงเวียงจันทน์ ที่เป็นเมืองหลวง ศูนย์รวมหน่วยงานราชการ บริษัทขนาดใหญ่ มีสะพานมิตรภาพเชื่อมเวียงจันทน์-หนองคาย

· แขวงหลวงพระบาง ที่คาดว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงจีน - เวียงจันทน์ เสร็จภายในปี 2021 จะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวดีขึ้น

· แขวงจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ เชื่อมไทยทางอุบลราชธานี เป็นพื้นที่การเกษตร ปลูกกาแฟ พืชเมืองหนาว

· แขวงสะหวันนะเขต เป็นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เชื่อมต่อไปทางเวียดนามได้


กฎการลงทุนใน สปป.ลาว


คุณชนม์ชนกกล่าวถึงการที่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทาง สปป.ลาวได้แก้ไขปรับปรุง ออกกฎหมายใหม่มาบังคับใช้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ซึ่งมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น การรับหลักทรัพย์ค้ำประกัน การจำนองจำนำ เป็นต้น เปลี่ยนแปลงระเบียบอำนาจกำกับควบคุมธุรกิจต่างๆ  ซึ่งนักลงทุนต้องตรวจสอบกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด


นอกจากนี้ สปป.ลาวได้พัฒนาขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท ช่วยให้นักลงทุนลดต้นทุน ระยะเวลาในการจัดตั้งบริษัทให้รวดเร็วมากขึ้น โดยปัจจุบัน ใช้เวลาในการตั้งบริษัท 2-4 สัปดาห์ (กรณีไม่ใช่ธุรกิจควบคุม) ขณะที่ธุรกิจที่อยู่ในควบคุมหรือสัมปทานที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลานานกว่านั้น


ลงทุนใน สปป.ลาว ต้องระวังอะไร?


คุณชนม์ชนกให้ความเห็นว่าการลงทุนใน สปป. ลาว ต้องวางแผน เข้าใจกฎหมายกฎระเบียบ ตรวจสอบแนวทางปฏิบัติ หากเตรียมความพร้อมดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล จากประสบการณ์ที่เคยพบนักลงทุนมักเจอปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน เนื่องจากนักลงทุนไทยมีความคุ้นเคยตามกฎหมายไทยว่าบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่ต่างชาติถือสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 49% สามารถถือครองที่ดินได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ใน สปป.ลาว กฎระเบียบไม่เหมือนกัน บริษัทที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว ถ้ามีคนต่างชาติอย่างน้อย 1 คนถือครองหุ้น ไม่ว่าจะถือครองสัดส่วนเท่าไหร่ จะถือว่าเป็นบริษัทต่างประเทศ และไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินใน สปป.ลาวได้ จะใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ตามสัญญาเช่าหรือสัญญาสัมปทานเท่านั้น (เช่าจากเอกชนได้สูงสุด 30 ปี เช่าจากรัฐหรือสัมปทาน ได้สูงสุด 50 ปี)


รวมถึงการนำเงินทุนเข้า สปป.ลาว ต้องมีการรายงาน และต้องขอหลักฐานจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) โดยรับรายงานออกหลักฐานให้เฉพาะโอนเงินผ่านระบบธนาคารเท่านั้น การถือเงินสดจะไม่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งสปป.ลาว ซึ่งจะส่งผลเมื่อต้องการเอาเงินกำไรหรือปันผลออกจาก สปป.ลาว


ในส่วนการทำสัญญาต่างๆ และเอกสารสำคัญบางประเภท กฎหมายกำหนดให้เอาไปลงทะเบียนเสียค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ (คล้ายกับการติดอากรแสตมป์ในกฎหมายไทย) ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ เอกสารจะไม่สามารถใช้รับรอง หรือเป็นพยานหลักฐานในคดีชั้นศาล กรณีมีข้อพิพาท

การไปลงทุนใน สปป.ลาว ช่วงสถานการณ์โควิด


สปป. ลาว มีเคสผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มาก เพราะไม่ได้อยู่อย่างแออัด ในการระบาดระลอกสาม ก็ได้ล็อคดาวน์อย่างรวดเร็ว ในส่วน SCB เวียงจันทน์ ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยเหมือนที่เมืองไทยอย่างเคร่งครัด และให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ เช่น ฝากถอนโอนเงิน แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ขอรับคำปรึกษาเรื่องสินเชื่อ สำหรับการพูดคุยกับลูกค้าในไทยที่อยากทราบข้อมูลก่อนที่จะไปลาว ก็ทำแบบ Long Distance ผ่านออนไลน์ ไลน์ โทรศัพท์ โดยให้ความใกล้ชิดกับลูกค้าอยู่เสมอ นักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน สปป.ลาว สามารถติดต่อ SCB สาขาเวียงจันทน์ ได้ที่นี่


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม SCB มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ – ที่นี่


ที่มา - Facebook Live : Laos Insights and Update 2021  “รู้ก่อนรุก สปป.ลาว แลนด์ลิงค์ เชื่อมการค้าโลก” ออกอากาศทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 18 มิถุนายน 2564